ตอนเห็นบ้านหลังนี้ แวบแรกคงนึกถึงสถาปัตยกรรมของ ช่างชุ่ยที่อยู่บนถนนเส้นบรมราชชนนีในบ้านเราเกือบจะทันทีเพราะรูปทรงแปลกตาคล้าย ๆ กัน แม้ว่าจะต่างจากช่างชุ่ยตรงที่วัสดุหลักยังเป็นไม้ เป็นปูน ไม่ใช่สังกะสี และไม่มีเครื่องบินปลดประจำการมาจอดไว้ในพื้นที่ก็ตาม

เมื่อไอเดียยิ่งแปลกเท่าไหร่ แปลว่ามีโอกาสได้เห็นความท้าทายของสถาปนิกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไปค้นคว้าหาข้อมูลและที่มาของการออกแบบบ้านหลังนี้เพื่อนำมาแบ่งปัน

Vegan House คือชื่อของตึกแถวขนาดพื้นที่ใช้สอย 60 ตารางเมตรที่ตั้งอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ออกแบบโดย Block Architects กลุ่มสถาปนิกที่ใช้วิธีห่ออาคารทั้งหลังตั้งแต่หน้าบ้านจรดหลังคาด้วยหน้าต่างและประตูบานเกล็ดเก่าที่นำมาทาสีใหม่ เรียงต่อกัน

แรงบันดาลใจของการออกแบบที่เลือกนำหน้าต่างหลายบานมาต่อกัน เป็นการตีโจทย์ของสถาปนิกที่ต้องการนำเสนอบ้านซึ่งผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมกับชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ตอบโจทย์หน้าที่ของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเจ้าของบ้านตั้งใจให้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ แบ่งปันและปรุงอาหารสไตล์เวียดนามแบบดั้งเดิมร่วมกัน โดยเฉพาะอาหารประเภทวีแกนหรือมังสวิรัติ ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออาคาร “Vegan House”

อาหารดั้งเดิมของเวียดนามควรคู่กับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของเวียดนาม หน้าต่างบานเกล็ดโบราณเหล่านี้จึงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตย์ดั้งเดิมและกลายเป็นองค์ประกอบหลักของอาคาร แต่ถูกนำมาปรับโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น ด้วยการทาสีสันให้สดใสวางเรียงต่อกันให้แปลกตา เสน่ห์ของอาคารหลังนี้จึงเป็นความโดดเด่นแต่ยังกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง

สำหรับหน้าต่างบานเกล็ด หรือที่คำศัพท์ทางสถาปัตย์เรียกว่า Jalousie Window ที่เป็นหัวใจสำคัญของ Vegan House เป็นหนึ่งในรูปแบบของหน้าต่างบ้านชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเราอยู่ในเขตร้อนชื้น โดยครั้งหนึ่งหน้าต่างประเภทนี้เคยถือกำเนิดในฐานะนวัตกรรมจากภูมิปัญญา ออกแบบมาให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทั้งการปรับองศาเพื่อควบคุมปริมาณลมและแสงที่จะผ่านเข้ามาในตัวบ้านตามความพอใจ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้ด้วย

แม้ว่าหน้าต่างบานเกล็ด (Jalousie window) จะเป็นรูปแบบหน้าต่างที่ใช้งานในเวียดนามและบ้านเรามาช้านาน แต่นับวันเรากลับมีโอกาสเห็นน้อยลง เพราะเมื่อติดเครื่องปรับอากาศในบ้าน ส่วนใหญ่หน้าต่างของบ้านมักจะปรับเป็นกระจกมากกว่า ดังนั้น การออกแบบบ้านหลังนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์ ผสมผสานมรดกการออกแบบสถาปัตยกรรมเดิมให้มีลมหายใจต่อร่วมสมัยกับปัจจุบัน

หน้าต่างใน Vegan House บางบานอาจทำหน้าที่เสมือนของตกแต่ง ไม่สามารถเปิดได้ แต่หลายบานก็ยังสามารถเปิด-ปิดเพื่อใช้งานได้ตามปกติ โดยเฉพาะหน้าต่างช่วงด้านข้างของบ้านที่ยังได้รับการออกแบบให้เปิดเพื่อใช้พื้นที่ส่วนระเบียงสำหรับปลูกต้นไม้ หรือโซนดาดฟ้าที่เปิดเป็นช่องเพื่อให้กิ่งก้านของต้นไม้แทงออกไปเติบโตรับแสงแดดนอกอาคารแบบไม่มีสิ่งกั้นขวาง

นอกจากการตกแต่งภายนอกแล้ว ภายในบ้านสถาปนิกยังนำเสนอการใช้ประตูบานเกล็ดเพื่อเป็นพาร์ติชันแบ่งพื้นที่ระหว่างห้องต่าง ๆ ในบ้านให้เป็นสัดส่วน ส่วนบริเวณพื้นคืออีกจุดที่เป็นเอกลักษณ์น่าจดจำไม่ต่างจากด้านนอก เพราะพื้นชั้นล่างสุดปูตกแต่งด้วยกระเบื้องต่างสีต่างลวดลาย ทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราวของมิตรภาพและความเกื้อกูลเพราะเป็นวัสดุที่เจ้าของบ้านได้รับบริจาคมาอีกทอดจากเพื่อนและลูกค้าผู้มาเยือน จึงนำมาซ่อมแซมและผสมผสานกับพื้นกระเบื้องดั้งเดิมของอาคาร

แล้วหน้าต่างจำนวนมากเหล่านี้มาจากไหน?

เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มตั้งคำถามในใจและคงคิดว่าถ้าเราต้องการเนรมิตบ้านสักหลังแบบนี้ด้วยการหาของแอนทีคมาตกแต่ง อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเพราะใช้งบเยอะ แต่จุดนี้สถาปนิกได้คุยกับเจ้าของบ้านแล้วก่อนการรีโนเวต ทั้งเรื่องคอนเซปต์การนำเสนอและวัสดุที่เหมาะสมกับงบประมาณซึ่งมีอยู่จำกัด

หน้าต่างที่นำมาใช้เหล่านี้จึงเป็นหน้าต่าง reuse ทั้งหมด โดยเป็นหนึ่งในบรรดาของสะสมของเจ้าของบ้าน เช่นเดียวกันกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านหลาย ๆ ชิ้นที่ตั้งอยู่ในอาคาร ล้วนเป็นของเก่า ไม่ต้องใช้จ่ายใหม่ทั้งนั้น

ปิดท้ายเพื่อให้เห็นภาพของคอนเซปต์ “การผสมผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่” ที่สถาปนิกวางไว้ให้ชัดยิ่งขึ้น อยากให้ลองดูโครงบ้านก่อนนำมารีโนเวตเพื่อเทียบกันอีกครั้ง สังเกตแล้วจะเห็นชัดเลยว่าสถาปนิกยังคงเก็บโครงสร้างบ้าน กำแพง บันไดของอาคารแบบเดิมไว้ แต่ใช้วิธีผสมผสานของใหม่เข้าไปเพื่อให้ตัวอาคารดูทันสมัยขึ้นเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สำหรับใครที่อยากเห็นของจริง แนะนำว่าการเดินทางไปต่างประเทศควรชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าอยากเห็นคอนเซปต์ที่ใกล้เคียงกันสามารถลองแวะไปดูที่ช่างชุ่ยก่อนได้ เพราะเป็นโมเดลที่สถาปนิกเลือกเล่าคอนเซปต์คล้ายกัน นำวัสดุที่เคยอยู่ในรุ่นปู่ย่าตายายมาสร้างใหม่ให้ร่วมสมัย และยังเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 100 สถานที่ที่ดีที่สุดในโลก (World’s Greatest Places) ในนิตยสารไทม์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

 

Photography is by Quang Tran.

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.archdaily.com/641621/vegan-house-block-architects

https://www.dezeen.com/2015/06/19/facade-colourful-shutters-allows-light-wind-into-block-architects-vegan-house-ho-chi-minh-city-district-3-vietnam/

Vietnam’s Vegan House is covered from top to bottom in vibrantly painted shutters

‘ช่างชุ่ย’ ติด 1 ใน 100 สถานที่ดีที่สุดของโลก จากนิตยสารไทม์

Previous articleกระทรวงพลังงาน จับมือ กระทรวง อว. กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา หนุนใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ
Next article“ท่าเรือประจวบ” พลิกโฉมพื้นที่ทำงาน Co-working space