อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ “ป่ากลางเมือง” ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้ สร้างชื่อเสียงระดับโลกอีกครั้ง กับรางวัลชนะเลิศ 12th Dubai International Award for Best Practices เมื่อต้นปี 2022 นี้ หลังกวาดรางวัลมากมายมาแล้วจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ASA AD AWARD, THE 2019 WLA AWARDS และ ICONIC ARCHITECTURE AWARD เป็นต้น

แนวคิดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งนี้ตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความสุขให้ชุมชนและเชื่อมโยงชุมชนโดยรอบให้เข้าถึงกัน รวมทั้งเปิดให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลากรูปแบบ โดยมีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “Smart inclusive society” เป็นแนวทางการพัฒนา

ด้วยดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเติบโตของกิ่งจามจุรี ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าอุทยานแห่งนี้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ขนาดใหญ่ของย่าน โดยสร้างความหลากหลายด้วยพืชพรรณนานาชนิด ทั้งยังมีฟังก์ชันเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงสร้างระบบนิเวศสีเขียวในระดับชุมชนของเมือง (urban green infrastructure) เป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมืองด้วยระบบการรับและหมุนเวียนทรัพยากรน้ำภายในอุทยานอย่างชาญฉลาด “เอื้อต่อระบบนิเวศที่ดี และเอื้อต่อการทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ของคนในชุมชนได้อีกด้วย” กล่าวได้ว่าเป็นการตอบสนองนโยบายการสร้างเมือง “GREEN & CLEAN CITY” และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม

รางวัลเพื่อนวัตกรรมการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองด้วยพื้นที่สาธารณะที่ยั่งยืนต่อโลก

สำหรับรางวัล 12th Dubai International Award for Best Practices หัวข้อ Urban Regeneration and Public Spaces เป็นรางวัลที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นร่วมกับ UN Habitat  เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมโครงการ (Innovation) จากทั่วโลก ในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อโลก ภายใต้หัวข้อ Urban Regeneration and Public Spaces หรือการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองด้วยพื้นที่สาธารณะที่ยั่งยืนต่อโลก จากโครงการเกือบ 3,000 โครงการทั่วโลกที่ส่งเข้าประกวด โดยคุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และทีมงานจากบริษัท LANDPROCESS จากประเทศไทย ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ชนะคนแรกบนเวทีเพื่อรับรางวัลจาก Sheikh Maktoum bin Mohammed bin Rashid Al Maktoum รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ครองนครเมืองดูไบ ต่อหน้าผู้นำและแขกผู้มีเกียรติจากทั่วโลก


 

โครงการ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ / CHULALONGKORN UNIVERSITY CENTENARY PARK
เจ้าของโครงการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการ สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ภูมิสถาปนิก: LANDPROCESS
สถาปนิก : N7A Architects
วิศวกร งานระบบ, โครงสร้าง: EEC Engineering Network
Graphic Designer: G49 Limited

 

Source:

Previous article4 สีที่จะทำให้บ้านคุณราคาดีขึ้น!
Next articleจัสโค รุกหน้าต่อเนื่อง ตอบรับการทำงานแบบไฮบริดที่เพิ่มสูงขึ้น เปิดตัวโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งใหม่ ณ สีลมเอจ