จากสภาวการณ์ปัจจุบันที่สภาพการจราจรโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ล่าสุดมีผู้ผลิตระบบจีพีเอสรายหนึ่ง ได้เผยผลการจัดอันดับเมืองที่มีการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนติดขัดมากที่สุดของโลก พบว่ากรุงเทพมหานครของไทยเรานี่เองที่ติดอันดับตามความคาดหมาย แถมรั้งเป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกต่างหาก นำโด่งเหนือเมืองเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกที่เคยโด่งดังเรื่องรถติดมายาวนาน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ได้เตรียมออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาบรรเทาสภาพการจราจรให้กลับมาสู่สภาวะปกติ หรือให้ติดน้อยลงก็ยังดี

ในครั้งก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอมาตรการตามข้อกำหนดอาคารเขียว ไม่ว่าจะเป็นของ LEED หรือ TREES ก็ตาม ได้มีการระบุถึงการรณรงค์ส่งเสริมใช้ในรถยนต์ประเภท Low Emitting and High Efficient Vehicle ซึ่งอย่างน้อยมาตรการนี้นอกจากจะเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่มีการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่ไม่ใช่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงแต่เพียงอย่างเดียว ยังเป็นการจำกัดประเภทของรถยนต์ที่สามารถเข้ามาใน อาคารเขียว ได้โดยสะดวกสบายที่สุด ในครั้งนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงมาตรการตามข้อกำหนดอาคารเขียวประเด็นอื่น ๆ ที่อาจจะสามารถช่วยบรรเทาสภาพการจราจรดังกล่าวข้างต้นได้ ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้วเรามักจะเห็นโครงการอาคารเขียวอยู่ใกล้เคียงกันกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะสถานีรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นใต้ดินหรือบนดินตามข้อกำหนด ได้มีการแบ่งประเภทของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเอาไว้ ดังนี้

– โครงการอาคารเขียว มักจะเลือกตั้งอยู่บนทำเลที่สามารถเข้าถึงสาธารณูปการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า, ร้านอาหาร, ศาสนสถาน, โรงพยาบาล, สถานที่ราชการ และโรงเรียน เป็นต้น ในระยะที่ไม่ต้องใช้รถยนต์ในการเดินทาง สามารถเดินเท้าไปถึงได้โดยสะดวกสบาย ก็จะทำให้ผู้ใช้อาคารเขียวนั้นลดอัตราการใช้รถยนต์ได้ไปส่วนหนึ่ง

– โครงการอาคารเขียว มักจะเลือกตั้งอยู่บนทำเลที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเดินไปป้ายรถประจำทาง รวมถึงระบบ BRT หรือสถานีรถไฟฟ้าทั้งประเภทใต้ดิน MRT หรือลอยฟ้า BTS ที่สามารถไปยังจุดหมายปลายทางสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัว และล่าสุดก็เพิ่งจะมีการเปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง สายเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นที่จับตามองว่าโครงการอาคารเขียวใดจะเลือกพื้นที่ใกล้เคียงกับรถฟ้าสายนี้ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่ใช้งานกันก่อนหน้านี้ ก็มีโครงการอาคารเขียวก่อสร้างแล้วเสร็จไปเกือบทั้งสิ้น ยังไม่นับไปถึงรถไฟฟ้าส่วนขยายสายอื่น ๆ ที่กำลังจะรอเปิดให้บริการกันอีกในอนาคตอันใกล้

bts-15-trips_02

– ในกรณีที่โครงการอาคารเขียว มีทำเลที่ตั้งที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ หรือเข้าถึงแต่ไม่สะดวกสบาย ก็สามารถใช้ทางเลือกอื่นคือการจัดรถรับ-ส่งระหว่างโครงการ และจุดจอดรถประจำทางสาธารณะเพื่อทดแทนได้ โดยต้องกำหนดระยะทางและตารางเวลาที่ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดต่อผู้ใช้อาคาร หรือที่เรียกว่า Shuttle Bus Program นั่นเอง

– อีกประเด็นหนึ่งในกรณีที่ผู้ใช้อาคารเขียวไม่สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้ ก็ยังเปิดโอกาสให้รถยนต์ที่ใช้ร่วมกัน หรือ Carpool สามารถใช้อาคารเขียวได้อย่างสะดวกสบายผ่านการส่งเสริมที่ดีของโครงการอาคารเขียว โดยจะจัดช่องจอดที่สะดวกสบายใกล้ทางเข้า และเก็บค่าจอดในราคาพิเศษในบางแห่งที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมจอด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ข้อกำหนด อาคารเขียว ได้เพิ่มเติมมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่คงจะช่วยลดปัญหาและบรรเทาสภาพจราจรในปัจจุบันได้ บทความฉบับนี้อาจเป็นฉบับท้ายสุดที่จะเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับอาคารเขียว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเป็นการมอบความรู้หรือมอบสิ่งใหม่ ๆ ให้กับผู้อ่าน และเพิ่มความตระหนักรู้ในการพัฒนาโครงการ ทั้งส่วนออกแบบและก่อสร้างไทยให้ทัดเทียมนานาชาติและเป็นมาตรฐานให้กับประเทศต่าง ๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียนบ้านเราต่อไป

picture_1411255010193
นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleอพาร์ทเมนท์บานเกล็ดไม้ลายคลื่นจากวัสดุรีไซเคิล พร้อมผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์
Next articleสร้างเสียงเพลงพร้อมบรรยากาศพายุฝนในบ้าน ด้วย Floating Cloud ลำโพงก้อนเมฆลอยตัว
ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์
LEED AP, TREES FA นักเขียนประจำนิตยสาร Builder อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว และเกณฑ์การประเมิน LEED