ประกาศออกมาแล้วสำหรับรางวัล Pritzker Prize 2019 หรือรางวัลเกียรติยศด้านสถาปัตยกรรมระดับโลก ซึ่งตกเป็นของ Arata Isozaki สถาปนิกชาวญี่ปุ่น

โดยเขาจบการศึกษาจาก University of Tokyo เมื่อปี 1954 หลังจากนั้นได้เข้าไปทำงานร่วมกับ Kenzo Tange (สถาปนิกผู้ได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 1987) ก่อนที่จะออกมาเปิดบริษัทของตัวเองในปี 1963 ซึ่งใช้ชื่อว่า Arata Isozaki & Associates

10 โปรเจ็คต่อจากนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเอกลักษณ์และสไตล์งานออกแบบของ Arata Isozaki ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการทำงานจวบจนถึงปัจจุบัน

Ōita Prefectural Library, จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น (ปี 1962-1966)

Arata Isozaki เริ่มต้นวิชาชีพด้วยการร่วมสร้างตึกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบ้านเกิดของเขาที่จังหวัดโออิตะ เกาะคิวชู โดยการออกแบบ Ōita Prefectural Library ให้น้ำหนักกับการเผยให้เห็นผิวคอนกรีต และแสงธรรมชาติที่สามารถลอดเข้ามาในอาคารได้ผ่านหน้าต่างและช่องแสงบนหลังคา

Kitakyushu Central Library, จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (ปี 1973-1974)

การออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ Arata Isozaki ได้ตีความสถาปัตยกรรม neoclassical แบบใหม่ ซึ่งออกแบบอาคารทั้ง 2 หลังให้มีหลังคาโค้งมนด้วยคอนกรีตสำเร็จรูป โดยอาคารถูกวางให้ขนานกันก่อนที่จะแยกออกจากกัน ในส่วนของการตกแต่งภายนอกมีการใช้กระจกสี่เหลี่ยมวางติดกันเป็นแนวยาว

The Museum of Contemporary Art, นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี 1981-1986)

ผลงานนี้เป็นการสร้างสรรค์ผลงานนอกประเทศครั้งแรกของ  Arata Isozaki โดยเขาออกแบบ The Museum of Contemporary Art ให้มีความสูงไม่มากนัก แตกต่างจากอาคารโดยรอบที่เป็นตึกสูง ด้วยโครงสร้างของอาคารที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดินถึง 4 ชั้น และด้านบนมี 3 ชั้น ซึ่งมีหลังคาโค้งและปิรามิดที่หุ้มด้วยทองแดงอยู่ตรงชั้นบนสุดของอาคาร

Art Tower Mito, จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น (ปี 1986-1990)

ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของเมืองมิโตะ ภายในประกอบด้วย theater, performance hall และ contemporary art gallery โดดเด่นที่ตึกเกลียวที่ประกอบด้วยแผ่นสามเหลี่ยม 56 แผ่นที่วางในทิศทางที่    แตกต่างกัน

Domus. Casa del Hombre, เมืองอาโกรุญญา ประเทศสเปน (ปี 1993-1995)

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์นี้ตั้งอยู่บนหาด Orzan ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของเหมือง โดยมีการทำเป็นกำแพงโค้งที่ทำจากหินชนวน แล้วหันหน้าเข้าหาทะเล ขณะที่กำแพงชั้นนอกทำจากหินแกรนิตในท้องถิ่น วางให้เป็นแนวซิกแซกคล้ายม่านพับ

Ceramic Park Mino, จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น (ปี 1996-2002)

พิพิธภัณฑ์เซรามิคที่มีทั้งส่วนของพื้นที่แกลอรี่ ห้องประชุม ร้านน้ำชา และห้องเวิร์คชอป โดยตั้งอยู่ในหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยพืชพรรณธรรมชาติ วางตัวในแนวลดหลั่นตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งตัวอาคารมีทั้งระเบียง ดาดฟ้า และผนังม่านแก้วที่ช่วยเสริมจุดเด่น ทั้งนั้น อิฐ หิน และเซรามิคเป็นวัสดุสำคัญที่นำมาใช้เกือบทุกจุดของพิพิธภัณฑ์

Allianz Tower, เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี (ปี 2003-2014)

Allianz Tower เป็นหนึ่งในตึกระฟ้าที่สูงที่สุดของประเทศอิตาลี และเป็นแลนด์มาร์คของเมืองมิลาน ด้วยความสูง 50 ชั้น ภายนอกตกแต่งด้วยม่านกระจกสามชั้นที่โค้งเป็นคลื่น เพื่อลดแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ และแสดงให้เห็นถึงแสงธรรมชาติที่ส่องสว่างทั้งตึก โดยรูปทรงโค้งมนของอาคารให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งภายนอกให้โดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยโครงสร้างค้ำยันตึกที่เป็นสีทอง

Qatar National Convention Centre, เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ (ปี 2004-2011)

ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง สามารถรองรับคนได้มากกว่า 10,000 คน โดยภายในประกอบด้วย3 หอประชุมขนาดใหญ่ และพื้นที่ประชุมที่มีความยืดหยุ่น ด้านนอกอาคารถูกออกแบบให้มีต้นไม้ 2 ต้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Sidrat al-Muntaha ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บนสวรรค์ชั้นเจ็ด ขณะที่ตัวอาคารมีการใช้กระจกล้อมรอบ

ทั้งนั้น จากการออกแบบอย่างพิถีพิถัน และใช้เทคนิคล่าสุดที่คำนึงถึงการอนุรักษ์น้ำและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อาคารแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความยั่งยืน

Shanghai Symphony Orchestra, เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (ปี 2008-2014)

เปิดตัวเมื่อปี 2014 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 135 ปีของวงออร์เคสตราเซี่ยงไฮ้ที่ถือว่าเป็นวงออร์เคสตราที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย โดย Shanghai Symphony Orchestra มี 2 ฮอลล์ สามารถบรรจุคนได้ 1,200 และ 400 ที่นั่ง ในส่วนของการตกแต่งภายในนั้นใช้แผ่นสะท้อนแสงที่นำมาประกอบกันเหมือนลวดลายของไม้ไผ่อัดสาน ขณะที่ด้านนอกอาคารมีการใช้อิฐดินเผา พร้อมด้วยการจัดสวนจีนที่ช่วยเสริมความโดดเด่นให้กับอาคารอีกทางหนึ่ง

Lucerne Festival Ark Nova, เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (2017)

ผลงานนี้เรียกสั้นๆ ว่า Ark Nova หรือ New Ark เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณในการสร้างใหม่ ซึ่ง Arata Isozaki ได้ออกแบบร่วมกับ Anish Kapoor ศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย โดย Ark Nova เป็นอาคารคอนเสิร์ตแบบเป่าลมได้ ทำมาจากโพลีเอสเตอร์เมมเบรน เคลือบด้วย PVC สามารถขยายตัวคล้ายทรงกลมและทำให้แฟ่บลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สะดวกต่อการจัดส่งอาคารคอนเสิร์ตนี้ไปยังที่ต่างๆ

Ark Nova ถูกนำมาใช้ในเทศกาล Lucerne Festival ซึ่งออกจัดแสดงเพื่อให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิโทโฮกุเมื่อปี 2011 โดยภายในอาคารคอนเสิร์ตเคลื่อนที่นี้สามารถจัดการแสดงที่หลากหลาย และรองรับผู้ชมได้มากกว่า 500 คน

อ้างอิง: www.designboom.com/architecture/arata-isozaki-projects-pritzker-laureate-03-05-2019/

Previous articleเลือกม่านกันยูวีถูกชนิด ตัวช่วยบ้านเย็น-อยู่สบาย
Next articleประชันดีไซน์สุขภัณฑ์ โดยดีไซเนอร์ระดับโลก