ตอนเด็ก ๆ เราเคยได้ยินนิทานเรื่องลูกหมู 3 ตัว หมูสร้างบ้านด้วยฟาง ไม้ และอิฐ ตามท้องเรื่องนิทานบอกเราว่า บ้านฟางหมาป่าใช้เวลาไม่นานก็เป่ากระจุยแล้วเป็นหลังแรก และบ้านที่ทนที่สุดคือบ้านที่สร้างจาก อิฐแต่ใช่ว่าฟางจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวจนไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสร้างบ้านได้

บ้านฟางไม่ดีจริงไหม ทำไมภูมิปัญญาการสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติของไทยถึงนิยมใช้ดินมากกว่าฟาง เหตุผลทั้งหมดนี้ BuilderNews จะอธิบายให้ฟัง

ฟางมาจากไหน?

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า “ฟาง” คือผลผลิตของเกษตรส่วนไหน คำตอบคือฟางที่เราเห็นเป็นเส้น ๆ เหล่านี้คือลำต้นแห้งที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวข้าวหรือข้าวสาลี เดิมนิยมทำลายด้วยการเผา แต่ต่อมาจากความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม คนจึงนำลำต้นข้าวแห้งเหล่านี้ไปบดและอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมและใช้ประโยชน์ด้านอื่นแทน

การบีบอัดฟางเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ส่วนหนึ่งมาจากการประหยัดพื้นที่ด้านการขนส่ง อีกส่วนคือฟางก้อนเหล่านี้คนนิยมนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ต่อหรือไม่ก็นำไปตกแต่งเป็นเก้าอี้นั่งตามงานต่าง ๆ ที่มีรูปแบบคันทรีนิด ๆ พอวางกองฟางก็เสริมบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น เป็นต้น

ฟางกับการสร้างบ้าน

ถ้าบอกว่าสร้างบ้านด้วยฟางและดูจากภาพเหล่านี้ มองเผิน ๆ แล้วอาจจะรู้สึกเหมือนนำก้อนฟางเข้าบล็อกแล้วเรียงแบบง่าย ๆ แต่ความจริงถ้าเราตั้งใจนำฟางมาใช้เป็นวัสดุเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยจำเป็นจะต้องอาศัยเทคนิคอื่นเข้าช่วยเพื่อสร้างความแข็งแรง เรายังไม่รู้ชื่อเรียกของเทคนิคนี้ในไทย แต่สำหรับในต่างประเทศเขาเรียกว่า “Nebraska style” โดยเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่นิยมในศตวรรษที่ 19 ของสหรัฐอเมริกามาใช้

Nebraska คือรูปแบบการสร้างบ้านจากฟางที่ใช้ฟางเป็นฉนวนกำแพงและส่วนต่าง ๆ ของบ้านแทนคอนกรีต มีการสร้างโครง สร้างฐาน สร้างวงกบ แล้วใส่ฟางเข้าไป แต่ก็เพิ่มดีเทลจากการใส่เสาไม้ด้านในฟางเพื่อความแน่นหนา จากนั้นนำมาฉาบด้วยดินหรือซีเมนต์เพื่อความแข็งแรงก่อนทาสีตกแต่ง ดังนั้น บ้านที่สร้างด้วยฟางจึงไม่ได้โดนลมเป่ากระเด็นง่าย ๆ เหมือนในนิทานอย่างที่เข้าใจ

ที่สำคัญข้อดีของการใช้ฟางเป็นวัสดุก่อสร้างตามส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้าน คือ ฟางมีคุณสมบัติในฐานะฉนวนที่สามารถกันความร้อน ถ่ายเทอุณหภูมิได้ดี บ้านที่สร้างด้วยฟางส่วนใหญ่จะเย็นและประหยัดพลังงานที่ใช้สำหรับกันความร้อนและเพิ่มความเย็นให้ตัวบ้านได้ถึง 75% นอกจากนี้ยังดูดซับเสียงได้ด้วย และด้วยความเป็นวัสดุจากธรรมชาติ เมื่อเสื่อมสภาพก็สามารถคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% แต่ขณะเดียวกันมีข้อด้อยคือปัญหาเรื่องการดูดน้ำของฟาง ดังนั้น ถ้าก่อสร้างก็ต้องมั่นใจอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่

  1. ฟางที่นำมาสร้างต้องเป็นก้อนฟางที่แห้งสนิทแล้ว ไร้ความชื้น ป้องกันปัญหาเรื่องเชื้อรา
  2. ต้องก่อสร้างบ้านในบริเวณน้ำท่วมไม่ถึงโดยยกฐานหรือพื้นสูงเหนือน้ำ โดยอย่างต่ำฐานต้องสูงจากพื้นราว 20 ซม. เหตุเพราะถ้าน้ำท่วมบ้าน ฟางจะซับน้ำจนเน่าและทำให้โครงสร้างเสียหาย ทว่าสำหรับเรื่องน้ำฝน ตราบเท่าที่มีการฉาบรอบข้างบ้านและน้ำไม่สามารถแทรกเข้าถึงเนื้อในของบ้านได้ บ้านก็ไม่เสียหายอย่างแน่นอน

จากเหตุผลข้อ 2 ทุกคนน่าจะมองออกแล้วว่าทำไมบ้านสไตล์นี้ถึงนิยมสร้างทางตะวันตก แต่กลับไม่ค่อยแพร่หลายในไทย นั่นส่วนหนึ่งเพราะภูมิปัญญาการสร้างบ้านฟางไม่เหมาะกับภูมิศาสตร์บ้านเรา บ้านเราพื้นที่บริเวณภาคกลางที่นิยมปลูกข้าว ฟางเยอะ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ บ้านที่เรามีจึงนิยมสร้างบ้านไม้ใต้ถุนสูงแทน

ทว่าทุกวันนี้ถ้าใครคิดจะใช้วิธีนี้ก็ทำได้ เพราะเรามีวิทยาการก่อสร้างที่พัฒนามากขึ้น การสร้างฐานบ้านให้สูงก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอีกต่อไป ใครอยากจะใช้วิธีนี้สร้างบ้านสักหลัง ด้วยต้นทุนที่ต่ำหน่อยก็ถือว่าน่าสนใจ แต่แนะนำว่าควรจะเป็นบ้านชนบทหรือบ้านชานเมืองบริเวณที่สามารถหา “ฟาง” เหล่านี้มาได้ง่าย ๆ เพราะการสร้างบ้านด้วยวัสดุออร์แกนิคแบบนี้จะได้ไม่สร้างมลพิษจากการขนส่ง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้พื้นที่นั้น ๆ ด้วย

จะดีแค่ไหน ถ้าบ้านที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมสามารถนำสิ่งเหลือจากภาคการเกษตรอย่างฟางมาใช้ประโยชน์ต่อได้ สร้างเป็นโรงเรือนหรือบ้านสไตล์ชิค ๆ สักหลัง หรืออาจจะสร้างเป็นคาเฟ่บ้านฟางในพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ตนเองและชุมชนด้วยต้นทุนการผลิตที่ย่อมเยาลงอีกทาง

ใครคิดจะใช้ไอเดียนี้ ลองไปทำดูกันได้ ทุกวัสดุมีเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่าลืมเรียนรู้ก่อนสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ นะ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.archdaily.com/945267/straw-bales-building-efficient-walls-with-agricultural-waste

https://www.finehomebuilding.com/2018/10/10/houses-design-case-straw-bale-houses

Previous articleสภาวิศวกร คิกออฟ “พ็อคเก็ต พาร์ค” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ของขวัญชุมชนคลองเตย พร้อมปักธงสร้างความเปลี่ยนแปลง–ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
Next articleศุภาลัย เจาะตลาด EEC ต่อเนื่อง เปิด “ศุภาลัย วิลล์ ศรีราชา-บ่อวิน” Pre-Sales 29-30 ส.ค. 63 นี้