การไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง ด้วยผลงานการออกแบบและก่อสร้างที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนที่มีฝันในรูปแบบที่แตกต่างและตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้น รวมทั้งการนำเสนอวัสดุก่อสร้างในมุมที่แตกต่างออกไปจากวิถีเดิมที่เป็นอยู่ มีส่วนสำคัญให้ คุณอยุทธ์ มหาโสม และ Ayutt and Associate Design กลายเป็นที่รู้จักและได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้าง

สำหรับ คุณอยุทธ์ มหาโสม ผู้ก่อตั้ง AAD design Co.,Ltd. (Ayutt and Associate Design) แล้ว ความสำเร็จในเส้นทางของนักออกแบบมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง กอปรกับการเป็นคนที่มุ่งมั่นในการพัฒนาความสามารถด้านวิชาชีพของตนเอง รวมถึงการเป็นคนเข้าใจในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัว คุณอยุทธ์จึงเปรียบเหมือนสถาปนิกผู้เติมเต็มฝันของผู้คน ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

เส้นทางชีวิตนักออกแบบ

สถาปนิกหนุ่มท่านนี้ได้เอ่ยถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือการได้ไปเริ่มต้นทำงานกับบริษัท WOHA ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทำให้มีโอกาสรับผิดชอบโครงการใหญ่หลายโครงการ จึงได้เรียนรู้และมีประสบการณ์โดยตรงนอกเหนือจากการเรียนตามตำรา จนเมื่อบริษัท WOHA ประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นจึงได้เดินทางกลับมาทำงานในเมืองไทยอีกครั้ง พร้อมองค์ความรู้และแนวคิดในการทำงานที่แข็งแกร่งขึ้น ก่อนจะเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง กับการเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทของตนเอง

Ayutt1“ช่วง 3-4 ปีที่ได้ทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ผมมีความสุขดีมาก จนถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่าการทำงานโครงการขนาดใหญ่ก็มีข้อจำกัดในการทำงานหลายอย่าง จึงอยากหันมาทำงานขนาดเล็กดูบ้าง เลยเป็นที่มาของการทำโครงการแรกซึ่งเป็นบ้านพักอาศัย ที่มีชื่อว่า บ้านเย็นอากาศ (YAK) ตอนนั้นผมรับทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ค่าบริการวิชาชีพในการออกแบบอาจจะไม่มาก แต่ถือว่าได้รับประสบการณ์มากกว่า และเมื่อจบโครงการจึงได้นำผลงานไปลงเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ และหลังจากนั้นก็ได้ลงในนิตยสารและสื่อต่างประเทศ เลยทำให้รู้สึกว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว อีกอย่างผมค่อนข้างมีความสุขกับการทำงานมาก เพราะได้เจอเจ้าของโครงการที่เข้าใจในความเป็นสถาปัตยกรรม ซึ่งแตกต่างจากการทำโครงการใหญ่ที่เน้นการแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก แต่สำหรับโครงการที่เป็นบ้านพักอาศัย ผมรู้สึกว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองผู้ใช้สอยขั้นรายละเอียดอย่างแท้จริง ตั้งแต่นั้นผมก็รับงานฟรีแลนซ์มาเรื่อย จนถึงจุดหนึ่งจึงเริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนบริษัทของตัวเองขึ้น ในชื่อว่า Ayutt and Associates Design หรือ AAd แม้ช่วงเริ่มต้น บริษัทจะเกิดมาจากผมคนเดียวก็จริง แต่ผมมองว่า การทำงานต้องมีคนมาร่วมด้วยช่วยกัน อาจเป็นรุ่นน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีฝีมือดี เพราะผมถือว่าที่นี่เป็นบริษัทที่รวมกันของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ น้อง ๆ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันก็ต้องเป็นคนที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน ซึ่งผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมถึงโปรแกรมการทำงานต่าง ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็นนั่นคือ คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูง เขาอาจจะไม่ได้อยากเป็นแค่สถาปนิกอย่างเดียว แต่เขามีพลังมากพอที่จะทำอย่างอื่นควบคู่กันไป เช่น เปิดร้านกาแฟ หรือทำร้านจักรยาน ดังนั้นเราจึงมองหาวิธีที่จะทำให้คนเหล่านั้นมาร่วมงานกับเราได้อย่างสบายใจ นั่นจึงทำให้รูปแบบการทำงานของบริษัทเราแตกต่างจากบริษัททั่วไป เพราะไม่จำกัดว่าต้องทำงานแบบเข้าเช้าเย็นออก ด้วยรูปแบบการทำงานของเราที่เป็นแบบไม่ต้องทำงานประจำในออฟฟิศ จะไปทำธุรกิจส่วนตัวด้วยก็ได้ แต่ต้องรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราเชื่อมั่นในความสามารถของคนรุ่นใหม่ เพราะงานบางอย่างเราเองก็ต้องพึ่งพาศักยภาพของเขาในการสร้างผลงาน อย่างเช่น บางโปรแกรมคนรุ่นผมก็อาจทำได้ไม่ดีหรือไม่สามารถทำได้เท่ากับที่คนรุ่นใหม่ทำ ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งพาศักยภาพของเขา เพราะผมมองว่างานสถาปัตยกรรมเป็นงานที่ต้องทำกันเป็นทีมเวิร์ค ถ้าทีมเวิร์คของเราดีมีคุณภาพก็สามารถสร้างผลงานที่ดี ๆ ออกมาได้”

อะลูมิเนียมกับสไตล์ของอยุทธ์

หลังจากค้นพบเส้นทางที่ใช่ คุณอยุทธ์ที่ทำหน้าที่ทั้งในฐานะสถาปนิกและผู้บริหารองค์กรก็เดินหน้าตามแนวทางที่วางไว้ พร้อมกับเรียนรู้วิธีการและรายละเอียดในการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเท่านั้น แต่รวมถึงการค้นหาและเพิ่มศักยภาพของวัสดุในการออกแบบก่อสร้างด้วย ซึ่งวัสดุที่กลายมาเป็นความภาคภูมิใจและผลงานที่โดดเด่นของสถาปนิกท่านนี้ก็คือ ‘อะลูมิเนียม’

“สไตล์การทำงานของผมจะมีเอกลักษณ์บางอย่างในการเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ แม้ว่าเราจะโฟกัสที่งานบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่เราจะพยายามนำวัสดุที่คนอื่นไม่ใช้กับงานบ้านพักอาศัยมาประยุกต์ในการออกแบบให้มากขึ้น อย่างอะลูมิเนียม หากสังเกตให้ดีจะพบว่ากว่า 80% ในโครงการที่เราออกแบบ จะใช้วัสดุหุ้มผิวอาคารด้วยอะลูมิเนียมเป็นหลัก ซึ่งอันที่จริงผมไม่ได้มีสไตล์การออกแบบที่แน่ชัด แต่จะขึ้นอยู่กับโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านและทำเลที่ตั้ง ซึ่งผมถือว่าปัจจัยเหล่านั้นคือส่วนผสม และผมมีหน้าที่นำส่วนผสมเหล่านั้นออกมาปรุงให้กลมกล่อม ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุ ลูกค้าจึงรู้สึกเหมือนว่าเราเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเราเองก็ไม่ได้มองว่าเราต้องเป็นที่สุด เพราะสถาปนิกแต่ละท่านก็มีแนวทางของตนเองหรือเป็นที่สุดในด้านที่ต่างกันไป ผมมองว่า Final Product มันคือการที่เราทำงานตอบสนองแก่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้ เราก็ยินดีที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเขา”

คุณอยุทธ์มองอะลูมิเนียมเป็นมากกว่าแค่วัสดุที่หลายคนเคยรู้จักการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของวัสดุนี้ทำให้ผลงานออกแบบของ AAd กลายเป็นความโดดเด่น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของโครงการได้เป็นอย่างดีและตรงใจด้วย โดยโครงการแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เสมือนใบเบิกทางสู่ความสามารถในการพัฒนาวัสดุอย่างอะลูมิเนียมในเวลาต่อ ๆ มา ก็คือ โครงการบ้านเย็นอากาศ

Capture Ayutt

บ้านเย็นอากาศ มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการของเจ้าของบ้านที่ต้องการบ้านที่มีลักษณะเป็นกล่อง และต้องไม่ร้อน แต่ความรู้สึกของคนทั่วไปต่อบ้านที่มีลักษณะเป็นกล่องคือจะต้องร้อน ดังนั้นในการทำงานของเราจึงพยายามมองโจทย์ในมุมกลับ บ้านหลังนี้จะต้องเป็นบ้านกล่องที่ไม่ร้อน เราจึงมาคิดถึงการออกแบบโดยใช้ Façade ให้เป็นเช่นชายคา ด้วยการยื่นแนวผนังทั้งแผงออกมาเพื่อให้เกิดเงาบังแดด แล้วก็ใช้วัสดุปิดทึบทำผนังในด้านที่รับแสงมาก ส่วนผนังฝั่งที่รับแสงน้อยก็เลือกใช้กระจก การวางผังห้องนั่งเล่นให้เปิดรับกับสวนสีเขียว ทำให้สามารถรับลมเข้าสู่ตัวบ้านได้มากขึ้นจึงเย็นสบาย ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาไทยเรื่องใต้ถุนบ้านที่มีลมถ่ายเทได้ดี แต่ในด้านที่ไม่สามารถบังแดดได้มาก เราจึงนำอะลูมิเนียมมาใช้ โดยพยายามดึงศักยภาพของตัววัสดุให้ถึงขีดสุด เนื่องจากอะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่เมื่อโดนแดดแล้วจะดูดความร้อนเร็วมาก บางคนอาจมองว่าเป็นข้อเสียแต่เรากลับมองว่าเป็นข้อดี เพราะเมื่อรับความร้อนได้เร็วมากในช่วงกลางวัน ในช่วงเย็นและกลางคืนอะลูมิเนียมก็จะคายความร้อนได้เร็วและเก็บความเย็นได้เร็วมากเช่นกัน ดังนั้นบ้านจึงเย็นเร็ว โดยบ้านหลังนี้มีการออกแบบผนังเป็น 2 ชั้น ให้มี Air Gap ตรงกลางสำหรับการระบายอากาศ ผนังชั้นนอกหุ้มด้วยวัสดุอะลูมิเนียม ส่วนผนังชั้นในเป็นผนังทึบจึงทำให้บ้านไม่ร้อน สำหรับข้อดีอีกอย่างของอะลูมิเนียมก็คือ เป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย แค่ฉีดน้ำก็ทำความสะอาดได้ คงทนอยู่ได้หลายสิบปี และในแง่ของความสวยงามเมื่อแสงตกกระทบกับตัวผิวของอะลูมิเนียมก็จะทำให้เกิดสเปกตรัมสีของแสงแดด ทำให้สีของบ้านเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวันด้วย”

และในโครงการต่อ ๆ มายังได้มีการนำวัสดุอย่างอะลูมิเนียมเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบมากยิ่งขึ้นไปอีก การออกแบบโดยมีอะลูมิเนียมเข้ามาเกี่ยวข้องประสบความสำเร็จมากขึ้นทั้งในแง่ความสวยงามและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ แต่คุณอยุทธ์เองก็มองว่า อะลูมิเนียมเป็นอะไรได้มากกว่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการในลำดับต่อ ๆ มาและขั้นกว่าของอะลูมิเนียม

“หาก Final Product มันคือการที่เราทำงานตอบสนองแก่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้ เราก็ยินดีที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเขา”

“ผมรู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังเดินทางมาถึงจุดเกือบจะสุดยอดของการใช้วัสดุอย่างอะลูมิเนียมจากภายในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้บ้านหลังล่าสุดที่กำลังทำอยู่ เราพยายามจะดึงศักยภาพของวัสดุออกมาให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกเช่นกัน ที่ผ่านมาถ้าสังเกตจะพบว่าอย่างบ้านเย็นอากาศ อะลูมิเนียมจะทำหน้าที่ประดับตกแต่งและช่วยลดความร้อน จนมาถึงบ้าน PK79 ที่สร้างให้วัสดุอะลูมิเนียมมีมิติมากขึ้น คือมีทั้งความสวยงามกันความร้อน กันแดดกันฝน จนถึงป้องกันขโมย กระทั่งมาถึงวันนี้อีกขั้นที่เราพัฒนาศักยภาพของวัสดุโดยทำให้เหนือกว่านั้น โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบบ้านหลังหนึ่งที่ประจวบคีรีขันธ์ โดยเราใช้วัสดุที่เป็นอะลูมิเนียมเช่นกัน แต่ใช้เทคนิคการพับเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดไม่เท่ากัน เพื่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์ของการตกกระทบของแสง และเกิดสีที่สะท้อนออกมาไม่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาผนังของบ้านเย็นอากาศและ PK79 ก็สามารถเปลี่ยนได้ตามแสงของแต่ละช่วงเวลา แต่บ้านหลังนี้แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน แสงที่ได้ในแต่ละมุมก็จะแตกต่างกันไป เนื่องจากเราใช้องศาของอะลูมิเนียมช่วยในการหักเหแสงไม่เท่ากัน ดังนั้นในช่วงเวลาเดียวกันบ้านหลังนี้จึงมีสีมากกว่าหนึ่งเฉด ถือเป็นอีกหนึ่งความสวยงามที่แตกต่าง
ออกไป”

การไม่หยุดนิ่งมีส่วนสำคัญให้ AAd และคุณอยุทธ์เติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ความก้าวหน้าขององค์กร รวมถึงผลงานการออกแบบและก่อสร้างที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้คนที่มีฝันในรูปแบบที่แตกต่าง โดดเด่น และตอบโจทย์ชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นคือภารกิจหนึ่งในฐานะสถาปนิก

“งานออกแบบของเราไม่ได้อยู่เพียงแค่ความสวยงาม แต่เราใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ เทคโนโลยีที่ไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ซับซ้อน แต่หมายถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการออกแบบ รวมถึงใช้หลักวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับการใช้งานในอีกมุมหนึ่ง เพราะฉะนั้นงานของเราจึงค่อนข้างแหวกแนวกว่าคนอื่น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาหาเราย่อมมีความคาดหวังในสิ่งที่จะได้รับส่วนหนึ่ง แต่เมื่อกลับออกไปเขาจะได้รับในสิ่งที่เกินกว่าที่คาดหวังไว้อย่างแน่นอน”

ติดตามผลงานของ AAd ได้ในบทความ PK79 House คลิกที่นี่

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous article‘Ayutt & Associate Design’ ความสำเร็จของนักออกแบบกับการเลือกใช้วัสดุ (ตอนที่ 2)
Next articleDurabulb หลอดไฟรักษ์โลก ตกไม่แตก ช่วยลดก๊าซคาร์บอน 20,000 ตัน
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร