ใครว่าของเก่าต้องทิ้งเสมอไป! ใช้ไม่ได้กับ Beijing Hutong ตึกเก่าในย่าน Hutong ในจีนที่ไม่เพียงแต่ยังถูกอนุรักษ์ไว้เท่านั้น แต่มันยังถูกออกแบบให้กลายเป็นแกลลอรีศิลปะร่วมสมัยและแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าศิลปินอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตึก 2 ชั้นเก่า “Beijing Hutong” ถูกเปลี่ยนเป็นแกลลอรีศิลปะร่วมสมัยในย่าน Baitasi โดยการออกแบบของ DnA Design and Architecture ซึ่งตึกนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเก่าอายุ 700 ปีซึ่งเป็นที่มาของชื่อย่านนั้น โดยโปรเจกต์นี้ประกอบไปด้วยย่านที่อยู่อาศัยของศิลปิน และจัดนิทรรศการชุมชนที่ช่วยสนองความต้องการของเหล่านักสร้างสรรค์ที่อาศัยหรือทำงานในละแวกใกล้เคียง

ตึกปูนซีเมนต์จำนวนมากในพื้นที่นี้ถูกสร้างหลังจากยุค 1980s เมื่อผู้คนท้องถิ่นบางคนทำลายพื้นที่ลานบ้านของตนเองและสร้างเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เพื่ออยู่อาศัยแทนทำให้ท้ายที่สุดอาคารซีเมนต์ก็กลายเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เห็นได้ทั่วไปในโครงสร้างเมืองนี้

ซึ่งการออกแบบของ DnA ต้องคำนึงถึงกฏข้อบังคับในการอนุรักษ์ของ Hutong ที่กำหนดว่าอาคารเดิมจะต้องอยู่ครบถ้วนโดยไม่เกิดการทำลายทิ้ง ทำให้พวกเขาต้องรังสรรค์ตึกเก่าให้กลายเป็นแกลลอรีโดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแบบแปลนเพื่อให้เข้ากับการออกแบบใหม่

พื้นที่ใหม่ของตึกประกอบไปด้วยแกลลอรี 2 ชั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ ร้านทำผมและสำนักงานอยู่ที่ชั้นพื้นดิน และมีห้องของศิลปินอยู่ด้านบน โดยมีระบบช่องว่างแนวตั้ง (Vertical voids) เพื่อให้มีแสงส่องผ่านเข้ามาในแกลลอรี ลานเล็ก ๆ ยังเปิดรับแสงจากภายนอกในขณะที่รูรับแสงที่วางตำแหน่งอย่างดีจะส่องทั่วบริเวณอื่น ๆ ในตึก และชั้นดาดฟ้าจะเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งมีการปลูกต้นไม้ไว้อีกด้วย

“ตึกนี้คือการเชื่อมโยงของบริบททางประวัติศาสตร์กับอนาคต และจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้แก่ชีวิตของผู้คนใน Hutong” สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

ของเก่าต่างก็มีคุณค่างดงามในตัวของมันเอง ได้รับการตกแต่ง การออกแบบและรังสรรค์ด้วยความเชี่ยวชาญก็สามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งโดยไม่ต้องทำลายทิ้ง ดังเช่นตึก “Beijing Hutong” ที่กลายเป็นแกลลอรีศิลปะร่วมสมัยไปในท้ายที่สุด

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/architecture/dna-beijing-hutong-building-contemporary-art-gallery-baitasi-06-24-2020/

Previous articleทช.เข้มงวดมาตรการแก้ไข PM 2.5 ตามนโยบายศักดิ์สยาม พร้อมขอความร่วมมือผู้รับจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งคัด
Next articleDesigner’s Choice: 10 ไอเดียการออกแบบห้องนอนอันแสนสงบ
การันตีโดยนักออกแบบ (PART II)
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว