ในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกต่างก็มักจะประสบปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ กับพื้นที่ทิ้งร้าง หรือพื้นที่ไร้ประโยชน์นี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากบางครั้งในการพัฒนาเมืองก็อาจก่อให้เกิดพื้นที่ว่างเปล่าที่ไร้ประโยชน์ขึ้นได้ อย่างเช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้ทางยกระดับ พื้นที่บริเวณทางรถไฟฟ้า หรือแม้แต่ไปปิดกั้นแม่น้ำลำคลองให้ถูกปล่อยปละละเลย เป็นต้น ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ และยังกลายเป็นบริเวณที่เปลี่ยวเสี่ยงให้ก่อเกิดอาชญากรรมได้ ดังนั้นเราจึงหยิบยกตัวอย่างโครงการที่มีการพัฒนา พื้นที่ทิ้งร้าง หรือพื้นที่ไร้ประโยชน์ที่น่าสนใจขึ้นมาเพื่อเป็นไอเดียให้แก่สถาปนิก นักวางผังเมือง และผู้พัฒนาโครงการ กันบ้าง

การฟื้นฟูพื้นที่ใต้ทางด่วน BQE ในนิวยอร์ก
บริษัทสถาปนิกในนิวยอร์ก Buro Koray Duman ได้เผยแผนการฟื้นฟูพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วน Brooklyn-Queens Expressway (BQE) ให้กลายเป็น “ประตูแห่งเมืองอุตสาหกรรม” โดยนำเสนอแนวคิดในการออกแบบ 2 ธีม คือธีมแรกเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางด้านอาหาร ซึ่งประกอบด้วยครัวที่จัดเตรียมอาหารให้กับร้านขายอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) ที่จะเคลื่อนที่ไปทั่วเมือง ซึ่งเมื่อรถเคลื่อนที่ออกไปแล้ว พื้นที่จอดรถก็จะถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ในขณะเดียวกันครัวก็จะให้บริการอาหารแก่ผู้คนในละแวกนั้นด้วย โดยในส่วนหลังคาจะช่วยในการดูดเสียง ให้แสงสว่างและเป็นที่กำบังให้กับรถที่จอดอยู่ในขณะที่ธีมที่สองจะเป็นการสร้างสถานที่สำหรับเล่นกีฬา อาทิ สนามบาสเก็ตบอล, วอลเล่ย์บอล และกีฬาอื่น ๆ รวมถึงพื้นที่ใช้สำหรับออกกำลังกาย โดยในช่วงฤดูหนาว ศูนย์กีฬากลางแจ้งจะถูกห้อมล้อมด้วยโครงสร้างที่พองตัวได้ นับว่าเป็นสองธีมล่าสุดสำหรับการนำเสนอแผนการปรับปรุงพื้นที่ทิ้งร้างใต้ทางยกระดับ, บริเวณทางรถไฟและเส้นทางคมนาคมอื่น ๆ ซึ่งโปรเจคที่มีความคล้ายคลึงกันกับโปรเจคนี้ ได้แก่ Project: Underline park by James Corner Field Operations ซึ่งจะถูกสร้างบริเวณทางรถไฟในไมอามี่ หรือ Project:Under Gardiner in Toronto ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่จัดแสดงกลางแจ้งรวมถึงทางเดินเท้าและจักรยานใต้ทางยกระดับ เป็นต้น

under-the-bqe_burp-koray-duman-architects_dezeen_ss_2

under-the-bqe_burp-koray-duman-architects_dezeen_ss_3

Via: www.dezeen.com

สวนหย่อมขนาดย่อมใต้ทางยกระดับใน เซา เปาโล
ด้วยเหตุของปัญหามลพิษทางเสียงและมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะบนทางยกระดับ Minhocão viaduct ทำให้ผู้คนที่อาศัยในละแวกนี้เกิดความรู้สึกรำคาญใจมากกว่าที่จะดีใจไปกับความเจริญของชุมชน ดังนั้นบริษัทสถาปนิก Triptyque Architecture ร่วมกับภูมิสถาปนิก Guil Blanche ได้เผยถึงแผนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างใต้ทางยกระดับ Minhocão viaduct ในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สวยงาม มีชีวิตชีวา และเป็นที่พักผ่อนของคนในชุมชนเสียใหม่

Triptyque-Architecture-Hanging-Highway

ด้วยการนำต้นไม้มาตกแต่งเป็นแนวยาวใต้ทางยกระดับเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากรถยนต์ที่สัญจรไปมาได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนด้านล่างเป็นลานสาธารณะพร้อมเลนจักรยาน โดยการออกแบบจะเน้นการสร้างพื้นที่เปิดให้มากที่สุดเพื่อรับแสงจากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีระบบกักเก็บน้ำจากธรรมชาติเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ ซึ่งไอระเหยของน้ำจะถูกนำมาใช้ทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย เมื่อสร้างเสร็จสถานที่แห่งนี้ยังสามารถใช้เป็นสถานที่ในการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนได้อีกด้วย

Triptyque-Architecture-Hanging-Highway2-1020x610

Via: www.inhabitat.com

‘Yarra Pool’ สระว่ายน้ำในแม่น้ำที่ช่วยลดมลพิษได้
สระว่ายน้ำกลางแม่น้ำ (waterway pool) กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสระกลางแม่น้ำที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งหลาย อย่างซูริค, เบอร์ลิน, ปารีส และอีกหลาย ๆ แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งล่าสุดบริษัทไม่แสวงผลกำไร Yarra Swimm ในประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับบริษัท Arup ได้วางแผนการสร้างสระว่ายน้ำ ‘Yarra Pool‘ กลางแม่น้ำ Yarra ในเมลเบิร์นด้วยเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูสภาพน้ำในแม่น้ำ Yarra มากกว่าที่จะเป็นสระว่ายน้ำเพื่อการนันทนาการ

Yarra-River-Pool-Full-Width-1020x391

สืบเนื่องจากในอดีต แม่น้ำ Yarra เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันว่ายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีชื่อว่า ‘The Three Mile Yarra Swim’ แต่ในปัจจุบันกลับเต็มไปด้วยมลพิษทางน้ำ ซึ่งการสร้างสระ ‘Yarra Pool’ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้แม้น้ำกลับมาสะอาดดังเดิม แต่ยังสามารถกรองน้ำเพื่อนำมาใช้ในสระว่ายน้ำได้อีกด้วย สำหรับงบประมาณในการสร้างอยู่ที่ประมาณ 6-8 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปีค.ศ.2019 หรือปี ค.ศ. 2020 เห็นแบบนี้แล้วอดเปรียบเทียบกับแม่น้ำลำคลองในเมืองไทยไม่ได้เลย

Via: www.inhabitat.com

 

นิตยสาร Builder Vol.33 July 2016

Previous articleนักลงทุนเซ็ง !! จีนเพิ่มข้อจำกัด การซื้ออสังหาฯ ในเมืองใหญ่
Next articleนักพัฒนาอสังหาฯ แข่งกันแจกจ่ายโปรโมชั่น ดึงดูดผู้ซื้อชาวฮ่องกง
ผลจากตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง
หนึ่งฤทัย คาทุสเซฟสกี้
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตนัก Marketing ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักเขียน และนักแปลอิสระ ให้กับนิตยสารและบริษัทต่าง ๆ