ในวันที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจพิพิธภัณฑ์เอกชนมากขึ้น จากข่าวคราวการมีอยู่และพยายามคงอยู่ของพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลหลายแห่ง ก็เป็นข้อดีว่าเราได้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์สถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยร่องรอยชีวิตในอดีตและคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมเอาไว้ด้วยหัวใจ เช่นเดียวกันกับ ‘บ้านเสานัก’ ในจังหวัดลำปาง

จากอดีต

‘บ้านเสานัก’ มีที่มาของชื่อตามลักษณะของโครงสร้างของบ้าน ซึ่งคำว่า ‘นัก’ เป็นภาษาเหนือแปลว่า ‘มาก’ และเนื่องจากเรือนไม้หลังนี้มีเสาจำนวนมากจึงเรียกว่า บ้านเสานัก โดยในอดีตเป็นเรือนของคหบดีชาวพม่า นายม่องจันโอ่งและแม่เลี้ยงมุก ตั้งแต่สมัยอังกฤษยังปกครองพม่าและมีการส่งไม้เข้ามาค้าขายที่เมืองลำปาง

บ้านเสานัก เป็นเรือนไม้สักผสมผสานศิลปะแบบล้านนาและพม่าเข้าด้วยกัน เดิมทีนายม่องจันโอ่งไม่ได้สร้างเรือนไม้หลังนี้ในตอนแรกที่เข้ามาทำการค้าไม้ในลำปาง แต่สร้างขึ้นในยุคที่ก่อร่างสร้างตัวได้แล้ว และปรารถนาการมีเรือนหลังงามเพื่อเป็นรางวัลของชีวิต โดยสร้างขึ้นตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันตกทอดมาสู่ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลจันทรวิโรจน์ และถึงวันนี้บ้านหลังนี้ก็อายุกว่า 121 ปีแล้ว

FullSizeRender

หากเดินขึ้นไปบนเรือนจะพบระเบียงทางเดินที่มีหลังคา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะแบบพม่า เรียกว่า ‘พาไล’ ส่วนพื้นที่ข้างในเป็นห้องรับรองแขกที่เรียกว่า ‘เติ๋น’ ในอดีตบ่าวไพร่ที่ติดตามเจ้านายจะนั่งอยู่บริเวณพาไล เพื่อรออำนวยความสะดวก ส่วนเจ้านายก็จะนั่งพักผ่อนและสนทนากันอยู่บริเวณเติ๋น สำหรับเจ้านายหรือแขกต่างถิ่น หากมาพักที่บ้านเสานักก็จะค้างคืนในพื้นที่เติ๋น โดยเจ้าบ้านจะนำฟูกมาปูสำหรับรับรองแขกและกางมุ้งนอนอยู่บริเวณเดียวกันนี้

เรือนไม้สักหลังนี้ประกอบด้วยเรือนขนาดเล็ก 5 หลังรวมกัน หากได้มาเยือนจะพบว่ากว้างขวางไม่น้อยทีเดียว ด้านหน้าเป็นลานกว้างสมฐานะ ส่วนด้านข้างจะมีเรือนไม้หลังเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งเป็นยุ้งฉางในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บ้านเสานักก็ถูกปรับปรุง ต่อเติม และซ่อมแซมในหลายจุดตามความจำเป็น รวมถึงเพื่อให้บ้านยังคงอยู่ตามเจตนารมย์ของทายาท

สู่ปัจจุบัน

‘บ้านเสานัก’ ในวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น IMG_8675(ประเภท
เคหสถานและบ้านเรือนเอกชนปี พ.ศ. 2548) โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีผู้คนที่หลงใหลอาคารสถาปัตยกรรมโบราณแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เนือง ๆ โดยจ่ายค่าเข้าชมคนละ 50 บาท (รวมเครื่องดื่ม 1 แก้ว)

ด้วยความที่เป็นเรือนไม้สักที่ผ่านกาลเวลามากว่า 121 ปี เหตุนี้ค่าใช้จ่ายในแง่ของการทำนุบำรุงและซ่อมแซมก็สูงตามไปด้วย ปัจจุบันบ้านเสานักปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น นอกจากเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ยังเปิดให้เช่าสถานที่สำหรับจัดงานต่าง ๆ อาทิ งานมงคล รวมถึงเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำงานศิลปะบันเทิง แต่ทั้งนี้ก็พิจารณาเป็นกรณีไป

สำหรับผู้อ่านที่ชื่นชอบอาคารสถาปัตยกรรมโบราณที่มีทั้งความงดงามและร่องรอยของชีวิตในวันวาน นอกจากบ้านเสานักแล้ว ในย่านเมืองเก่า ‘กาดกองต้า’ ในจังหวัดลำปางก็ยังมีบ้านเรือนเอกชนอีกหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งเหมาะกับการได้ไปเยือนเพื่อซึมซับความงามในอดีตสักครั้งในชีวิต

IMG_8652 IMG_8685


นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

Previous articleทำอย่างไร ให้อาคารดูเขียว (ตอนที่ 1)
Next article‘Driftscape’ โรงแรมโดรน ที่ให้คุณบินไปได้ทั่วโลกตามใจฝัน
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ