มนุษย์ทุกคนล้วนมีอุปนิสัย หรือพฤติกรรมความชอบส่วนตัว ที่เรียกได้ว่า “ค่อนข้างแปลก” รวมถึงเหล่าสถาปนิกชื่อดังก้องโลก ที่มีวิธีการผ่อนคลาย หรือสร้างสรรคผลงาน ด้วยวิธีแปลก ๆ เช่นกัน แต่ความแปลกเหล่านี้ อาจเป็นตัวขับเคลื่อนและกระตุ้นแรงบันดาลใจ ให้พวกเขากลายมาเป็นบุคคลเด่นดังในแวดวงก็เป็นได้

  1. The Eameses 
  เล่นของเล่นชิ้นเดิมตลอดทั้งวัน  

Charles และ Ray Eames มีผลงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย เคยดีไซน์มาแล้วมากกว่า 900 ผลงาน โดย The Musical Tower หรือของเล่นที่ดัดแปลงจากไซโลโฟน สูง 5 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอก ที่บริษัท The Eameses ใช้เวลาเล่นตลอดทั้งวัน

สำหรับพนักงานใหม่ที่เข้ามาร่วมในบริษัทออกแบบ The Eameses นั้น จะต้องใช้เวลาวันแรกในการทำงาน ในการเล่นของเล่นชิ้นนี้ ซึ่ง The Eameses มีความคิดที่ว่า “นี่แหละคือความสร้างสรรค์เบื้องต้นสำหรับ The Eameses” เพราะการใช้เวลาฟัง หรือสังเกตประสบการณ์ทางดนตรีของใครสักคน ทำให้เขาสามารถเห็นความเป็นตัวตนของบุคคลนั้น ๆ ได้ และสามารถดึงศักยภาพดังกล่าว มาใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้มีคุณภาพ

  2. Alvar Aalto 
  ดริ๊งหนัก เมาหัวราน้ำ  

Alvar Aalto สถาปนิกและนักออกแบบชาวฟินแลนด์ ผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งสมัยใหม่นิยม” เคยกล่าวไว้ว่า “ศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้ในบรรยากาศการทำงานแบบออฟฟิศ” ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขากล่าวไว้ เพราะเขามักได้รับการเปรียบเปรยว่า “drink like a fish” หรือ “เมาหัวราน้ำ” นั่งดริ๊งในสำนักงานเป็นเรื่องปกติ

  3. Leonardo da Vinci, Buckminster Fuller, Frank Lloyd Wright
และ Louis Kahn 

  ไม่เคยหลับปุ๋ยแสนสบายในยามราตรี  

สถาปนิกส่วนใหญ่ มักประสบปัญหาในเรื่องของเวลาเข้านอน รวมถึงสถาปนิกนักออกแบบชื่อดังเหล่านี้ ประกอบด้วย Leonardo da Vinci, Buckminster Fuller และ Frank Lloyd Wright ที่มีนิสัยการนอนหลับแบบ Polyphasic Sleep หรือ การงีบนอนช่วงสั้น ๆ ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง แทนการนอนหลับยาวในช่วงเวลากลางคืน ขณะที่ Louis Kahn จะใช้เวลาช่วงเช้า-กลางวันในการสอน และงีบนอนจนถึง 22.30 น. หลังจาก 22.30 น. เป็นต้นไป จึงจะเป็นเวลาในการทำงานของเขาอย่างจริงจัง

  4. Snøhetta  
  พาทีมนักออกแบบไปปีนเขาทุกปี  

การพาพนักงานบริษัทไปออกทริป team building ด้วยการปีนเขา คงเป็นเรื่องแปลก แต่ไม่ใช่สำหรับบริษัทสถาปนิก Snøhetta เพราะ Snøhetta ค้นพบว่า “การไปปีนเขานี่แหละคือการสร้างแรงบันดาลใจชั้นยอด” โดย Craig Dykers ผู้ร่วมก่อตั้ง Snøhetta ระบุว่า “เราใช้เวลาดังกล่าว ในการพูดคุยกันถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และสถานที่ที่เราอยากจะไป ในอดีตเราแค่ไปปีนเขาธรรมดา ๆ แต่ตอนนี้ การปีนเขามันมีความหมายมากกว่านั้น”

  5. Zaha Hadid  
  รักและเทิดทูนตัวเอง  

มีสตอรี่มากมายเกี่ยวกับ Zaha Hadid ที่บ่งชี้ว่า “บุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ ก็คือตัวเธอเอง” ยกตัวอย่างได้จาก การถ่ายภาพกับนิตยสาร Vogue ที่บ้านของเธอเอง ที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่เธอออกแบบเองเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนวงในรอบตัวเธออีกมากมาย ที่สามารถพิสูจน์ หรือยืนยันทัศนคติ “รักตัวเอง” ของ Zaha Hadid ได้เป็นอย่างดี แถมเธอยัง เคยเผยแนวคิดของตัวเองกับ CNN ด้วยว่า I never took no for an answer. I never sat back and said ‘walk all over me, it’s OK’.

  6. Eileen Gray  
  รักผู้อื่นเป็นอย่างยิ่ง  

แรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานออกแบบของ Eileen Gray ส่วนใหญ่ มักมาจากคนที่เธอรัก สำหรับผลงานชิ้นเอก อาจกล่าวได้ว่า เป็นการออกแบบวิลล่า E.1027 ที่สร้างให้กับ Jean Badovici คนรักของเธอ แม้กระทั่งชื่อผลงานยังเป็น Code ลับเกี่ยวกับความรักล้วน ๆ โดย E มาจาก Eileen ส่วนตัวเลขต่าง ๆ นั้น มาจากตัวอักษร J – Jean,  B – Badovici และ G – Gray นามสกุลของเธอปิดท้าย

  7. Frank Lloyd Wright  
  มีเซ็กซ์วันละหลาย ๆ รอบ แม้อายุเข้าเลข 8 ก็บ่ยั่น  

สถาปนิกชื่อดัง Frank Lloyd Wright เคยลั่นวาจาไว้ว่า การมี “พลังสร้างสรรค์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” ช่วยให้เขาสามารถวาดแบบให้กับลูกค้าได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง ขณะที่ภรรยาของเขา ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในแหล่งพลังงานที่ไม่สิ้นสุดของ Frank Lloyd Wright นั่นก็คือ “พลังงานจากเซ็กซ์”

นอกจากนี้ ภรรยายังเผยด้วยว่า แม้สามีจะอยู่ในวัย 85 ปี แต่ก็ยังสามารถมีเซ็กซ์ได้มากถึงวันละ 2-3 ครั้ง จนเธอต้องไปพบและปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ พร้อมได้รับยาช่วยลดความกระสันทางเพศของผู้ชายมาให้สามี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ใช้ยาดังกล่าว และปล่อยให้เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น

  8. Denise Scott Brown  
  ชอบมองคนใช้งานอาคารที่ตัวเองออกแบบ

หากคุณถาม Denise Scott Brown ว่าเธอชอบส่วนไหนของงานออกแบบเธอมากที่สุด เธอจะบอกว่า “ชอบดูคนใช้งานอาคารของเธอ” เธอเคยไปเยี่ยมเยือนอาคาร Perelman Quadrangle ในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย แล้วมองดูผู้คนและนิสิตนักศึกษา ที่กำลังใช้งานอาคารอยู่ ทั้งที่นั่งเล่นตามขั้นบันได และที่เดินเข้าออกภายในอาคาร โดยเธอได้จินตนาการถึงผึ้งในรังไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งช่วงที่เธอไปคอยสังเกตการณ์นั้น เธอสวมชุดกระโปรงธรรมดา เหมือนหญิงสาววัยกลางคนทั่วไป จนอาจไม่มีใครสังเกต หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เธอยิ้มมุมปากขณะมองทอดสายตาออกไปด้วยเหตุอันใด

  9. I.M. Pei  
  ทิ้งตัวเงียบ ๆ ในความมืด แล้วดำดิ่งไปกับความคิด  

การทำงานของ I.M. Pei ออกจะดูแปลกไปจากสถาปนิกรายอื่น ๆ เขาเขียนไอเดียลงบนกระดาษ น้อยกว่าวาดงานไว้ในหัว สำหรับเขาแล้ว การคิดงานหรือการทำงานที่ดีที่สุด คือการทิ้งตัวลงบนเตียงยามดึก อยู่ในความมืด แล้วลุกมาจดไอเดียแบบหวัด ๆ ตามผนังทางเดิน ขณะที่เขาลุกไปเข้าห้องน้ำ และถ้าหากไอเดียนั้น ๆ ยังออกมาไม่ดีนัก เขาก็จะกลับไปที่เตียง แล้วนอนคิดใหม่อีกครั้ง

  10. Luis Barragán  
  เลือกทานอาหารโทนสีเดียว  

“You are what you eat.” ประโยคนี้ใคร ๆ ก็พูดกัน และคงไม่ใช่เรื่องแปลกจนน่าตกใจอะไรมากนัก สำหรับ Luis Barragán ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปนิกที่มีความช่ำชองด้านสีสัน และอาจเป็นความชอบ หรืออุปนิสัยส่วนตัวของเขา ที่มักจะออร์เดอร์อาหาร ที่มีการจัดสีสันในจานแบบโทนสีเดียวกัน หรือ Monochrome โดยเมนูที่เขาสั่งบ่อย ๆ ก็คือ เมนูที่มีส่วนประกอบสีชมพูสดใส เช่น sherry-drizzled melon halves เป็นต้น

  11. Ricardo Scofidio  
  ออกไปขับรถเล่น หาแรงบันดาลใจ

สำหรับ Ricardo Scofidio แห่งบริษัท Diller Scofidio + Renfro เรียกได้ว่าเป็นสถาปนิกที่ชื่นชอบ “รถ” เป็นงานอดิเรก มักออกไปขับรถคันโปรด 1963 vanilla Porsche, Saab 96, Alfa Romeo 2000 GTV และ Jaguar XK150 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน

ลองไปทำตามกันดูนะ หรือใครมีวิธีแปลก ๆ ของตัวเองก็สามารถมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อเพื่อน ๆ จะได้นำไปใช้ประโยชน์กันได้ถ้วนหน้า

Source: Archdaily

Previous articleBIG ออกแบบตึกหรู The Eleventh ด้วยดีไซน์บิดเบี้ยวเป็นเกลียวดูสะดุดตา กลางนครนิวยอร์ค
Next articleหลอดไฟ LED ป้องกันยุง ตราใบไม้ ไล่ยุง ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม