งานสถาปนิก’60 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ เต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมอง และแง่คิดดี ๆ เกี่ยวกับ ‘บ้าน’ อย่างที่ใครหลายคนอาจไม่เคยได้เห็นมาก่อน รวมถึงพื้นที่นิทรรศการเอง ก็นับเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ช่วยนำเสนอแนวคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน

โดยพื้นที่นิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ บ้าน (Dwelling) องค์ประกอบบ้าน (Dwelling’s Elements ) และพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling’s Surroundings)

บ้าน

นิทรรศการ บ้าน (Dwelling) มีนิทรรศการและกิจกรรมที่สำคัญ เช่น

ในหลวง

นิทรรศการ ในหลวงรัชกาลที่ 9 แบ่งออกเป็น 2 นิทรรศการหลัก ได้แก่ 1.นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน “บ้าน” บ้านในพระราชานิยม (Architect of the land) เป็นนิทรรศการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจทางด้านสถาปัตยกรรม ทรงดำริโครงการไว้ มากมาย ซึ่งภายในนิทรรศการจะเผยให้เห็นถึงพระปรีชาญาณ และพระราชนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัย หลักคิดทฤษฎีเรื่องความพอเพียง จัดแสดงผ่านสื่อมัลติมีเดียรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมสามารถเข้าใจและรับรู้เรื่องราวต่างๆได้ 2. นิทรรศการผ่านสื่อศิลปะภาพ 2 มิติ จัดทำโดยสถาปนิก เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เป็นนิทรรศรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร

รูปเล่าเรื่อง

Photo Essay

นิทรรศการ บ้าน บ้าน รูปเล่าเรื่อง (BAAN BAAN Photo Essay) เป็นนิทรรศการภาพถ่าย ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา สถาปนิก และบุคคลทั่วไปร่วมตั้งคำถามกับความหมายของ “บ้าน” และ “การอยู่อาศัย” นำเสนอเรื่องราวของการอยู่อาศัย โดยมี “คน” เป็นโจทย์สำคัญ บอกเล่าเรื่องราว ขอบเขต และมิติอันหลากหลายของ “บ้าน” พร้อมทั้งยังมีการเปิดประเด็นให้ชวนขบคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาปนิก และสถาปัตยกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สนใจ สามารถส่งภาพถ่ายของตนที่แสดงถึงมุมมอง ความคิดเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โดยส่งภาพพร้อมแคพชั่นสั้น ๆ เกี่ยวกับมุมมองของคุณ ผู้ชนะจะได้รับรางวัลจากคณะกรรมการที่มีความสามารถด้านการถ่ายภาพ ยิ่งไปกว่านั้น จะมีการนำภาพเกี่ยวกับบ้านในมุมมองต่าง ๆ ของเหล่าสถาปนิก ที่แสดงถึงบ้านสถาปัตยกรรมไทย บ้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ภายใต้ความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงบ้านไทยในแบบต่าง ๆ โดยแบ่งตามภูมิภาค

บ้านจำลอง

นิทรรศการ บ้าน บ้าน จำลอง (BAAN BAAN Mockup) นิทรรศการที่แสดงโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งงานสร้างจริง (Built Project) งานที่ไม่ได้สร้าง (Unbuilt Project) และงานเชิงทดลอง (Experimental Project) ในรูปแบบที่เกี่ยวกับที่พักอาศัย โดยเปิดโอกาสให้สถาปนิกสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ จากทั่วประเทศ สามารถนำส่งผลงานของตัวเองประเภทที่อยู่อาศัยมาเพื่อรับการคัดเลือก และแสดงในนิทรรศการในรูปแบบของหุ่นจำลอง และบนโมเดลจำลองนี้จะมีคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ผู้ที่มาชมสามารถสแกนเข้าไปดูรายละเอียดแบบบ้านของผู้ออกแบบแต่ละท่าน ทั้งนี้ รูปแบบการจัดแสดงผลงานโดยหุ่นจำลองมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถรับรู้และง่ายต่อการเข้าใจในผลงานสร้างสรรค์ของสถาปนิก และยังเป็นการเปิดโอกาสให้สถาปนิกในแต่ละรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปได้ รวมไปถึงสมาชิกสมาคมก็ยังมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับประชาชนได้ด้วยเช่นกัน

บ้านตัวอย่าง

นิทรรศการ บ้าน บ้าน ตัวอย่าง (BAAN BAAN Case Study) เป็นนิทรรศการที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในการออกแบบบ้านเดี่ยวทั้งบ้านที่สร้างใหม่ (NEW HOUSE) และบ้านที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงจากบ้านเก่า (ADAPTIVE REUSED HOUSE) ซึ่งจะทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่เข้าชมงานได้เห็นถึงรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ใช้สอยและงบประมาณของบ้านเดี่ยวรูปแบบต่าง ๆ ผู้ที่สนใจสามารถเลือกดูแบบบ้านตามงบประมาณและพื้นที่ที่ตนต้องการได้

เทคโน

นิทรรศการศิลปะการก่อสร้างและเทคโนโลยี (Tectonic and Technology) แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อวงการก่อสร้าง ผ่านแนวคิดแบบ บ้าน บ้าน สร้างเป็นองค์ประกอบย่อย ๆ ที่มาประกอบรวมกันเป็นบ้าน รวมทั้งจะมีการจัดแสดงผลงานของนิสิต นักศึกษา มีการประกวดแบบนานาชาติ ในหัวข้อ Homely: บ้านบ้าน Reconsidering Dwelling ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้ส่งผลงานเข้ามาหลายร้อยชิ้นจากทั่วทุกมุมโลก

รางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่

นิทรรศการรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ “บ้าน บ้าน” หรือ ASA EMERGING ARCHITECTURE AWARDS: “BAAN BAAN” เป็นรางวัลสำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 45 ปี ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศมาร่วมตัดสิน ได้แก่ Shingo Masuda สถาปนิกชาวญี่ปุ่น และ Anjalendran สถาปนิกชาวศรีลังกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย

อนุรักศิลปสถาปัต

นิทรรศการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและภาคีเครือข่าย (ASA Conservation & Network) จัดแสดงข้อมูลของสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่กำลังมีประเด็นข้อพิพาทอยู่ในขณะนี้

เออบ้านเออเบิน

นิทรรศการกลุ่มสถาปนิกชุมชน เออบ้าน เออเบิ้น (URBA(A)N) แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการออกแบบร่วมกับชุมชน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ได้

องค์ประกอบบ้าน

ต่อมาเป็น นิทรรศการในส่วนขององค์ประกอบบ้าน (Dwelling’s Elements) เช่น

ชิ้นส่วนของบ้าน

นิทรรศการชิ้นส่วนของบ้าน อาทิ ประตู หน้าต่าง กำแพง บันได เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชิ้นส่วนบ้านที่ถูกออกแบบอย่างสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัย ด้วยการจัดแสดงชิ้นส่วนที่มีความเฉพาะในบริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบ 12 ทีมได้ทบทวน(Reconsidering) หน้าที่ของชิ้นส่วนเหล่านั้นใหม่อีกครั้งว่า ชิ้นส่วนของบ้านที่ดีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสร้างออกมาเป็นชิ้นส่วนของจริงในขนาดจริงสำหรับจัดแสดง ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกรุ่นใหม่ได้อย่างชัดเจน

พื้นที่นอกบ้าน

นิทรรศการส่วนสุดท้าย คือ นิทรรศการในส่วนของพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling’s Surroundings) เช่น

บริบทรอบบ้าน

นิทรรศการบริบทรอบบ้าน ที่จะเล่าถึงบริบทที่อยู่รอบ ๆ บ้าน เริ่มต้นจากภายในรั้วบ้านตลอดจนพื้นที่สวนนอกบ้าน พื้นที่ชุมชนรอบบ้าน ซึ่งมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยบริเวณพื้นที่นิทรรศการจะแสดงถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบพื้นที่บริบทรอบบ้าน ประกอบไปด้วย

1.) พื้นที่สวน (ASA Playgroud)
2.) พื้นที่ตลาด (ASA Market) จะมีการขายของตกแต่งบ้าน และสินค้าจากมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นต้น
3.) พื้นที่เวิร์คช็อป (ASA Workshop) จะมีการเปิดตัวหนังสือต่าง ๆ เช่น หนังสือของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, หนังสือของสมาคมสถาปนิกสยาม เป็นต้น โดยจะมีทั้งหนังสือแปลและหนังสือใหม่ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงการพบปะพูดคุยระหว่างสถาปนิกกับชุมชน
4.) พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ ตกแต่งด้วยต้นไม้ และธรรมชาติ สำหรับทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมและสันทนาการ เป็นอีกส่วนหนึ่งของภาพรวมนิทรรศการที่สำคัญของพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนสามารถพบปะพูดคุยกันได้และสามารถนั่งพักผ่อนตามอัธยาศัยเสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะในเมืองอาทิ ASA Sketch เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจในการวาดเขียน ,ลานกิจกรรม เป็นลานที่เพิ่มเติมจากตัวนิทรรศการ เช่นการโชว์การทำงานของเครื่องกลจากนิทรรศการศิลปะก่อสร้าง,หมอบ้านอาษา เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆเกี่ยวกับบ้าน เช่นหลังคาบ้านรั่ว ผนังเกิดรอยร้าว ฯลฯ โดยทีมงานสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ และมีพื้นที่ให้ความรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียให้กับผู้ที่สนใจรับชมเพื่อเข้าใจปัญหาต่างๆของบ้านได้

ASA present-01

ในส่วนของงานสัมมนาวิชาการ ได้แก่ ASA Forum 2017 งานสัมมนาวิชาการโดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Studiomake / David Schafer, UID Architects / Keisuke Maeda, Architect of Sri Lanka / Anjalendran, Studio Schwitalla / Max Schwitalla และ SHINGO MASUDA+KATSUHISA OTSUBO Architects / Shingo Masuda ซึ่งจะมีแนวคิดดี ๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับบ้านมาแลกเปลี่ยนให้สถาปนิกและบุคคลทั่วไปได้รับฟัง

นอกเหนือจากกิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ภายในงานสถาปนิก’60 ยังจะมีการต่อยอดสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม อาทิ การนำต้นไม้ที่จัดแสดงในงานไปปลูกตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9, การนำโต๊ะและอุปกรณ์ในงานไปบริจาคให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล, การแจกจ่ายไม้พุ่มขนาดเล็กให้กับผู้เดินงาน เพื่อนำไปปลูกในบริเวณบ้านของตนต่อไป ก่อเกิดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยตามคอนเซ็ปต์ BAAN BAAN ที่เต็มไปด้วยความสุขและความสบายใจของผู้อาศัย

เตรียมเปิดมุมมอง และแง่คิดใหม่ ๆ ต่องานสถาปัตยกรรมในรูปแบบของ “บ้าน” ได้ที่งานสถาปนิก’60 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ระหว่างวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2560

ASA present-13

Previous articleเจ.เอส.พี ร่วมสนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้
Next articleสัมภาษณ์ตรงกับอาจารย์โอ๊ต ประธานจัดงานสถาปนิก’60 ถึงข้อมูลและคอนเซ็ปต์ของงาน
Builder News
กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News - ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่มาพร้อมกับการรับข่าวสารในรูปแบบใหม่ ทั้งจากสื่อออนไลน์ และโซเชี่ยลมีเดีย เว็บไซต์ Builder News จึงถือกำเนิดขึ้น แตกย่อยออกมานอกเหนือจากนิตยสาร Builder โดยเน้นนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร ที่มุ่งถึงกลุ่มผู้อ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น