สำหรับอาคารที่ต้องการขอการรับรองเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED นั้นต้องเข้าใจถึงโครงสร้างเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED สำหรับอาคารเก่า เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินการที่ถูกต้อง และสอดคล้องต่อความต้องการของเกณฑ์ประเมินได้อย่างถูกต้อง

โครงสร้างหลักของข้อกำหนดใน LEED สำหรับอาคารเก่า ถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
1. ช่วงการจัดตั้งโครงการ (Establishment Period) ที่เป็นช่วงเวลาที่เกิดการประเมินโครงสร้างพื้นฐานของโครงการทั้งหมด รวมถึงการร่างนโยบายที่ใช้ควบคุมโครงการ และวางแผนการและกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมต่อการตรวจวัดและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในช่วงดำเนินการ
2. ช่วงดำเนินการ (Performance Period) คือช่วงเวลาที่นำกลยุทธ์นโยบาย แผนการ และกำหนดการต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงการจัดตั้งโครงการมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างช่วงเวลาทั้งสองที่กล่าวมานั้น จะถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในแต่ละข้อกำหนดและข้อบังคับ ซึ่งรายละเอียดของข้อหนดในช่วงเวลาทั้งสองถูกออกแบบให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องกัน โดยข้อกำหนดในส่วนของช่วงการจัดตั้งโครงการ และช่วงดำเนินการจะเป็นข้อกำหนดที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่อไปนี้

ช่วงการจัดตั้งโครงการ
1. โครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่โครงการและองค์ประกอบอาคาร ที่เป็นลักษณะทางกายภาพและระบบที่เฉพาะเจาะจงของโครงการ
2. แผนการและนโยบาย ที่เป็นคำแถลงการณ์เกี่ยวกับเป้าหมายและแผนการดำเนินการของกลยุทธ์การจัดการโครงการ

ช่วงดำเนินการ
1. การกระทำที่ถูกดำเนินการอย่างสม่ำเสมอเพื่อรายงานประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพื่อระบุถึงโอกาสในการพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจว่าระบบอาคารยังถูกดูแลรักษาและอยู่ในสถานะที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่เสมอ

Credit Structure

การขอการรับรองอาคารเก่าให้ประสบผลสำเร็จขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ออกมาในช่วงดำเนินการ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการใช้งานอาคารเก่าอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงการจัดตั้งโครงการ และผลลัพธ์ของการใช้งานนั้นกำลังถูกเก็บและตรวจวัด ดังนั้นเมื่อผลระดับการขอการรับรองอาคารเก่าตามเกณฑ์ประเมินอาคารเขียวขึ้นอยู่กับผลลัพธ์เหล่านี้ การเก็บข้อมูลและการดำเนินการทั้งหมดในช่วงดำเนินการต้องไม่มีการขาดช่วงของการเก็บข้อมูลและการดำเนินการมากกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อความต่อเนื่องและความสมบูรณ์ของข้อมูล นอกจากนั้นข้อมูลในช่วงดำเนินการในแต่ละข้อกำหนดและข้อบังคับไม่ควรมากกว่า 24 เดือน และไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากช่วงดำเนินการในแต่ละข้อกำหนดและข้อบังคับต้องไม่ทิ้งระยะห่างกันเกิน 30 วัน นับจากวันสุดท้ายของชุดข้อมูลที่เก็บในข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่เก็บข้อมูลช้าที่สุด

performance Time Line

เกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED สำหรับอาคารเก่า ยังมีข้อกำหนดให้ส่งข้อมูลภายในระยะ 60 วัน นับจากวันถัดมาจากวันสุดท้ายของชุดข้อมูลที่เก็บในข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่เก็บข้อมูลช้าที่สุด เพื่อให้การประเมินอาคารอยู่บนพื้นฐานการรับรองประสิทธิภาพอาคารในสภาวะปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อเข้าใจถึงโครงสร้างการประเมินและข้อกำหนดแล้ว การขอการรับรองตามแนวทางของ LEED สำหรับอาคารเก่าจะสามารถวางแผนและจัดการโครงการนำไปสู่ความสำเร็จในการขอการรับรอง LEED ได้

 

นิตยสาร Builder Vol.30 April 2016
เรื่อง: ผศ.ดร. จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ LEED AP, TREES Founder
และ สุขสันติ์ ยงวัฒนานันท์ LEED Green Associate, TREES Associates Executive Green Building Service, ISET (Thailand) Ltd.

Previous articleอนันดาฯ Top Up โครงการไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน นับถอยหลังเตรียมเข้าอยู่ไตรมาส 4 ปีนี้
Next articleบทบาทของผู้รับสร้างบ้าน สู่ก้าวใหม่ของธุรกิจ
ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์
LEED AP, TREES FA นักเขียนประจำนิตยสาร Builder อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว และเกณฑ์การประเมิน LEED