[ #Scoop ] จากกรณีข่าวที่ 3 คนงาน 1 รปภ. สลบในท่อระบายน้ำบริเวณคอนโดแห่งหนึ่งย่านบางนา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และยังไม่ได้สติอีก 2 ราย จึงเกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับมาตรการเรื่องความปลอดภัยและการช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งเรื่องนี้มีข้อกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 69 พ.ศ. 2564 ข้อที่ 29/2 ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ในอาคารสูง

เครื่อง AED คืออะไร? สำคัญอย่างไรกับการช่วยเหลือ? และทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน วันนี้ BuilderNews สรุปประเด็นสำคัญจากงานเสวนา สังคมที่ปลอดภัย เพื่อผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

Credit: https://www.stjohnvic.com.au/news/sudden-cardiac-arrest-first-aid/

ทำความเข้าใจ “ภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล”

ภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล หรือ Out-of-hospital Cardiac Arrest : OHCA คือภาวะที่สูญเสียการทำงานของหัวใจนำไปสู่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการ CPR ภาวะนี้เป็นภาวะที่ยกเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทย

รายงานจากวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ระบุว่า OHCA นั้นเกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ย 55 คนใน 100,000 คนต่อปี สำหรับประเทศไทย อัตราการตายจากโรคหัวใจอยู่ที่ 60,000 ต่อปี จัดว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวและ OHCA เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โอกาสในการฟื้นคืนชีพผู้ป่วยคือการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เช่น โทรหา 1669, ทำ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED

Photo by P. L. on Unsplash

เครื่อง AED คืออะไร? สำคัญอย่างไร?

เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) อุปกรณ์ช่วยชีวิตแบบพกพา สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ด้วยการช็อกกระแสไฟฟ้ากระตุกหัวใจ เปิดโอกาสให้หัวใจของผู้ป่วยกลับมาเต้นอีกครั้ง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากกว่าทำ CPR ถึง 75%

ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย เพียงเสี้ยววินาทีก็ตัดสินชีวิตได้ รัฐบาลไทยจึงเห็นด้วยกับเรื่องนี้ สอดคล้องกับกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ* ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเดินทางมาถึง

*อาคารที่สูงกว่า 23 ม. หรือมีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป และเป็นสถานที่สาธารณะ ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้

Credit: primedicthailand

4 นาทีชี้เป็นชี้ตาย

ภาวะหัวใจหยุดเต้น เป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดและคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ข้อมูลจากสาธารณสุขระบุว่า ทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีคนตายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นประมาณ 6 คน หากพบเห็นผู้ที่มีภาวะนี้ เรามีเวลาเพียง 4 นาทีในการคืนชีพจรเท่านั้น

การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 เท่า

CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด ส่วนการผายปอดคือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง

ดังนั้น การมีเครื่อง AED ไว้ตามอาคารต่าง ๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชน แต่ความสำคัญของเรื่องนี้อาจยังไม่มากพอให้นักลงทุนหรือองค์กรต่าง ๆ ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก

ไม่ใช่แค่ในอาคารสูง โอกาสการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นสามารถเกิดที่ไหนก็ได้ แม้แต่ขณะที่เรานั่งทำงานอยู่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ควรจะบรรจุไว้ในทุก ๆ สถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก

4 นาทีเมื่อพบผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้น การช่วยเหลือที่เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ การเดินทางไปเอาเครื่อง AED แล้วกลับมาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ภายใน 4 นาทีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไหม คำตอบคือเป็นไปได้ อาคารสูงในยุคต่อ ๆ ไป นักออกแบบจำเป็นต้องมีจุดวางเครื่อง AED หรือสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการช่วยเหลือของทีมประจำอาคาร เช่น ลิฟต์สำหรับทีมกู้ภัยที่เดินทางจากชั้นล่างสุดไปชั้นบนสุดในเวลาเพียง 1 นาที

AED ใช้ไม่ยากอย่างที่คิด

ในต่างประเทศ เครื่อง AED นั้นเป็นอะไรที่ปกติมาก เพราะเจ้าหน้าที่ประจำอาคารทุกคนต่างได้รับการฝึกสอนวิธีการใช้งานเครื่อง AED รวมถึงการทำ CPR แต่ในบ้านเรา อาจเป็นเรื่องที่ดูน่ากลัวกับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า แถมยังต้องช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอีก แต่ไม่ต้องกังวลไป ทาง สสส. ได้มีการจัดอบรมการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ให้กับผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ใน Youtube ยังมีการสอนใช้เครื่องนี้อีกด้วย

แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากการทำ CPR นั้น บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุตั้งแต่แรก เพื่อที่ในอนาคตการช่วยเหลือเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องรอทีมกู้ชีพเพียงอย่างเดียว

เช่นกัน หากในอนาคตอันใกล้ แต่ละอาคารไม่จำเป็นต้องอาคารสูงเพียงอย่างเดียว เริ่มติดตั้งเครื่อง AED ไว้ อัตราการตายจากภาวะนี้คงน้อยลงอย่างแน่นอน เพราะการช่วยเหลือจะเข้าถึงทุก ๆ คน ดังที่ “สยามสินธร” ได้ติดตั้งเจ้า AED ไว้ใน Unit ที่ตัวอย่างบริหารจัดการอย่างละ 1 เครื่อง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ รวมถึงลูกบ้านในเครือ ถึงการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเผชิญเหตุเหล่านี้

ภาวะหัวใจหยุดเต้น เกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างไม่มีข้อจำกัด ฉะนั้น การเตรียมพร้อมรับมือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน หากบ้านเราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย เพื่อให้เพื่อนร่วมโลก ได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง

Note: เมื่อพบผู้ประสบเหตุ ให้โทรแจ้งที่เบอร์ 1669 หากทำ CPR ไม่เป็น และต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจน
– สถานที่ ชั้นเท่าไหร่ ห้องไหน บริเวณใด จุดสังเกตสำคัญ
– สาเหตุการเกิด หากใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุหรือสอบถามญาติผู้ป่วย
– จำนวนผู้บาดเจ็บ
– ถ้าปฐมพยาบาลไม่ได้ ไม่ต้องทำ
– ทำมือถือให้ว่างตลอดเวลา เผื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

 

อ้างอิง
https://www.niems.go.th/1/UploadAttachFile/2022/EBook/414654_20220120134129.pdf
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF
https://heart.kku.ac.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=13:4

Previous articleศาลเจ้าชินโต ศรีราชา: วัสดุก่อสร้างและการจัดวางจากญี่ปุ่นทั้งหมด!
Next articleOscar Niemeyer สถาปนิกโมเดิร์นแห่งบราซิล
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ