“จีน” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และเผชิญกับปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม มลภาวะ ความแออัดของประชากร ส่งผลให้จีนได้เดินตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวการวางผังเมืองและกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องนโยบายเพิ่มสีเขียวให้อยู่คู่กับประชาชน และล่าสุดการพัฒนาพื้นที่      สีเขียวได้เดินทางมาถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัยอย่าง Jiaxing Civic Center

โครงการออกแบบ Jiaxing Civic Center เกิดจากการต่อยอดพื้นที่บริเวณทะเลสาบเก่าแก่ ทางตอนใต้ของเมืองเจียซิง ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้าง เป็นกันเอง และมีชีวิตชีวามากขึ้น ผ่านการใช้ประโยชน์จากวิวทะเลสาบเก่าแก่ทางตอนใต้และพืชพันธุ์เขียวชอุ่มท้องถิ่น ที่เรียงรายอยู่ตามแนวแกนกลางของเมือง ออกแบบโดยสตูดิโอสถาปัตยกรรมอย่าง MAD Architects

ทัวร์เจียซิง

เล่ากันสักนิดว่าชื่อของเมือง เจียซิง นั้นแปลได้คร่าว ๆ ว่า เจริญรุ่งเรืองอย่างเป็นมงคล และเจียซิงก็มีทุกสิ่งทุกอย่างนั้น จริง ๆ เริ่มจากมีเมืองโบราณริมน้ำถึง 3 เมือง ประเพณีเก่าแก่ในการทำผ้าไหมและการผลิตผ้าพรรณ รวมถึงยังเป็นเมืองที่ตั้งสลับกับคลองห้อมล้อมไปด้วยสะพานหินและถนนหินกรวด รวมถึงซากโบราณสถานริมทะเลสาบที่สวยงาม

Jiaxing Train Station

กอปรเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่เจียซิงได้เป็นที่รู้จักในชื่อของ หัวใจของแผ่นดินแห่งปลาและข้าว เมืองยังมีตำแหน่งชั้นนำว่าเป็นเหมือนคลองขนาดใหญ่ของประเทศ เชื่อมต่อไปยังปักกิ่งและหางโจวและช่วยเสริมความมั่งคั่งให้กับเมือง เจียซิงยังมีชื่อเสียงถึงขีดสุดในฐานะ เมืองเกิดของผ้าไหม และปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสำรวจริมตลิ่งของทะเลสาบ เพื่อชมเมือง ทำให้มีการสร้างสถานีรถไฟที่เชื่อมต่อถึงกันทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ใกล้กับเซี่ยงไฮ้ หางโจว และซูโจว

พื้นที่สาธารณะสีเขียว

หากพูดถึง พื้นที่สาธารณะ หลายคนคงคิดถึงพื้นที่สวนกว้างขนาดใหญ่ ที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่ลู่วิ่ง ทางจักรยาน และศาลาพักผ่อน บวกกับบรรยากาศร่มรื่นจากพืชพรรณหลากหลายนานาชนิด แต่นั่นไม่ใช่ Jiaxing Civic Center

ด้วยเหตุที่ว่าสตูดิโอออกแบบ MAD Architects ได้ดีไซน์ตัวอาคารพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วยสถานที่ 3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กิจกรรมสตรีและเด็ก และศูนย์กิจกรรมเยาวชน เพื่อตอบโจทย์เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกเพศทุกวัยและพลังงานที่ยั่งยืน บนพื้นที่กว่า 130,000 ตารางเมตร รายล้อมด้วยทะเลสาบเก่าแก่ทางตอนใต้ของเจียซิง

จุดเด่นของอาคารอยู่ที่หลังคาทรงกลม โดยใช้วัสดุหลักคือแผ่นกระเบื้องเซรามิกสีขาวที่ผลิตในท้องถิ่น ผ่านดีไซน์ ลูกคลื่นปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณอาคาร และเมื่อมองจาก Top View จะเห็นว่ารายล้อมด้วยลู่วิ่งที่มีลักษณะคล้ายการเคลื่อนไหวของเส้นสายที่ดูนุ่มนวลและลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ไม่บดบังทัศนียภาพโดยรอบ

ผ่านการออกแบบ Artistic Entity ที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ ด้วยดีไซน์สวนและสนามหญ้า มีลักษณะที่แตกต่างกันตามบริเวณต่าง ๆ เพื่อคงสนามให้อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ และลดการสูญเสียพื้นที่สีเขียวโดยไม่จำเป็น รวมทั้งการอนุรักษ์ต้นไม้ดั้งเดิมบนพื้นที่ที่มีอายุรวมกันกว่าหลายร้อยปี ทั้งนี้ยังเป็นการทำให้ผู้คนในชุมชนทำกิจกรรมสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างภายในอาคาร ดีไซน์โดยการเลือกใช้เส้นสายคดโค้งที่ไม่บดบังทัศนียภาพโดยรอบ ผ่านการแบ่งสเปซแบบเปิดโล่งกึ่งส่วนตัว เพื่อให้ผู้คนสัมผัสกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ และยังได้เลือกวัสดุหลักเป็น ไม้ ทั้งหมด

ซึ่ง ไม้ เป็นข้อดีของการลดคาร์บอนที่เกิดจากคอนกรีตและยังเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน มีปริมาณคาร์บอนต่ำ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ให้สอดคล้องการออกแบบโครงสร้างอาคารที่ใช้หลักอาคาร LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design

นี่เป็นตัวอย่างการออกแบบและพัฒนาเมืองเก่าแก่กว่าหลายร้อยปี เพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็นเมืองพื้นที่สีเขียวอย่างรอบด้านและยั่งยืน เพื่อรองรับการเผชิญกับมลภาวะจากการเติบโตในฐานะเมืองเศรษฐกิจ ตลอดจนเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นจริงในเมืองที่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2023

Project info

Project title: Jiaxing Civic Center

Architecture: MAD Architects

Location: Jiaxing City, China

Client: Jiaxing Highway Investment Co., Itd.

Source

https://www.designboom.com/architecture/mad-architects-jiaxing-civic-center-china-ceramic-roofscape-05-10-2021/

https://arqa.com/en/architecture/jiaxing-civic-center.html

http://www.i-mad.com/work/jiaxing-civic-center/?cid=5

Previous articleตื่นเต้นหวาดเสียวกับ “Summit One Vanderbilt” ลิฟต์แก้วใส เหนือมหานครนิวยอร์ก
Next articleทำความรู้จัก “เสาเข็ม” แต่ละประเภท ก่อนจะนำไปใช้งานโครงสร้างรากฐานของอาคาร
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม