คนมากมายใฝ่ฝันอยากจะสร้างบ้านเป็นของตัวเอง แต่อุปสรรคทางด้านการเงินและข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้การถอดเอาแบบบ้านจากภาพร่างในกระดาษออกมาเป็นบ้านสักหลังหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่บ้านที่เรากำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ ช่วยให้การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงพริบตา

“บ้านดิน” ใช้วัสดุจากธรรมชาติ อย่างดิน, ไผ่, ไม้, และดินเหนียว เพื่อสร้างเป็นบ้านที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถป้องกันไฟและความร้อนได้ดี เนื่องจากเป็นบ้านที่ผลิตจากผนังดินซึ่งมีความหนา และยังช่วยให้อากาศภายในบ้านเย็นขึ้นในช่วงหน้าร้อนและอุ่นขึ้นในหน้าหนาว ทำให้สามารถควบคุมอากาศได้ดีกว่าบ้านที่สร้างจากไม้แบบเดิม ๆ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ฮีทเตอร์หรือเครื่องปรับอากาศลดน้อยลงตามไปด้วย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกทางหนึ่ง

ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบบ้านดินเหล่านี้ยึดหลักการออกแบบแบบ Passive Solar เพื่อให้การออกแบบได้ประสิทธิภาพสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างก็คือ ใช้หลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อควบคุมอุณหภูมิของอากาศที่ไหลเวียนในอาคารและน้ำที่ใช้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อให้ตัวอาคารมีอุณหภูมิพอเหมาะในการทำงานหรืออยู่อาศัยโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ

1. บ้านโดมขนาดเล็กกะทัดรัดจากดิน ช่วยให้อุณหภูมิในบ้านเย็นขึ้น

Jose-Andres-Vallejo-casavergara11-889x622

ด้วยความน่ารักสไตล์มินิมอลของโดม La Casa Vergara แห่งนี้ คงจะดึงดูดสายตาผู้คนมากมายที่ผ่านไปมาได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าประทับใจกว่าการดีไซน์ที่เรามองเห็นภายนอกกลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา

โดมหลังนี้สร้างขึ้นในเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย โดยสถาปนิก Jose Andres Vallejo เป็นการก่อสร้างในลักษณะ “earth bag” หรือก็คือการก่อสร้างที่ง่ายและรวดเร็วซึ่งมีต้นแบบมาจากการสร้างบังเกอร์ของทหาร ทำจากดินซ้อนกันไปเรื่อย ๆ และหุ้มด้วยคอนกรีตอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งดินและคอนกรีตนี้จะช่วยป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวและน้ำได้ คานจากไม้และแสงที่ส่องสว่างเข้ามาภายในทำให้การใช้ชีวิตภายในบ้านหลังนี้ดูร่มรื่นมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุด ราคา 28 ดอลลาร์/ตารางฟุตของบ้านหลังนี้ ก็น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนทุกกลุ่มตัดสินใจซื้อได้ไม่ยากนัก

2. บ้านหลังคาเขียวสไตล์ Hobbit ที่ใคร ๆ ก็สร้างได้ ภายในระยะเวลาแค่ 3 วัน!!

Green-Magic-Homes-889x529

บ้านสไตล์ Hobbit เป็นบ้านสำเร็จรูปที่สามารถสร้างให้เสร็จได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ด้วยขนาด 400 ตารางฟุต หลังคาเขียวที่เห็นอยู่นี้ ก็สามารถสร้างได้โดยง่าย วัสดุในการสร้างแต่ละชิ้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักมาก แต่จะใช้วัสดุสำเร็จรูปที่สร้างเสร็จจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบหน้างาน กล่าวได้ว่า สไตล์การออกแบบและก่อสร้าง Magic Green Homes หลังนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับการสร้างบ้านที่อยู่ในลักษณะภูมิประเทศหลากหลายทั่วโลก จนอาจเรียกได้ว่า สร้างฝันของใครหลายคนให้กลายเป็นจริง

3. สร้างบ้านดินป้องกันภัยพิบัติ โดยใช้วัสดุจากสงคราม

CalEarth-disaster-proof-eco-shelter-11-889x581

สำหรับใครที่อยากสร้างบ้านดินด้วยตนเอง แต่ยังไม่รู้จะเริ่มจากส่วนใด วันนี้เรามีข้อแนะนำจาก Cal-Earth หรือองค์กรสถาปัตยกรรมจากดินในแคลิฟอร์เนียมาฝากกัน เป็นการสอนเทคนิคการสร้างบ้านด้วยตนเองแบบ DIY จากวัสดุที่ยั่งยืนและสามารถป้องกันภัยพิบัติได้ นอกจากนี้ ยังเน้นที่การนำวัสดุจากสงครามกลับมาใช้ในการสร้าง (reuse) ซึ่งช่วยเป็นกำลังใจให้ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ โดยจะใช้ถุงทรายผสมดิน ลวดหนาม และวัสดุที่ทนทานอย่างซีเมนต์ ปูนขาว หรือกระเบื้องยางในการสร้าง จนได้ออกมาเป็นบ้านที่มอบความสะดวกสบายและทนต่อสภาพอากาศได้ดี

4. สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ด้วยวิธีการสร้างแบบ Passive Solar

Nakuru-Project-Orkidstudio-889x591

Orkidstudio องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลสาบนากูรู ประเทศเคนยา ซึ่งทำจาก earth bag ทั้งหมด รวมทั้งใช้โครงสร้างของ passive solar ดูดซับความร้อนระหว่างวันและปล่อยออกในช่วงกลางคืน ช่วยมอบความสะดวกสบายแก่เด็กและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใน และจะเห็นได้ว่าตัวโครงสร้างอาคารนั้นถูกห่อหุ้มด้วยไม้รีไซเคิล น้ำที่ใช้ภายในก็มาจากระบบกักเก็บน้ำฝน

อาคารหลังนี้ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งก่อสร้างที่มีความโดดเด่นและมีคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้เวลาสร้างเพียงแค่ 8 สัปดาห์เท่านั้น ด้วยฝีมือของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในอังกฤษ

5. อุปกรณ์สร้างบ้านดินทั้งหลัง จากเทคนิคเดียวกับเครื่องพิมพ์สามมิติ

การสร้างบ้านต้นทุนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นสัญญาณของการก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกวิธี ซึ่งการทำงานของ Earth Home Builder จะมีลักษณะเดียวกับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยตัวเครื่องสามารถเติมดินลงไปได้ประมาณ 400 ถุง/ชั่วโมง แต่หากใช้แรงงานมนุษย์ จะสามารถเติมได้เพียง 30 ถุงเท่านั้น และขณะนี้บริษัท United Earth Builders ผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้น ก็กำลังมองหาหุ้นส่วนซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ต้องการสนับสนุนการสร้างบ้านดินให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

The-Earth-Home-Builder-11

6. บ้านดินอัดในเม็กซิโก

Tatiana-Bilbao-Ajijic-House1-889x596

ครอบครัวหนึ่งในเม็กซิโก วางแผนสร้างบ้านหลากสีสันด้วยงบจำนวนหนึ่ง จากความช่วยเหลือของ Tatiana Bilbao สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบ้านดินอัดนี้มีความสวยงามและสามารถตึงดูดความสนใจของผู้คนที่ผ่านไปมาได้ดี ด้วยการทาสีลงในวัสดุก่อนจะฉาบลงบนผนังทีละชั้น ซึ่งผลของการใช้ดินอัดเป็นวัสดุนั้น ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิของบ้านได้ โดยนับว่าจำเป็นอย่างมากสำหรับอากาศในช่วงฤดูร้อน

จะเห็นได้ว่า บ้านในเมือง Ajijic มีการออกแบบหน้าต่างให้เป็นบานขนาดยาวตั้งแต่พื้นถึงเพดาน มีระเบียงเปิดโล่งสำหรับรับอากาศบริสุทธิ์บริเวณชายฝั่ง ภายในปูด้วยพื้นจากไม้สนที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น

7. บ้านดินอัด Triksa Villa ทำจากส่วนผสมระหว่างดินอัด ไม้ไผ่ และไม้รีไซเคิล

CLC-Trika-Villa-3_resize-889x667

ตัวบ้านใช้ดินเป็นวัสดุ จึงง่ายต่อการสร้างให้บ้านดูหรูขึ้นมาได้ บริษัทสถาปนิก Chiangmai Life Construction สร้าง Triksa Villa แห่งนี้ขึ้นทางตอนเหนือของไทย โดยสร้างจากดินอัดผสมกับดินเหนียวและคอนกรีตสำหรับโครงสร้างบ้าน และในส่วนของกำแพงจากอิฐดิน ช่วยให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิพอเหมาะ ขณะที่หลังคาจากไม้ไผ่ ก็แสดงให้เห็นถึงการใช้วัสดุอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ไม้เนื้อแข็งรีไซเคิล และสระว่ายน้ำเอาท์ดอร์ยังช่วยทำให้อาคารจากวัสดุก่อสร้างสีเขียวดูหรูและสะดุดตาขึ้นอีกด้วย

8. บ้านดินอัดในแถบชนบทประเทศกาน่า สร้างจากดินอัดและพลาสติกรีไซเคิล

Nkabom-house-lead-1020x610-889x532

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในแถบชนบทประเทศกาน่า ทำจากดินอัด พลาสติกรีไซเคิล และมีโครงสร้างแข็งแรงเทียบเท่ากับวัสดุจากธรรมชาติ สร้างจากฝีมือออกแบบของ Anna Webster ซึ่งชนะการประกวดออกแบบอาคาร Nka Foundation โดยเธอกล่าวว่า “เราหวังว่าจะเอาชนะองค์กรเชิงลบที่ดูแลในเรื่องวัสดุดังกล่าว และดึงความสนใจของคนส่วนใหญ่ไปที่การออกแบบอาคารโดยใช้ดินแทน รวมทั้งนำเอาการออกแบบในสไตล์โมเดิร์นเข้ามาประยุกต์ด้วย”

พลาสติกรีไซเคิลถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตมุ้งลวดและหลังคา นอกจากนี้ กำแพงดินอัดยังถูกปิดด้วยสารกันรั่วซึมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมผ่านเข้าไปด้านใน ซึ่งต้นทุนก่อสร้างอยู่ที่ 7,865 ดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังนับว่าเป็นตัวอย่างของบ้านสร้างสรรค์ ที่สามารถจัดการกับวัสดุที่มีอยู่ในมือได้เป็นอย่างดี

Source: inhabitat 

Previous articleแผ่นรับพลังงานแสงอาทิตย์ Sunflare บางเฉียบ&ยืดหยุ่น ติดตั้งได้ทุกพื้นผิว
Next articleเจ.เอส.พี. ปรับโฉม เตรียมส่ง ‘J ID’ มาตรฐานของบ้านชาญฉลาด การันตีทุกหลังคุ้มค่า ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม