เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศผลรางวัลการประกวด “Asia Young Designer Awards” ซึ่งเป็นเวทีประกวดที่ทำให้นักออกแบบทั้งด้านสถาปัตยกรรมหลักและการออกแบบภายในสามารถสร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ในฐานะผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยผู้ชนะรางวัลด้านสถาปัตยกรรมในปีนี้ได้แก่ “นาย ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา (ต่อ)” นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของโปรเจกต์ “Illegal Settlement in Chiang Mai”

และผู้ชนะเลิศด้าน Interior Design ได้แก่ “นางสาว ทรวงชนก วงศ์พลกฤต (พราว)” จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในโปรเจกต์ “Melodium”

นอกจากนี้ผู้ชนะทั้ง 2 สาขาจะได้ไปประกวดบนเวที “Asia Designer Summit” ในระดับนานาชาติซึ่งเป็นการแข่งกับอีก 15 ประเทศทั่วโลก และผู้ชนะจะได้รับ Design Discovery Program จากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Harvard’s Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

BuilderNews จึงพาทุกคนไปร่วมส่องแนวคิดและแรงบันดาลใจของทั้ง 2 ท่านในการออกแบบโปรเจกต์ครั้งนี้ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณณรงค์ฤทธิ์ มาลัยนวล” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำความรู้จักโครงการนี้และบทบาทสำคัญของนิปปอนเพนต์ ในการผลักดันนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้แสดงความสามารถที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อก้าวเข้าสู่วงการนักออกแบบมืออาชีพต่อไป

“คุณณรงค์ฤทธิ์ มาลัยนวล” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

Humancentered Design” การออกแบบที่คำนึงถึง “มนุษย์” ในฐานะผู้ใช้งานจริง

คุณณรงค์ฤทธิ์บอกกับเราว่าอันที่จริงในทุกปีจะเน้นไปที่การออกแบบที่ยั่งยืน มองไปที่บุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ว่าในงานออกแบบจะตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่เขามีในการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้นอย่างไร ซึ่งปีนี้เน้นคนเป็นศูนย์กลางเพราะปัญหาเกิดขึ้นเยอะมากทั้งฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม โควิด-19 ฯลฯ จึงต้องการให้นักออกแบบได้คำนึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคต

คอนเซปต์การออกแบบในปีนี้จึงเน้น “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง เน้นฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยมากที่สุด จากเดิมที่การออกแบบต้องเพื่อตอบสนองผู้ใช้งานอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ได้มีการเน้นเรื่องของมนุษย์มากขึ้น เป็นการออกแบบที่เริ่มต้นจากตัวผู้ใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานจริงมากที่สุด

 

พูดคุยกับ “น้องต่อ” ส่องแนวคิดการออกแบบจากผู้ชนะรางวัลด้านสถาปัตยกรรม

Illegal Settlement in Chiang Mai: การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คน”

โปรเจกต์นี้เริ่มมาจากการที่พบเจอปัญหาของผู้คนในพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานที่ไม่ถูกต้องและปัญหาด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเป็นปัญหาจากทั้งภาครัฐและผู้คนในชุมชนที่มีปัญหาว่าพวกเขาอยู่ที่นี่มานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน และไม่มีระบบไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำที่ไม่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ก่อนเคยตกปลาได้ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาน้ำเสียจนวิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป

คิดว่าการแก้ปัญหาต้องเป็นความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝั่ง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากงาน Plug-in City ของกลุ่ม Archigram สถาปนิกอังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคได้ตามต้องการ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีแกนกลางเป็นงานระบบรวมแล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งอาจให้เมืองเชียงใหม่สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนผู้คนในชุมชนก็สร้างโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ผนัง พื้น เพื่อให้ผู้คนในชุมชนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และมีการดูแลรักษาอาคารมากกว่า ซึ่งควรต้องสอดคล้องกับระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วย

 

ความร่วมมือกันระหว่าง “คน” เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งานจริง

ออกแบบผลงานให้เป็นแนวดิ่ง เนื่องจากระบบนิเวศเดิมเป็นพื้นที่ซึมน้ำ มองว่าหากสร้างให้สูงขึ้นไปจะยังสามารถรักษาธรรมชาติตรงนั้นไว้ได้อยู่ และพยายามออกแบบให้เหลือพื้นที่ซึมน้ำให้มากที่สุด ส่วนในแง่ของความร่วมมือกัน ทางภาคเมืองเชียงใหม่จะจัดสรรโครงสร้างหลัก งานระบบ ทว่าตัวชุมชนจะเป็นผู้ร่วมออกแบบตัวกรอบอาคารเองเพื่อสร้างความเป็นเจ้าชองของพื้นที่ โดยพื้นที่อยู่อาศัยภายในสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน โดยออกแบบให้เป็น Phase ไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่สร้างเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่สามารถปรับเปลี่ยนหรือต่อเติมเพิ่มได้ภายหลังตามความต้องการ

นอกจากนี้ชาวบ้านมีการใช้พื้นที่ใต้ถุนเพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะของบ้าน หรือสามารถเก็บวัสดุก่อสร้างไว้ซ่อมแซมบ้านด้วยตนเองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากว่าชาวบ้านจำเป็นต้องดูแลซ่อมแซมบ้านเองเสียส่วนใหญ่ หรืออาจเป็นพื้นที่จอดรถ เป็นต้น จึงจัดสรรพื้นที่ส่วนนั้นไว้ให้พวกเขาด้วย

นอกจากนี้ยังต้องมีความร่วมมือเพื่อช่วยในเรื่องของระบบการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านได้วิถีชีวิตเดิมกลับมา และผลงานชิ้นนี้ถือเป็น Statement เกิดจากการเข้าใจกันจากหลาย ๆ ฝ่ายซึ่งในอนาคตอาจนำไปพัฒนาโครงการอื่น ๆ ต่อไปได้

 

ดีไซน์ที่นอกจากจะเอื้อต่อมนุษย์แล้วยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนการเลือกสี ในชุมชนเดิมจะเป็นการก่อสร้างแบบที่ใช้สีจริงจากวัสดุ เช่น สังกะสี ไม้ ฯลฯ มองว่าหากนำสีมาใช้ตามที่ชาวบ้านใช้งานจริงจะช่วยเพิ่มความโดดเด่น และช่วยให้ชาวบ้านหาทิศทางได้ง่ายขึ้น ส่วนตัวโครงสร้างจะเป็น Pre-cast เพื่อลดปัญหาขยะและ PM 2.5 เนื่องจากช่วยลดฝุ่นในการก่อสร้างอีกด้วย

 

พูดคุยกับ “น้องพราว” ในฐานะผู้ชนะรางวัลสาขาการออกภายใน

Melodium: การผสมกันของแรงดันน้ำและความสร้างสรรค์ของการออกแบบ

มองว่ามนุษย์เจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในปีนี้ ทั้งการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความเครียด จึงได้ทำการศึกษาว่าแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ต้องการอะไร และเจอบทความที่กล่าวถึงความต้องการ 3 สิ่งของมนุษย์ในการดำรงชีวิต ได้แก่ ความปลอดภัย (safety) การมีส่วนรวม (belonging) และการมีความสำคัญ การได้รู้ว่าตนเองมีบทบาทอะไร (mattering) จึงนำเอาคอนเซปต์มาพัฒนาต่อเพื่อการออกแบบที่ทำให้ผู้คนได้รู้สึกผ่อนคลาย กลมกลืน ได้พักพิง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาตระหนักถึงบทบาทอะไรบางอย่างที่เขาอาจไม่รู้มาก่อนว่าพวกเขามี

“น้ำ” ตัวกลางในการผสมผสานระหว่างดนตรีและสถาปัตยกรรม

แรงบันดาลใจหลัก ๆ คือ “สุนทรียที่เกิดจากธรรมชาติ” ซึ่งสามารถจรรโลงจิตใจและแก้ปัญหาความเครียดได้ โดยการนำดนตรีมาเป็นส่วนผสมในการออกแบบ ซึ่งองค์ประกอบของดนตรีคือ นักดนตรี เครื่องดนตรี และเสียงดนตรี จึงเปรียบเทียบว่ามนุษย์คือผู้เล่นดนตรี ตัวสถาปัตยกรรมคือเครื่องดนตรี และธรรมชาติคือสิ่งที่ออกมาเป็นเสียง จึงสร้างสถานที่คล้าย ๆ  เครื่องดนตรีให้ผู้คนได้เข้าไปใช้พื้นที่ภายในได้

ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่ต้องอาศัยธรรมชาติในการสร้างสุนทรีย์จึงเลือก “น้ำ” โครงการจึงอยู่ระหว่างบกกับน้ำ ซึ่งสุนทรีย์ทางด้านโครงการจึงเป็นเรื่องสายตาและเสียง โดยเป็นรูปแบบ Modular เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้าย เพื่อให้ตอบสนองต่อทุกชุมชน วัสดุที่ใช้จะเป็นวัสดุสะท้อนเพื่อให้ไม่รู้สึกแปลกแยกเพราะเป็นวัสดุที่สะท้อนบริบทรอบข้างให้กลมกลืน

 

“ออร์แกน” จากเครื่องดนตรีสู่การนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ

ต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงน้ำ จึงนึกถึง “ออร์แกน” ซึ่งใช้แรงดันน้ำทำให้เกิดแรงดันอากาศสร้างเสียงออกมา โดยภายในอาคารจะเป็นคีย์ที่ทำให้ผู้ใช้งานเหยียบและเกิดเป็นเสียงได้ เพื่อให้ผู้คนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น ๆ ในขณะที่เพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีอีกด้วย

โครงการนี้มีขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สังสรรค์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ฟังเพลง หรือพักผ่อน เป็นพื้นที่ออกกำลังกายหรือเป็นพื้นที่จัดแสดงก็ได้ เพราะต้องการให้มีความ Universal ปรับได้ทุกการใช้งาน เปลี่ยนไปตามบริบทและผู้คนในชุมชนนั้น ๆ

 

Asia Young Designer Awards” การประกวดที่เป็นเวทีเพื่อปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์

คุณณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่างานดีไซน์เดิม ๆ อาจไม่ได้คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยมากนัก สิ่งที่เคยมี เคยทำก็ยังมีกันอยู่ หลัง ๆ มีการทำเพื่อกลุ่มคนหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้พิการด้านต่าง ๆ ทว่าการออกแบบยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น ระบบ Touchless ซึ่งจะใส่ฟังก์ชันไว้ตั้งแต่การสร้างครั้งแรกเพื่อที่จะได้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนในภายหลัง จริง ๆ ก็เป็นความสร้างสรรค์ที่ให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามาออกแบบอย่างไร้กรอบ เป็นไอเดียเพื่ออาจนำไปต่อยอดด้านอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้น้องต่อยังมีความคิดต่อคำว่า “กรอบเดิม” ว่าเป็น “สิ่งที่คนอื่นทำ ๆ กันมา” โปรเจกต์ของเขาคงไม่มีใครกล้าทำมากนัก ที่ออกแบบมาครึ่งหนึ่งแล้วอีกครึ่งหนึ่งให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ก็อาจมีความยากประมาณหนึ่ง แต่ถ้าหลุดกรอบมาได้ก็อาจจะตอบโจทย์ผู้คนบางกลุ่มได้มากกว่า

 

การร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย เพื่อผลักดันสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม

คุณณรงค์ฤทธิ์เสริมว่า การประกวดครั้งนี้อาจไม่ได้ให้น้ำหนักของการสร้างจริงมากนัก แต่เน้นไปในการที่ให้นักออกแบบได้ฉุกคิด เพื่อเป็นเวทีที่ทำให้นักออกแบบได้คิดนอกกรอบ ต้องเกิดจากความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ หลากหลายฝ่าย โดยทางนิปปอนเพนต์ต้องการผลักดันให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทั้งการโปรโมทไอเดียและการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเอกชนและรัฐบาล ให้การประกวดไม่จบแค่การประกวด แต่อาจเป็นไอเดียหรือแนวทางก่อนที่จะกำหนดแนวทางต่าง ๆ หรือนโยบายได้ หรืออาจเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทำเช่นไรก็ได้เพื่อให้สังคมเราพัฒนาต่อไป

จะเห็นได้ว่าการประกวดเวทีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้นักออกแบบได้ปลดปล่อยจินตนาการเท่านั้น แต่มันยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับสถาปนิกที่มีชื่อเสียงและความสามารถมากมายทั้งไทยและในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ อีกทั้งอาจเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสังคมของเราต่อไปในภายภาคหน้า โดยการผลักดันจากบริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

ส่วนในปีหน้าจะมีการประกวดอีกเมื่อใด หรือมีรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.asiayoungdesignerawards-th.com/
Facebook: Asia Young Designer Awards Thailand

Previous articleหนอนหนังสือและอนิเมะห้ามพลาด! พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม “Kadokawa”
แห่งแดนอาทิตย์อุทัย
Next articleเยี่ยมชม “Kinder Building” แหล่งแรงบันดาลใจ พื้นที่แห่งงานวิจิตรศิลป์
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว