ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการออกแบบงานสถาปัตยกรรม นอกจากการออกแบบพื้นที่ใช้สอยนอกบ้านให้สวยงามแล้ว รูปแบบภายนอกนั้นยังนิยมออกแบบ โดยการเลือกใช้ ‘Facade’ ที่เปรียบเสมือนเสื้อผ้าห่อหุ้มอาคารให้มีทั้งความสวยงามชวนสะดุดตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งนี้ยังทำหน้าที่ช่วยป้องกันอาคารจากสภาพแวดล้อมภายนอกได้อีกด้วย

วันนี้ BuilderNews จะพาไปรู้จักกับ Facade หรือ เปลือกอาคาร ที่ช่วยสร้างรูปทรงสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้งานสถาปัตยกรรม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Facade

‘Facade’ หรือ ฟาซาด เป็นคำเรียกในภาษาฝรั่งเศส ที่มีความหมายว่า โฉมหน้า แต่ทว่าในภาษาสถาปัตยกรรม หมายถึง องค์ประกอบด้านหน้าของอาคารหรือรูปด้านอาคารที่มองเห็นได้ชัดเจนและยังมีความหมายครอบคลุมทั้งในส่วนที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น หน้าต่าง กันสาด ชายคา ระเบียง ช่องเปิดต่าง ๆ ไปจนถึงสิ่งตกแต่งปลีกย่อยของอาคาร

Credit Photo by Pinterest

ปัจจุบันในแง่ของนักออกแบบมักเรียกนิยมเรียก Facade ว่า เปลือกอาคาร ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างมุมมองบดบังอาคารจากบริบทภายนอกและช่วยรักษาความสมดุลระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร อีกทั้งยังช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้มีความสวยงามเฉพาะของตัวอาคาร จึงไม่น่าแปลกที่ในปัจจุบันนักออกแบบ หรือ สถาปนิกส่วนใหญ่จะขะมักเขม้นไปกับการออกแบบ Facade ไม่ต่างจากองค์ประกอบทางด้านอื่น ๆ ด้วยเหตุเพราะเป็นองค์ประกอบการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่าง อาคาร และสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน

5 วัสดุที่นิยมใช้ในการออกแบบ Facade ให้สวยมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

แผ่นตะแกรงฉีก Expanded Metal

แผ่นตะแกรงฉีก ทำมาจากแผ่นเหล็ก สเตนเลสและอะลูมิเนียม ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ ถูกนำมาเจาะให้เป็นรูแล้วยืดออกให้เป็นลักษณะรูปตาข่ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปรังผึ้ง โดยมีทุกจุดต่อของรูยืดต่อกันอย่างแข็งแรงตลอดทั้งแผ่น นิยมนำมาใช้ทำเป็นที่กั้นทางเดิน ราวบันได ประตูรั้ว และเปลือกอาคาร

Credit Photo by Pinterest
Credit Photo by Pinterest

แผ่นเหล็ก Steel Plate

แผ่นเหล็ก ทำมาจากเหล็กแผ่นม้วนคุณภาพสูง มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผิวเรียบ นิยมใช้ในการเชื่อมต่อโครงสร้าง งานต่อเรือ งานสะพานเหล็กและเปลือกอาคาร เนื่องจากราคาที่ไม่สูงมากมีขนาดให้เลือกใช้ได้หลากหลายขนาด

Credit Photo by Pinterest
Credit Photo by Pinterest

แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต Aluminum Composite

แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต ในช่วงปี 2019 – 2020 มานี้ ถือว่าเป็นวัสดุที่นิยมค่อนข้างสูง ด้วยความหลากหลายของสีสันที่มีให้เลือกพร้อมทั้งไม่เป็นสนิม น้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแกร่งทนรับกับทุกสภาวะอากาศที่มีความเป็นกรดด่างหรือความชื้นที่แตกต่างกัน โดยสามารถใช้งานได้ดีทั้งภายนอกและภายในอาคาร จัดเป็นวัสดุที่สามารถดัดเปลี่ยนรูปทรงได้อย่างหลากหลาย

Credit Photo by Pinterest
Credit Photo by Pinterest

แผ่นอะลูมิเนียม Aluminum Sheet

แผ่นอะลูมิเนียม มีความเหนียวยืดหยุ่นได้ดีและน้ำหนักเบา นิยมนำมาใช้ในงานตัดพับขึ้นรูป อาทิ กั้นทางเดิน  ราวบันได ประตูรั้ว และเปลือกอาคาร นอกจากนี้ยังสามารถฉลุลวดลายได้ตามที่ต้องการ

Credit Photo by Pinterest
Credit Photo by Pinterest

แผ่นสเตนเลส Stainless Sheet

แผ่นสเตนเลส มีความคงทนและแข็งแรง เหมาะแก่การใช้งานในทุกสภาวะแวดล้อม ทั้งยังง่ายต่อการดูแลรักษาในระยะยาว นิยมนำมาใช้ในงานตกแต่งภายในหรืองานประตูรั้ว แต่ไม่นิยมนำมาใช้สำหรับงานออกแบบเปลือกอาคารมากนัก เนื่องจากมีราคาที่ค่อนข้างสูง

Credit Photo by Pinterest
Credit Photo by Pinterest

ประเภทของ Facade ที่นิยมใช้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ปัจจุบันการออกแบบ Facade ให้สวยงามจะยังไม่แพร่หลายมากเท่าทุกวันนี้ สถาปนิกมักจะนิยมออกแบบสำหรับอาคารพาณิชย์ โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และที่พักอาศัย ด้วยรูปแบบการออกแบบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อความสะดวกต่อการดูแลรักษาและความเหมาะสมในการใช้งาน โดยแบ่งการออกแบบประเภทของ Façade ได้ 2 ประเภทดังนี้

ฟาซาดแบบ Double-Skin Facade

ฟาซาดแบบ Double Skin Facade คือการกรุหรือหุ้มฟาซาดภายนอกอีกชั้นให้กับอาคาร โดยเว้นระยะออกจากผนังภายในเล็กน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นผนังทึบสลับโปร่ง สามารถกรองแสงแดด ลดอุณหภูมิ และสร้างความเป็นส่วนตัว ผนังสองชั้นยังเป็นนวัตกรรมที่ถูกใช้กับอาคารขนาดใหญ่ เช่น ตึกกระจกสูงระฟ้า และอาคารสาธารณะต่าง ๆ

Credit Photo by Pinterest
Section Double-Skin Facade Credit Photo by ArchDaily

ฟาซาดแบบผนังสองชั้น ประกอบไปด้วยโครงสร้างที่เป็นเหล็กหรืออะลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับยึดวัสดุที่มาติดตั้งทับอีกชั้น ได้แก่ อิฐ ระแนงไม้ บล็อก ตะแกรงเหล็ก แผ่นอะลูมิเนียม ระแนงอะลูมิเนียม กระจก แผ่นอะคริลิค สวนแนวตั้ง รวมไปถึงระบบผนัง Curtain Wall สำหรับอาคารสูง

Credit Photo by Pinterest

ฟาซาดแบบ Building Form Facade

ฟาซาดแบบ Building Form Facade คือรูปแบบฟาซาดที่ถูกออกแบบให้เป็นทั้งผนังและเป็นเปลือกอาคารในองค์ประกอบเดียวกัน มีลักษณะเป็นรูปทรงของอาคาร โดยเน้นองค์ประกอบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระนาบผนังอาคาร เช่นช่องเปิด กันสาด หรือ ระเบียง ด้วยการดีไซน์ให้มีส่วนยื่นหรือส่วนตื้นลึกของอาคาร เพื่อเป็นการเล่นกับเฉดเงาส่วนหนึ่งของอาคารอย่างชัดเจน ซึ่งได้รับอิทธิพลการออกแบบมาตั้งแต่ยุค Modern Movement

Credit Photo by Pinterest
Section Building Form Facade Credit photo by ArchDaily

โดยวัสดุปิดผิวที่ใช้กับเปลือกอาคารแบบ Building Form Facade ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุที่กลมกลืนไปกับวัสดุหลัก จึงทำให้ภาพรวมของอาคารดูมีความสมดุลเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ก็มีบ้างที่มีการใช้วัสดุที่มีความ Contrast กันกับงานสถาปัตยกรรมแบบ Deconstruction Concept

คุณสมบัติของ Facade ที่เปรียบได้กับหน้าตาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม

    • ช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารมากขึ้น เพราะทำหน้าที่ควบคุมการรั่วไหลของอากาศภายในอาคารให้มีความสมดุล
    • ช่วยลดความร้อนและฝุ่นที่เข้ามาภายในอาคารโดยตรง
    • ช่วยควบคุมแสงสว่างจากภายนอกที่จะเข้าสู่ตัวอาคารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
    • ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศมีความสมดุล ด้วยรูปแบบเปลือกอาคารแบบสองชั้น ทำให้มีช่องว่างอยู่ตรงกลางระหว่างผนังชั้นในและผนังชั้นนอก ซึ่งมีช่องว่างที่อยู่ตรงกลางที่ทำให้มวลอากาศที่เย็นกว่าจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาทดแทนมวลอากาศที่ร้อนกว่าภายใน จึงทำให้เกิด ความกดอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มวลอากาศร้อนที่สะสมอยู่ภายในช่องว่างสามารถลอยตัวขึ้นได้ เมื่อมีความดันอากาศที่มากพอ โดยมวลอากาศที่มีความร้อนจะไหลผ่านช่องเปิดหมุนเวียนอากาศที่อยู่ด้านบน ออกไปสู่ภายนอกอาคารตามหลักการของ Stack Effect ซึ่งช่วยเพิ่มสภาวะอากาศที่ดีให้กับพื้นที่ภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Section ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่ง และความสัมพันธ์ระหว่าง Facade แต่ละแบบ กับ Space ของตัวอาคาร Credit Photo by Pinterest
    • ช่วยสร้างสุนทรียศาสตร์ทางด้านรูปทรงให้กับงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสวยงามให้กับอาคาร และเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่การใช้งานที่ต้องการพื้นที่ที่มีความสงบและเป็นส่วนตัว

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ‘Facade’ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยเสริมให้อาคารมีเพียงแต่ความสวยงามให้กับอาคารเท่านั้น แต่ยังสามารถปกป้องผิวอาคารจากความร้อน ความหนาว และช่วยถ่ายเทอากาศภายในอาคารได้ด้วยเช่นกัน โดยผ่านการออกแบบอาคารด้วยรูปทรงสะดุดตาและมีเอกลักษณ์ที่ลงตัว

Source

https://www.blockdit.com/posts/5f801262c9b49733984f0716

https://www.wazzadu.com/article/2161

Previous article‘The Twins’ บ้านโครงสร้างคอนกรีตทรงกล่อง
สุดแสนเรียบง่าย เติมเต็มความสุขบนพื้นที่
เพียง 70 ตารางเมตร
Next articlePOLYMER MASTER ยกนวัตกรรมไม้สังเคราะห์คุณภาพคับแก้ว ไว้ในงานสถาปนิก’65
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม