“เพราะฟังก์ชันการใช้งาน เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบ” ประโยคนี้ เป็นคำพูดของ “คุณสมชาย จงแสง” ผู้ก่อตั้ง Deca Atelier หนึ่งในนักออกแบบที่หลายคนในวงการดีไซน์รู้จัก ในฐานะดีไซน์เนอร์แถวหน้าแนวโมเดิร์น ทั้งงานอินทีเรียและงานด้านสถาปัตยกรรม

แต่สำหรับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ เราไม่ได้มาคุยเรื่องดีไซน์ อาคารบ้านเรือนทั่ว ๆ ไป แต่จะมาเจาะลึกถึงโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “อาคารธรรมาศรม เสถียรธรรมสถาน” ที่คุณสมชายบอกกับเราว่า เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ทำแล้วรู้สึกอิ่มใจมาก ๆ รวมถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบ พุทธศาสนสถาน

เพราะโอกาสเข้ามาหาเราได้ หลากหลายรูปแบบ

เริ่มแรกเราได้โปรเจกต์ออกแบบ ธรรมสภา ซึ่งมาจากลูกค้าที่เราเคยทำงานให้มาก่อน เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือน และใช้เป็นที่สวดมนต์ นั่งภาวนากลางแจ้งอยู่ในป่า ที่ จ. ลำพูน ตอนนั้นเราออกแบบมาในรูปแบบสมัยใหม่ ไม่มีลวดลาย ไม่มีสีทองอร่าม เหมือนวัดที่คนส่วนใหญ่จะมีภาพจำแบบนั้น แต่เราใช้การตีความใหม่ ตีความจากความต้องการ สู่การออกแบบที่เป็นรูปธรรม เน้นฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก

ซึ่งสถานที่ที่เราออกแบบเป็นวัดป่าด้วย ดังนั้นการตีความจึงปราศจากการตกแต่งต่าง ๆ เพื่อละจากสิ่งปรุงแต่ง พอเรานำเสนอกับพระอาจารย์ ท่านก็ยอมรับในสิ่งที่เรานำเสนอ จนเกิดเป็นการออกแบบงานแรกที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ เช่น เจดีย์พระมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

อนุสรณ์สถานเจดีย์ พระมงคลกิตติธาดา
อนุสรณ์สถานเจดีย์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร
ศาลาอุโบสถ ดอยม่อนนครธรรม นางจามเทวี

หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสได้ออกแบบ อาคารธรรมาศรม ที่เสถียรธรรมสถาน ซึ่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเดิมเสถียรธรรมสถานมีพื้นที่เพื่อให้ผู้มาร่วมกิจกรรมได้พักอาศัยค่อนข้างจำกัด บางกิจกรรมมีผู้คนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องการที่พักรับรอง แต่เนื่องจากพื้นที่พักอาศัยไม่เพียงพอ ทำให้บางคนพลาดโอกาสในการทำกิจกรรม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการออกแบบอาคารธรรมาศรม เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมหรือมาร่วมกิจกรรมที่เสถียรธรรมสถานแห่งนี้

“สุขง่าย ใช้น้อย” โจทย์ความต้องการที่เรียบง่าย แต่ท้าทายในการออกแบบ

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำโปรเจกต์นี้คือ พักหลัง ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ป่วยกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอาการป่วยทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น ผู้คนจึงโหยหาสถานที่พักพิงจิตใจ คือพวกเขาไม่ได้ป่วยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ได้ต้องการปรึกษาจิตแพทย์ ไม่ได้หนักถึงขนาดต้องหาพระ รวมถึงผู้สูงอายุที่ลูกหลานจะพาไปบ้านพักคนชรา แต่บางคนยังแข็งแรงอยู่ ไม่ได้ป่วยติดเตียงหรือต้องนั่งรถเข็น แต่เขาอยากอยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยกำลังใจ อาคารธรรมาศรมจึงเป็นพื้นที่รวบรวมคนหลาย ๆ ช่วงอายุไว้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมุมมองสำหรับคนต่างวัย

ตัวอาคารธรรมาศรมจึงสามารถรับรองผู้ที่เข้ามาทำกิจกรรมได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น โดยหัวใจหลักในการออกแบบธรรมาศรมคือ “สุขง่าย ใช้น้อย” การออกแบบจะต้องเน้นความประหยัด ประหยัดในเรื่องของการใช้พลังงาน ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ คือที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะค่อนข้างร้อน วิธีแก้ปัญหาคือการติดแอร์ ช่วยคลายร้อน แต่มันจะไม่ประหยัดเรื่องค่าไฟ ความท้าทายของ “สุขง่าย ใช้น้อย” คือเราจะออกแบบยังไงให้อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้แอร์ ต้องประหยัด ต้องดูแลบำรุงรักษาง่าย คือไม่ต้องมาปัดกวาดใบไม้บ่อย ๆ เพราะบุคลากรค่อนข้างจำกัด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดตั้งแต่การออกแบบ

การทำให้อาคารไม่ร้อน อย่างแรกเลยคืออย่าให้แดดมันเข้า เพราะแดดมันจะมาพร้อมความร้อน แต่แดดก็มีประโยชน์ในเรื่องแสงสว่าง ดังนั้นเราจึงต้องวางแนวทางการออกแบบอย่างเปลือกอาคารที่มีช่องลมจำนวนมาก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเปลือกอาคารยังทำหน้าที่ป้องกันแสงไม่ให้มากระทบตัวอาคาร ในขณะเดียวกันก็ยังมีแสงเล็ดลอดออกมาเพื่อช่วยในเรื่องแสงสว่างด้วย และเนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัย ก็หลีกเลี่ยงเรื่องของการตากผ้าไม่ได้ เวลาที่ผู้เข้าพักทำกิจกรรมหลายวัน ก็ต้องมีการซักผ้า ตากผ้า เจ้าเปลือกอาคารอันนี้ก็ช่วยในการบดบังสายตาด้วย

ดีไซน์ของเปลือกอาคาร ได้คำแนะนำจาก แม่ชีศันสนีย์ ให้ออกแบบเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับ อาคารธรรมาศรม เราได้ชวนพี่ ๆ น้อง ๆ นักออกแบบที่สนิท เช่น คุณจรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์, คุณกรกต อารมณ์ดี แล้วก็คนอื่น ๆ รวม 8 คน ก็มาออกแบบอิฐบล็อกกันคนละลาย เราอยากให้บล็อคเหล่านี้ เป็นตัวแทนของงาน Man-Made เป็นงานมนุษย์ทำ ไม่ใช่งานที่มาจากอุตสาหกรรม ก็จะมีลวดลายที่สื่อถึงความเป็นแม่ แต่ละคนก็จะตีความไปคนละแบบ เช่น ดอกมะลิ, ชีพจรของลูกที่เต้นอยู่ในท้อง ฯลฯ แล้วนำเอาบล็อกของแต่ละคนมารวม ๆ กัน

“พุทธศาสนสถาน อาคาร ที่อยู่อาศัย” ความแตกต่างที่เหมือนกัน

การออกแบบไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับโจทย์ที่เราได้รับ หลัก ๆ ก็เหมือนกัน โจทย์คืออะไร? ออกแบบให้ใครใช้? งบประมาณเท่าไหร่? เพียงแต่ว่าการที่เรานำไปใช้ มันเหมาะสมกับโจทย์ที่เราได้รับมากน้อยแค่ไหน อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการคิด อย่างธุรกิจ ที่ออกแบบสำนักงาน, โรงแรม, บ้านพัก มันก็ไม่หนีกันเท่าไหร่ อยู่ที่ผู้ใช้งานคือใคร จะตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างไร ภาพลักษณ์ของการออกแบบสะท้อนโปรเจกต์นั้นมากน้อยแค่ไหน อย่าง ธรรมาศรม เราทำด้วยจิตอาสาไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้อีกอย่างหนึ่งคือ การร่วมแรงร่วมใจของนักออกแบบหลายคนที่มีจิตอาสา ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็จะไม่ค่อยพบเจอในเรื่องธุรกิจเท่าไหร่นัก

งานเลือกคน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

เราคิดว่าเราไม่ได้เลือกงาน แต่งานเลือกเรามากกว่า มันเป็นช่วงจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ประจวบเหมาะกับการที่เราได้ไปอยู่ในจุดนั้นด้วย เราเลยเลือกทำ ไม่ใช่แค่ที่ ธรรมาศรมนะ ที่อื่นก็เหมือนกัน งานไม่มีผลตอบแทน แต่เราได้ทำมันด้วยจิตบริสุทธิ์ และงานที่เราทำมันก็ออกมาในสไตล์สมัยใหม่

“งานธุรกิจ เมื่อสร้างเสร็จ สิ่งที่ได้คือความภูมิใจ ภูมิใจที่มีคนพูดถึง ได้ลงหนังสือ
แต่งานพุทธศาสนา เมื่องานเสร็จ สิ่งที่ได้คือความอิ่มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสถานที่
เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน”

ร่วมค้นหาความหมายและคำตอบของการออกแบบวัดในแบบฉบับสุขง่าย ใช้น้อย ของ คุณสมชาย จงแสง ในวันพุธที่ 23 กันยายน เวลา 13.30 – 14.30 น. ผ่านช่องทาง

Facebook Live: ACT Forum

Youtube: https://bit.ly/33XliqO

Froglive: Froglive.tv/actforum

นอกจากนี้ยังสามารถมาพบไอเดียเพื่อ “ปันสุข” จากสถาปนิกทุกสาขาได้ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้แล้วที่ Pre-Registration

Previous articleก้าวไปอีกขั้น กับ “แบตเตอรี่ XGT®” นวัตกรรมสุดล้ำเพื่อเครื่องมือช่างไร้สายจาก Makita ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built
Next articleกรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 แล้วเสร็จ ชูเป็นต้นแบบของโครงการในช่วงต่อๆไป
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ