จากสถานการณ์โควิด–19 ที่วิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จำนวนยอดผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ห้องไอซียูของโรงพยาบาลหรือแม้แต่โรงพยาบาลสนามในกรุงเทพมหานคร แทบจะไม่มีเตียงเพียงพอรองรับ

วันนี้ BuilderNews จะพาไปส่องไอเดีย “ไอซียูโมดูลาร์  นวัตกรรมห้องไอซียูรองรับผู้ป่วยโควิด–19 พัฒนาด้วยความร่วมมือของเอสซีจีและกรุงเทพมหานคร

การเร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ หรือ Modular ICU ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของเอสซีจีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกสร้างขึ้น ณ ศูนย์การแพทย์และการเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็วในการก่อสร้าง โดยห้องไอซียูโมดูลาร์แบ่งออกเป็น 4 อาคาร 40 เตียง

จึงถือได้ว่าเป็นภารกิจท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเตียงไอซียูในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นการช่วยประคองชีวิตลดความตายให้กับผู้ป่วยในภาวะวิกฤต และสร้างความอุ่นใจให้คนไทยก้าวข้ามความยากลำบากครั้งนี้ ที่สำคัญและยังสามารถช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์

ห้องไอซียูโมดูลาร์ แก้ไขปัญหาไอซียูเต็ม

นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ มูลค่าโครงการ 45 ล้านบาท ซึ่งเอสซีจีให้การสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จึงเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถสร้างได้รวดเร็วใช้เวลา 7-10 วัน สำหรับห้องไอซียูโมดูลาร์ 1 อาคาร จำนวน 10 เตียง และยังมีประสิทธิภาพความสามารถเท่าไอซียูในโรงพยาบาลใหญ่ทุกประการ โดยทั้งมีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามสัญญาณชีพ มีการให้ออกซิเจน มีระบบสื่อสาร เปรียบเสมือนไอซียูที่อยู่ในโรงพยาบาล

ห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงานและใช้ระบบ Modular ที่สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงาน เพื่อประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ตามฟังก์ชันการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา

ห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก หรือ Positive Pressure Room เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่นและห้องความดันลบ หรือ Negative Pressure Room สำหรับกำจัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร

Nursing Station Zone สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย

การออกแบบแบ่งพื้นที่การใช้งาน

  • ICU Zone สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้จะใช้ระบบห้องความดันลบ
  • Nursing Station Zone สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย แบ่งเป็น Monitor Room สำหรับพยาบาลดูแลเฝ้าระวังและ Stand – By Room สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศในโซนนี้จะใช้ระบบห้องความดันบวก
  • Medical Preparation สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
  • Ante Room ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่ ICU Zone
  • Ante Room ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ และพื้นที่ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่

นับว่า “ไอซียูโมดูลาร์” เป็นนวัตกรรมการออกแบบที่ตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันในเรื่องของการที่ผู้ป่วยฉุกเฉินอาการหนักที่ต้องนอนในไอซียูมีจำนวนมากขึ้น ทำให้สามารถเสริมความปลอดภัย เซฟทีมแพทย์และช่วยคนไข้วิกฤติทันท่วงที

Source

https://scgnewschannel.com/th/scg-news/innovation-modular-icu-responding-to-critically-ill-patients/

Previous articleยูนิโกลบอล ยกนวัตกรรมทำความสะอาดบันไดเลื่อนนำเข้า ในงานสถาปนิก’65
Next article“Architecture of Penang Playlist” เพลย์ลิสต์ของงานสถาปัตยกรรมปีนัง ที่ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม