สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัด กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมริเวอร์แคว จังหวัด กาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร ความรู้ การค้า การลงทุน ทรัพยากร โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงประชุม ระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐของไทยและพม่า และภาคเอกชนบางส่วน

โดยหัวข้อสัมมนา มีประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้

  • เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี กับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวแบบ MICE และการค้าการลงทุนหลังเปิด AEC
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี กับการเชื่อมโยงโลจิสติกส์
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี กับอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า ในหัวข้อ “ออกงานแสดงสินค้าอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ”

ซึ่งงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของ TCEB ที่ตั้งเป้าจะทำให้เกิดขึ้นในทุก ๆ จังหวัดที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ทั้งหมด 10 จังหวัด

สำหรับหัวข้อแรก “เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี กับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวแบบ MICE และการค้า การลงทุนหลังเปิด AEC” บรรยายโดย อ.เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC

MICE Tourism คือ การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ป ที่ประกอบด้วย
M – Meeting การประชุมองค์กร
I – Intensive การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลองค์กร
C – Convention การจัดประชุมนานาชาติ
E – Exhibition การจัดงานแสดงสินค้า

อ.เกษมสันต์ กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศที่ว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล และตัวเขาเอง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AEC ก็เปรียบประชาคมอาเซียนเสมือนเป็นเก้าอี้ 3 ขา ซึ่งประกอบไปด้วยเสาทั้งหมด 3 เสา เสาแรกคือ เสาเศรษฐกิจ ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กลมกลืนกันจนดูเหมือนไม่มีประเทศ ไม่มีพรมแดน สามารถนำเอาวัตถุดิบ เงินทอง และแรงงานที่มีฝีมือ เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เพื่อการแข่งขันกับต่างชาติ เสาที่สอง คือ เสาการเมือง และความมั่นคง ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ทุกประเทศในประชาคมอาเซียน รักและสามัคคีกัน มีความมั่นคงจนทำให้ประเทศอื่นไม่มารุกราน เสาสุดท้าย คือ เสาสังคมวัฒนธรรม มีหน้าที่ทำให้ประชากรในประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น มีหน้าที่ดูแลเรื่องที่ทั้งสองเสาแรกไม่ได้ดูแล เช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิ่งแวดล้อม และมีหน้าที่ดูแลให้ประเทศอีก 4 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม CIMB ได้แก่ กัมพูชา พม่า สปป.ลาว และเวียดนาม พัฒนาจนเจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับอีก 6 ประเทศ (ประเทศคู่ค้า 6 ประเทศ หรือที่้เรียกว่า อาเซียน บวก 6) ซึ่ง อ.เกษมสันต์ เห็นถึงความสำคัญของทั้ง 3 เสาเท่ากันทั้งหมด เปรียบเสมือนเก้าอี้ 3 ขา ที่หากขาดขาใดไป เก้าอี้ก็จะไม่สามารถใช้งาน หรือ ตั้งอยู่ได้อย่างแข็งแรง มั่นคง

อ.เกษมสันต์ กล่าวต่อไปว่า “ประชาคมอาเซียน มีลักษณะพิเศษก็คือ หากจะตกลงทำอะไรก็ตาม ทั้ง 10 ประเทศ ต้องเห็นพ้องต้องกัน และการที่นักลงทุนต่างแห่กันเข้ามาลงทุนในเขตอาเซียนก็เพราะมีคู่ค้าอีก 6 ประเทศ และมีข้อตกลงพิเศษที่ว่า หากเลือกมาลงทุนในอาเซียน และค้าขายกับ 6 ประเทศนี้ จะเสียภาษีในราคาถูก การส่งออกก็เป็นไปอย่างสะดวกสบาย ไม่มีเงื่อนไขมากมายมาจำกัด โดย 6 ประเทศที่ว่านี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หรือที่เรียกกันว่า ‘อาเซียน บวก 6’ ซึ่งเดิมทีกลุ่มประเทศอาเซียน มีประชากรกว่า 600 ล้านคน แต่เมื่อมารวมกันเป็นอาเซียนบวก 6 แล้ว ประชากรเพิ่มมากขึ้นจนมีจำนวนถึง 3,400 ล้านคน ขนาด GDP จากเดิมที่มีเพียง 80 ล้านล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 700 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน”

ก่อนจบการบรรยาย อ.เกษมสันต์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ในการทำธุรกิจ มีอยู่ 2 ตลาดที่ควรให้ความสนใจและไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ตลาดฮาลาล หรืออาหารสำหรับชาวมุสลิม เพราะเป็นตลาดที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่กลับถูกมองข้ามมาโดยตลอด รวมไปถึงตลาดผู้สูงอายุ ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ‘กลุ่มอาเซียน บวก 6’ จะมีประชากรผู้สูงอายุ หรือประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี จำนวนกว่า 800 ล้านคน”

ต่อมาเป็นการบรรยายในหัวข้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี กับการเชื่อมโยงโลจิสติกส์” โดย อ.บุญทรัพย์ พาณิชย์การ คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร

P8174858

โดยอาจารย์ เริ่มบรรยายด้วยการกล่าวถึง ความท้าทายทางด้านโลจิสติกส์ อันประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ดังนี้

  • Different Culture and Living Style หรือ ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตระหว่างคนไทยและลาว ที่แม้ว่าจะอยู่ใกล้กัน แต่กลับมีไลฟ์สไตล์ต่างกันโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น การตักบาตรของคนไทยและลาว นั้นแตกต่างกัน ชาวลาวจะมีความพิถีพิถัน ใส่ใจรายละเอียดมากกว่า ทั้งในเรื่องการแต่งกายหรือในด้านอื่น ๆ
  • Different Religions หรือ ความแตกต่างทางด้านศาสนา ที่แม้แต่คนในประเทศเดียวกันก็ยังนับถือศาสนาต่างกัน
  • The Internet and E-Business ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
  • Continued Regional and Globalization
  • Business Alliances หรือ ความร่วมมือทางธุรกิจ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า SMEs ดังนั้น การจะประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลายฝ่าย
  • Rapidly Changing Technology เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
  • Green Concerns การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ
  • Cross Border Trade การค้าชายแดน
  • Foreign Investment/MNC Operation การลงทุนหรือการทำธุรกิจกับต่างชาติ
  • Infrastructure Development Project โครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน หรือเมกะโปรเจคต่าง ๆ

นอกจากนี้ อ.บุญทรัพย์ ยังเล่าถึงการประเมินความสามารถด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลก ที่ประเมินความสามารถด้านโลจิสติกส์หรือดัชนีการให้บริการโลจิสติกส์ของโลก โดยมีประเทศที่ถูกประเมินทั้งสิ้น 150 กว่าประเทศ หัวข้อการประเมินมีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ พิธีศุลกากร โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การขนส่งระหว่างประเทศ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ เส้นทางและการติดตามสินค้า และสุดท้าย คือการประเมินในเรื่องเวลา จากคะแนนเต็ม 5 ไทย มีคะแนน3.32 ใกล้เคียงกับจีน แต่กลับเรียกได้ว่าคะแนนในด้านต่าง ๆ จากการประเมินลดลงมาก ทางด้านของจีนนั้น เป็นประเทศที่มีความหลากหลายของโลจิสติกส์มาก มีการเกิดขึ้นของการขนส่งทางรางที่ชัดเจนและผลักดันการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์โดยใช้การขนส่งทางราง

ถัดมาเป็นการบรรยายพิเศษ โดย คุณสานิท การุณยวนิช ผู้อำนวยการ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และคุณสิปปภาส มานวรนนท์ ตัวแทนสมาคมการแสดงสินค้าแห่งประเทศไทย เรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีกับอุตสาหกรรมแสดงสินค้า ในหัวข้อ “ออกงานแสดงสินค้าอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ”

งานแสดงสินค้า ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นอกจากผู้แสดงสินค้าจะได้โชว์ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ตนเองแล้ว ยังได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และผู้ประกอบการรายอื่น ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจด้วย โดย คุณสิปปภาส มานวรนนท์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานไว้ว่า “งานแสดงสินค้าคืองานที่มีกลุ่มผู้ขายมารวมตัวกันในสถานที่ที่หนึ่ง แล้วนำสิ่งที่ตนเองมีมานำเสนอให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยในงานนั้นจะมีคนมาเดินหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับออแกไนซ์เซอร์ หรือผู้จัดงาน ส่วนผู้ขายมีหน้าที่ในการทำอย่างไรก็ได้ให้มีคนมาซื้อของของตนเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่การนำสินค้าไปขายเพื่อหวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คือการไปเพื่อหาคู่เจรจาทางธุรกิจ เสียมากกว่า”

แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้มาเดินงานสนใจสินค้าในบูธของเรา? คุณสานิท การุณยวนิช กล่าวเพิ่มเติมว่า ” เมื่อออกงานแสดงสินค้า เราไม่ต้องเอาสินค้าไปโชว์เยอะ แต่โชว์อะไรที่มันโดน เพราะคนมาเดินงานจะตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีว่าอยากเข้าบูธไหน โดยดูจากสิ่งที่พวกเขาสนใจ ซึ่งก็คือ Display ของบูธ ที่เป็นหัวใจในการสร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้า ผู้ออกแบบบูธจะต้องสร้างเรื่องราวให้ตัวสินค้าดูน่าสนใจ จนผู้ซื้อมีความรู้สึกร่วมกับตัวผลิตภัณฑ์ อยากกิน อยากใช้ สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ข้อความโฆษณาสินค้า ควรเขียนสั้น ๆ ให้พอจับใจความได้ว่าสินค้านี้คืออะไร ดีอย่างไร พิเศษแตกต่างจากบูธอื่นอย่างไร นอกจากนี้ แสงและสีที่ใช้ในบูธก็มีความจำเป็นเช่นกัน อาจจะใช้ไฟช่วยส่องป้ายร้าน ส่องตัวอักษรที่ต้องการให้มันเด่นขึ้นมา ซึ่งคำที่ผู้ซื้อเห็นแล้วอยากเดินเข้าไปชมสินค้าในบูธนั้น ๆ มากที่สุดคือคำว่า ใหม่, ถูก และ โปรโมชั่น ”

“สิ่งที่ผู้จัดงานแสดงสินค้าจะละเลยไม่ได้เลยก็คือ ตารางเวลาของการออกงาน ต้องทำให้เกิดขึ้นอยู่ในช่วงเดียวกันสม่ำเสมอในแต่ละปี เพื่อสร้างการจดจำให้คนรู้ว่าช่วงเดือนนี้ของปีนี้จะมีงานใดเกิดขึ้นบ้าง” วิทยากรทั้งสองกล่าวสรุป

P8174808

Previous articleสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานทุกชิ้น คือหัวใจหลักในการทำงาน
Next article‘แผ่นดินไหว’ ตรวจสอบอะไรได้บ้าง?
Builder News
กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News - ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่มาพร้อมกับการรับข่าวสารในรูปแบบใหม่ ทั้งจากสื่อออนไลน์ และโซเชี่ยลมีเดีย เว็บไซต์ Builder News จึงถือกำเนิดขึ้น แตกย่อยออกมานอกเหนือจากนิตยสาร Builder โดยเน้นนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร ที่มุ่งถึงกลุ่มผู้อ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น