สภาวิศวกรไม่รอช้า จากเหตุการณ์คอร์ทแบดมินตันที่ ซ. เรวดี พังถล่มไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 นั้น สภาวิศวกรโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ได้นำคณะผู้ชำนาญการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวเป็นโครงสร้างช่วงยาว 8 ม. ซึ่งเข้าข่ายเป็นวิศวกรรมควบคุม จึงต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรเข้าไปเกี่ยวข้อง สำหรับข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุเบื้องต้นของการพังถล่มนั้น สภาวิศวกรได้ตั้งไว้ 3 ประเด็นคือ 1. แรงลมมีความแรงมากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นพายุฤดูร้อน 2. มีการก่อสร้างผนังอาคารด้วยอิฐสูง 10 ม. ทำให้มีพื้นที่รับแรงมาก จึงเสี่ยงอันตราย และ 3. โครงสร้างเดิมอาจมีความอ่อนแอและออกแบบไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ตอนแรก เนื่องจากตรวจพบการใช้โครงเหล็กในการค้ำยันโครงสร้างเดิมหลายตำแหน่ง และสำหรับวิศวกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพังถล่มนั้น สภาวิศวกร จะเรียกตัวมาเพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณต่อไป

ในงานสัมนาครั้งนี้ มีวิศวกรจากทุกสารทิศเข้าร่วมสัมนาอย่างคับคั่ง แสดงถึงความมุ่งมั่นของวิศวกรไทยที่ต้องการจะให้เกิดความปลอดภัยในการออกแบบโครงสร้างที่ได้มาตรฐาน ในงานได้มีการให้ความรู้โดยได้ยกกรณีคอร์ทแบดมินตันที่ซอยเรวดีเป็นกรณีศึกษา พร้อมทั้งแนวทางการออกแบบตามมาตรฐานใหม่ มยผ.1311 ที่ออกมาในปี 2552 ซึ่งมีมาตรฐานที่เคร่งครัดในการออกแบบมากกว่าเดิม

ดร. กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ให้ข้อมูลว่า สภาวิศวกรมีความเป็นห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน จึงต้องการเน้นย้ำให้วิศวกรของสภาวิศวกรปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ตามหลักวิชาการและหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และได้มอบนโยบายให้สภาวิศวกรไปดำเนินการจัดการอบรมวิศวกรให้มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบอาคารเพื่อรับแรงลมพายุ

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เปิดเผยต่อว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแบบเดียวกันนี้อีก สภาวิศวกรจึงได้จัดอบรมวิศวกรโยธา ในวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เพื่อให้วิศวกรได้มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบอาคารต้านแรงลมพายุตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง และ แนวทางการตรวจสอบอาคารเก่า (อาคารที่ก่อสร้างก่อน มยผ 1311 ซึ่งมีรายงานว่ามีมากหลักหมื่นแห่งทั่วประเทศ) โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญมาร่วมเป็นวิทยากร

สำหรับงานสัมมนาในครี้งนี้ มีวิศวกรเข้าร่วมอบรม ประมาณ 200 คน ผลที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่วิศวกรโยธา ในด้านของการออกแบบและก่อสร้างอาคารและการตรวจสอบสภาพอาคารเก่า ตลอดจนแนวทางการเสริมกำลังอาคารต้านแรงลมต่อไป

 

Previous article‘ดร.พัฒน สุวรรณสัมฤทธิ์’ ได้รับคัดเลือกในฐานะ ‘สถาปนิกไทย’ ผู้ให้บริการก่อสร้างและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เยือน ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’
Next articleสถาปนิกชาวแคนาดา สร้างห้องทำงานในสวนหลังบ้านเพื่อจะได้สามารถใกล้ชิดกับลูกๆ