ยิบอินซอย ต่อยอด 70 ปี ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรรายแรกของไทย เปิดโรงงานปุ๋ยแห่งใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Green Industry บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยการวางแผนสร้างอย่างรัดกุมนานหลายปี พร้อมกระบวนการผลิตแบบ 1 ต่อ 1 โดยผลิตปุ๋ยผสมทีละกระสอบด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อให้ได้ปุ๋ยคุณภาพเยี่ยมตรงตามสูตรทุกถุง สานต่อเจตนารมย์ที่บรรพบุรุษวางรากฐานไว้

ยิบอินซอย เป็นผู้นำเข้าปุ๋ยถุงแรกจากเยอรมนีเมื่อ 70 ปีก่อน และด้วยความเชื่อมั่น ไว้วางใจจากเกษตรกร ทำให้ นายยุพธัช ยิบอินซอย ทายาทรุ่นที่ 3 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  กลุ่มบริษัทยิบอินซอย ต้องคิดหนักทุกครั้ง เพื่อสร้างแนวทางที่ยั่งยืนให้ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตร คงอยู่คู่กับการก้าวสู่ปีที่ 100 ของยิบอินซอยในปี 2568

หากย้อนไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว “ยิบอินซอย” เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจค้าแร่ในเมืองไทย  ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสม ทำให้ชื่อเสียงของยิบอินซอยถูกกล่าวขานในฐานะกลุ่มธุรกิจหัวก้าวหน้า และเป็นที่มาของโอกาสเพื่อก้าวสู่ธุรกิจใหม่ ๆ มากมาย ธุรกิจปุ๋ยและเคมีเกษตรเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ยิบอินซอยนำเข้ามาเปิดโลกทัศน์แก่เกษตรกรไทย เพื่อก้าวสู่เมืองเกษตรอุตสาหกรรมแห่งแรกของภูมิภาค

R5

ทั้งนี้ ยิบอินซอยดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ด้วยแนวคิดที่ว่า จะขายสินค้าที่ดีมีคุณภาพ จนได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจมาถึงปัจจุบัน เกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่นจดจำปุ๋ยของยิบอินซอยในฐานะปุ๋ยระดับพรีเมี่ยม โดยมี “ปุ๋ยตราใบไม้” ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน

Capture
นายยุพธัช ยิบอินซอย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทยิบอินซอย

นายยุพธัช กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ธุรกิจของยิบอินซอยดำเนินอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ คือ คุณภาพของวัตถุดิบทุกชนิด แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจของเราจะราบรื่นซะทีเดียว เพราะยังมีอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจไม่ขยายตัวก็คือ ราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ค่อนข้างสูง จนไม่สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสมเพื่อจูงใจผู้บริโภคได้ จึงเกิดความคิดที่ว่า ต้องการขยายตลาด โดยจะเริ่มจากการเพิ่มกำลังผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแบบเดิม ๆ ปรับเปลี่ยนเรื่องโลจิสติกส์ จนเกิดไอเดียโปรเจคโรงงานปุ๋ยเคมีที่นี่ ซึ่งชูคอนเซ็ปต์ Green Industry เปรียบโรงงานเหมือนกับบ้านหลังหนึ่งในชุมชน ที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชนโดยรอบ”

นายยุพธัช กล่าวต่อไปว่า “ภายใต้คอนเซ็ปต์ Green Industry เรามี 3M ที่ทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอ็มแรกคือ Modern  หรือความทันสมัย เราใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 1 ต่อ 1 ผลิตปุ๋ยทีละกระสอบ ทีละ 50 กก. เพื่อให้ปุ๋ยทุกกระสอบมีส่วนประกอบและได้คุณภาพครบตามที่กำหนด ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนการผลิตสูตรปุ๋ยที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว  โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไลน์การผลิตขนาดใหญ่  แต่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า  ผลิตเท่าที่ต้องการ  ที่สำคัญที่สุดทำให้มีวัสดุเหลือใช้จากการผลิตน้อยที่สุด ในขณะที่ถุงบรรจุจัดเก็บวัตถุดิบก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะหมดสภาพ จากนั้นจึงจะถูกส่งกลับไปทำการย่อยสลายตามกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การผลิตปุ๋ยแบบ 1 ต่อ 1 จะทำให้ปุ๋ยทุกถุงมีคุณภาพที่แน่นอนและเป็นระบบการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุดในเวลานี้

เอ็มที่ 2 คือ Marketing Management ซึ่งเน้นที่การบริหารจัดการเพื่อการเคลื่อนตัวทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า แล้วส่งต่อไปยังขั้นตอนผลิตแบบ Just In Time (JIT) หรือทำให้ทันเวลาพอดีที่ลูกค้าต้องการ โดยมีสต็อกให้น้อยที่สุด จากนั้นจึงส่งต่อให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยรถที่มารับปุ๋ยมาถึงโรงงานจะไม่ต้องคอย สามารถรับสินค้าและออกจากโรงงานกลับไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันที โดยใช้วิธีเดินรถแบบทางเดียว ถือเป็นการเคลื่อนตัวที่รวดเร็ว ไม่ติดขัด แต่หากมีกรณีที่ต้องคอย ภายในโรงงานจะมีพื้นที่สำหรับการจอดรถ ห้องพักสำหรับคนขับ ที่พร้อมทั้งห้องน้ำและห้องอาหาร คนขับรถไม่ต้องนำรถไปจอดคอยที่ริมถนน สร้างผลกระทบด้านการจราจร หรือติดเครื่องรถทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ การจัดการด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพ บวกกับการผลิตแบบ JIT ส่งผลให้เกิดข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสียหายจากการผลิตมากเกินไป (Over Production Waste) ลดความเสียหายจากการรอคอย (Waiting Waste) สินค้าคงคลังน้อยใช้พื้นที่จัดเก็บน้อย (Inventory Waste) ฯลฯ โรงงานปุ๋ยของเราจึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากเกินไป

K Yupatuch 6

เอ็มที่ 3 คือ Move on หรือการก้าวต่อไปข้างหน้าร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน  เพราะส่วนใหญ่เวลาจะมีการตั้งโรงงานที่ไหน   จะมีทั้งผลดีและผลเสีย   แต่สำหรับการตั้งโรงงานของยิบอินซอยขอเป็นการตั้งโรงงานที่ชุมชนได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว   สังเกตุได้จากบริเวณโดยรอบโรงงาน  สามารถอยู่กับชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม  บรรยากาศโดยรอบของโรงงานเป็นชุมชนเกษตรกรรมเดิม  มีการปลูกข้าวก็ยังคงปลูกได้เหมือนเดิม การผลิตปุ๋ยของเราจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้บริเวณโดยรอบโรงงานยังมีตกแต่งบริเวณให้มีความสวยงาม ซึ่งพนักงานของบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบเพื่อการพักผ่อนได้”

20161006_120937

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้มีกำลังการผลิตมากกว่าโรงงานเดิมประมาณ 5 เท่า และคาดว่าจะผลิตปุ๋ยได้สูงถึง 100,000 ตันต่อปี  รวมทั้งมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 100 % จากเดิม มีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยและเคมีเกษตร “ตราหัวคนป่า” ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ เน้นเกษตรกรกลุ่มพืชไร่ ข้าว ผักผลไม้ ยางและปาล์มเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนประมาณ 70% ทางด้านการส่งออกสินค้า ได้มีการส่งออกขายตามประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น เนื่องจากทางบริษัทต้องการให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพคงเดิม จนเล็งเห็นว่า ข้อจำกัดทางด้านโลจิสติกส์ อาจทำให้สินค้าที่ขนส่งออกไปนั้น ไม่ได้คุณภาพเช่นเดิม จึงเน้นไปที่การขายในประเทศมากกว่า

จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยิบอินซอยมุ่งเน้นการรักษาชื่อเสียงของบริษัทในฐานะพันธมิตรที่ดีของคู่ค้า ลูกค้าต่างมั่นใจในเครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้” ส่วนการเพิ่ม “ตราหัวคนป่า” ขึ้นเป็นแบรนด์น้องใหม่นั้น ก็เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและระดับบน ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มใหญ่และมีมูลค่าสูงกว่าที่เคยทำอยู่ แต่แผนการตลาดยังคงใช้รูปแบบเดิมคือเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ  และสร้างการรับรู้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องโดยผ่านตัวแทนจำหน่าย  มีการแนะนำการใช้ที่เหมาะสมให้ประโยชน์สูงสุดในพืชแต่ละประเภท ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้เครื่องหมายการค้า “ตราหัวคนป่า” ได้รับการตอบรับที่ดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว มีความยั่งยืนตามแนวทางที่เรายึดถือมาโดยตลอด

ก่อนจากกัน นายยุพธัช ได้กล่าวสรุปว่า “สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจปุ๋ยของเราก็คือ การสร้างความเข้าใจแก่คนทั่วไปว่า ปุ๋ยเคมี จริง ๆ แล้ว ก็คือปุ๋ยจากธรรมชาติ ที่มาผ่านกระบวนการหรือใช้สูตรทางเคมีเท่านั้น ไม่ใช่ปุ๋ยที่เป็นอันตรายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ”

20161006_120924

20161006_120911

20161006_120457

Previous articleE-Newsletter Vol.14
Next articleประกาศผลรางวัล Aga Khan Award For Architecture 2016 บริษัทสถาปนิกดังติดโผเพียบ
Builder News
กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News - ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่มาพร้อมกับการรับข่าวสารในรูปแบบใหม่ ทั้งจากสื่อออนไลน์ และโซเชี่ยลมีเดีย เว็บไซต์ Builder News จึงถือกำเนิดขึ้น แตกย่อยออกมานอกเหนือจากนิตยสาร Builder โดยเน้นนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร ที่มุ่งถึงกลุ่มผู้อ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น