ช่วงนี้เศรษฐกิจแบบนี้ราคาของกินของใช้แพงไปหมด ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีดราม่าเรื่องราคาไข่ไปเยอะ แต่ BuilderNews อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากการเครียดเรื่องทำเมนูไข่หรือราคาไข่ มาเป็นการส่องสถาปัตยกรรมทรง “ไข่” ที่เห็นแล้วก็กินไม่ได้ แต่อิ่มใจกับดีไซน์แทน

ลองมาดูสถาปัตยกรรม 6 ไข่ 6 รูปแบบจาก 6 ประเทศเหล่านี้ พวกเราถูกใจหลังไหนกันบ้าง

 

Albang ประเทศเกาหลีใต้ ออกแบบโดย Yoon Space Design

เริ่มต้นที่สถาปัตยกรรมกระท่อมไข่ทรงนอนเค้เก้ใบนี้ ทำจากบล๊อกพอลิสไตรีน นำมาตัดให้เป็นทรงไข่ ตั้งอยู่ริมชายหาด ด้วยวัสดุที่เบาทำให้ความพิเศษของกระท่อมหลังนี้อยู่ที่สามารถเคลื่อนย้ายจากหาดหนึ่งสู่อีกหาดหนึ่งได้อย่างสบาย ๆ

นอกจากนี้กระท่อมไข่แต่ละหลังยังออกแบบมาให้คงทน จากการวางบนฐานโพเดียมขนาดเล็ก มีกระจกทรงกลม 2 บานเพื่อให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบนอกได้ ส่วนประตูเป็นการเปิดแบบยกขึ้น หลายหลายสีสัน ให้สไตล์กระท่อมพักตากอากาศแบบมินิมัลลงตัว เหมาะฟังเสียงคลื่นและชมท้องฟ้าสีครามได้โดยไม่ต้องรับ UV เผาผิวให้เกรียม

 

หอดูนก Tij ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกแบบโดย RAU Architects

หอดูนกรูปร่างเฉพาะตัวคล้ายไข่ของนกนางนวลประเทศเนเธอแลนด์หลังนี้ ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Scheelhoek รูปร่างของหอดูนกทรงไข่นี้ไม่เพียงสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมภายนอก ทว่าการตกแต่งยังเลือกใช้ต้นกกมามุงด้านบนและล้อมรั้ว แต่อีกเหตุผลที่น่าสนใจต่อการเลือกนำ “ไข่” มาสร้างสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์คือ นกนางนวลเป็นหนึ่งในสายพันธ์นกที่อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้อีกด้วย

 

Ecocapsule ประเทศสโลวาเกีย ออกแบบโดย Nice Architects

สถาปัตยกรรมทรงไข่หลังที่สามนี้อยู่ที่สโลวาเกีย รูปลักษณ์การออกแบบมีความโมเดิร์น โดยมีวัตถุประสงค์การสร้างต้องการจัดทำเป็นบ้านหลังเล็กที่สามารถขนส่งผ่านเฮลิคอปเคอร์ได้ นำไปหย่อนที่ไหนก็สะดวกแก่การลงรากปักฐาน

บ้านขนาดกระทัดรัดหลังนี้สามารถอยู่ได้ 2 คนสบาย ๆ  ตัวบ้านเตรียมพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบายพึ่งการสร้างพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์และพลังงานลม เพื่อสนับสนุนการสร้าง off-grid living หรือการใช้ชีวิตโดยไม่ขึ้นกับน้ำระบบสาธารณูปโภคของประเทศ

 

 Daedalum สหราชอาณาจักร ออกแบบโดย Architects of Ai

ไข่ทรงโดมที่ด้านในมีช่องให้สามารถเดินลุทะลุถึงกันคล้ายเขาวงกตแห่งนี้ถึง 19 ห้อง แต่ละห้องออกแบบให้มีลักษณะเป็นห้อง interactive ติดตั้งไฟสี ๆ และเสียงเพลงประกอบคลอตลอดทางเพื่อสร้างความน่าสนใจ ประสบการณ์เปิดประสาทสัมผัสที่ทำให้ใครหลายคนอยากเข้าไปเยี่ยมชมให้เต็มอิ่มแบบนี้สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dezeen.com/2019/06/25/inflatable-architecture-maze-architects-of-air-daedalum/

 

Seeds ประเทศอังกฤษ ออกแบบโดย Karl Lenton

สำหรับไข่ใบที่ห้าหลังนี้ ออกแบบให้เป็นทรงไข่ผสมผสานกับรูปทรงเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ส่วนตัว และเป็นพื้นที่บำบัดให้กับนักโทษเรือนจำ

ด้านการออกแบบตกแต่งดีไซเนอร์ได้ออกแบบมาให้เป็น 8 ชิ้นส่วนที่สามารถประกอบเข้าด้วยกันได้ภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง สไตล์การติดตั้งใช้รูปแบบเสียบสลักที่ไม่ใช้สกรู จึงเป็นข้อดีด้านการเคลื่อนย้าย แถมยังติดตั้งฝังพลาสติกกันเสียงเข้าไปเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก

เมื่อใดที่ต้องการพื้นที่สงบ การมีไข่ใบนี้จะเป็นเครื่องเยียวยาหัวใจให้นักโทษผ่อนคลายจากความเครียดด้วยการเข้าไป นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นในนี้ได้

 

 Solar Egg ประเทศสวีเดน ออกแบบโดย Bigert & Bergström

สถาปัตยกรรมซาวน่าทรงไข่ยักษ์สีทองจุคนได้ถึง 8 คนแห่งนี้ เหมือนไข่ห่านทองคำแต่มีเหลี่ยมมุมสร้างประกายล้อแดด สร้างขึ้นโดยตั้งใจให้ผู้คนใน Kiruna รู้สึกดีขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่น ด้านนอกต่อบันไดให้สามารถปีนเข้าด้านในได้

เจ้า Solar Egg แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กลางแจ้ง ยามเมื่อหิมะปกคลุมสร้างความหนาวเย็น พื้นที่นี้จะช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้ทุกคนได้ และกระชับสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยในห้องซาวน่าแห่งนี้

เห็นไหมว่า อาคารและการปลูกสร้างไม่จำเป็นต้องจำกัดด้วยขนาดและรูปทรงเดิมเสมอไป หากตั้งอยู่ที่ความเหมาะสมและจุดประสงค์ของการสร้างที่ตอบโจทย์การใช้งาน แล้วพวกเราล่ะ อยากเข้าไปอยู่ในไข่ใบไหนกันบ้าง

 

อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล

Eight egg-shaped buildings from around the world

Previous articleง่าย ๆ แต่ใช้งานได้จริง Face shield จากแผ่นพลาสติกชิ้นเดียว ใส่ง่าย
ใช้เวลาประกอบเพียง 10 วินาที
Next articleดีวันซิสเต็ม ร่วมใจทำหน้ากาก Face Shield แจก รพ. สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สู้โควิด-19