เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เทรนด์ของ Green Building นั้น กำลังขยายตัวอย่างสูงทั้งในตลาดโลกและในตลาดประเทศไทย นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างมองหาโครงการที่มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐาน Green Building ซึ่งไม่ได้กำจัดอยู่แค่เพียงกลุ่มอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองหรือเขตเศรษฐกิจแต่ยังขยายตัวไปสู่ทั่วทุกพื้นที่

โดยข้อมูลจากการศึกษาของ McGraw-Hill Construction Research & Analytics ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการรายงาน ใน Smart Market Report ตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 ได้มีคาดการณ์แนวโน้มของการขยายตลาด Green Building ในอนาคตคือ ปีค.ศ. 2015 นั่นก็คือปีในปัจจุบันนี้เอง พบว่าในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มีการขยายตัวของโครงการ Green Building เป็นอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งหากพิจารณากันตามข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็กำลังเกิดขึ้นจริงอยู่ในขณะนี้

Untitled-2

โดยตลาด Green Building ใน ปัจจุบัน ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาอาคารประเภทอาคาร หรือโครงการประเภทสำนักงาน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็หันมาให้ความสำคัญในหลักการและมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบในเชิง Green Building มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์ ทรัพยากรที่ใช้ในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรน้ำและพลังงาน สืบเนื่องจากระยะเวลาที่ผู้คนหรือผู้ใช้อาคารส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตและอาศัย อยู่ในอาคารสำนักงานมากกว่าเวลาที่พักอาศัยอยู่ที่บ้าน ดังนั้นหากโครงการอาคารสำนักงานที่มีการคำนึงถึงมาตรฐานดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานทั้งในส่วนของ โครงการเองและภาพรวมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมาตรฐานตาม Leadership in Energy and Environmental Design หรือ LEED ทั้งในหมวดของอาคารสร้างใหม่ (New Construction; NC) ซึ่งเจ้าของโครงการเป็นเจ้าของพื้นที่ในส่วนใหญ่หรือทั้งหมดและในหมวดสำหรับ อาคารให้เช่า (Core and Shell; CS) ที่เจ้าของโครงการมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เช่าพื้นที่โครงการเป็นสำนักงาน

ทั้งนี้ จากแนวโน้มที่ผ่านมานั้นอาคารสำนักงานระดับแนวหน้าในประเทศไทยก็ล้วนแล้วแต่มีหลักการในการออกแบบและก่อสร้างเป็น Green Building แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างที่มักจะนิยมใช้ในการออกแบบ เพื่อยกระดับโครงการให้เข้าสู่ตลาด Green Building โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน ได้แก่ โครงการมีการออกแบบให้ใช้กรอบอาคารที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการคัดเลือกกระจกกรอบอาคารที่สามารถกันความร้อนจากภายนอกได้ดีเยี่ยม ผสมผสานการออกแบบให้แสงธรรมชาติจากภายนอกสามารถผ่านเข้ามาในพื้นที่ใช้งานในอาคารได้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่สำนักงานที่มีช่วงระยะเวลาใช้งานส่วนใหญ่เป็นเวลากลางวัน ร่วมกับการออกแบบแสงประดิษฐ์ภายในอาคารที่ดี ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้งานไฟฟ้าแสงสว่างในพื้นที่ดังกล่าวได้มากเลยทีเดียว

Untitled-3

อีกกทั้งยังเป็นการลดภาระในการทำความเย็นของระบบปรับอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย การออกแบบให้ใช้ระบบปรับอากาศที่มีหน่วยทำความเย็นรวมที่มีประสิทธิภาพสูง ผ่านการออกแบบที่เหมาะสมและสมดุลกับภาระการทำความเย็นในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการนำระบบระบายอากาศสดแบบรวม หรือ Outdoor Air Unit ที่จะมีการปรับปรุงคุณภาพและอุณหภูมิของอากาศสดก่อนที่จะปล่อยมาในแต่ละบริเวณเข้ามาใช้งาน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอาคารที่ดี ช่วยลดมลภาวะสะสมภายในอาคาร ผู้ใช้อาคารก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการใช้งานตามอาคารปกติทั่วไป

นอกจากนี้การออกแบบและเลือกใช้โคมไฟส่องสว่างชนิดประหยัดพลังงาน โดยเน้นการใช้หลอดประเภท LED ตลอดจนการติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าส่องสว่างที่สามารถควบคุมและจัดการการเปิด-ปิดไฟฟ้าส่องสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ตลอดจนการคัดเลือกใช้สุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำ ซึ่งจะช่วยให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้งานในโครงการลดลงจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำโดยมีระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อไว้ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรมอีกด้วย

ในด้านของงานก่อสร้างโครงการก็เช่นกัน ในหลาย ๆ โครงการที่ดำเนินตามมาตรฐาน Green Building ก็จะพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่ Green Building ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน อาทิ การกำหนดแผนป้องกันมลภาวะระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน USEPA Construction Permit ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มลภาวะจากกิจกรรมก่อสร้างถูกปลดปล่อยออกนอกบริเวณของโครงการได้ ถือเป็นการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ มิหนำซ้ำยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างไทยได้ด้วย

Untitled-5Untitled-4

โดยจากที่ได้กล่าวมา เป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่โครงการสำนักงาน Green Building ส่วนใหญ่เลือกใช้กัน ยังมีอีกหลาย ๆ ส่วนที่ยังไม่ได้กล่าว แม้กระทั่งทำเลที่ตั้งของโครงการที่สะดวกต่อการเดินทาง มีการส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และสนับสนุนให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ก็สามารถช่วยให้โครงการได้รับคะแนนการดำเนินโครงการ Green Building ได้สูงขึ้นอีกนัยหนึ่งก็จะสามารถได้รับการรับรองในระดับที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ อาคารสำนักงานระดับแนวหน้าของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายให้ได้การรับรองโดยเฉพาะ LEED ในระดับตั้งแต่ระดับทอง หรือ Gold Level ขึ้นไป ซึ่งหากให้คาดการณ์ไกลไปอีกในอนาคตกระแสความนิยมของ Green Building ในตลาด โดยเฉพาะอาคารสำนักงานก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ของไทย ก็หันมาจับธุรกิจและพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานให้เป็น Green Building กันทั้งนั้น อาทิ Singha Estate ที่เพิ่งจะเปิดตัวโครงการ SINGHA COMPLEX ไปเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็มีแนวคิดดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ที่เป็น Green Building เช่นกัน

อนาคตอันใกล้ก็ไม่แน่นะครับ คำว่า Green Building อาจจะเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของการพัฒนาโครงการสำหรับทุก ๆ อาคารสำนักงานก็เป็นได้…
นิตยสาร Builder Vol.25 Issue NOVEMBER 2015
เรื่อง: ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์, LEED AP, TREES Founder
และ คุณอภินันท์ ปานสาย, วศ.ม. TREES-A

Previous articleวิธีการออกแบบสภาวะน่าสบายในพื้นที่ปรับอากาศ (ตอน 1)
Next articleสกรู ASTEKS™ มาตรฐานออสเตรเลีย
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร