โตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการแข่งขันในเรื่องของความสามารถด้านกีฬาแต่ละประเภทเท่านั้น แต่ยังมีดีเทลเล็ก ๆ ที่แฝงอยู่ในความเป็นเจ้าภาพของประเทศญี่ปุ่น ที่บ่งบอกกับนานาประเทศว่า “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากจริง ๆ

แนวคิดความยั่งยืนของ “โตเกียว โอลิมปิก 2020” คือ “Be Better, Together – For The Planet and The People” หากเราตีความหมายของคอนเซปต์นี้ คือ “การพัฒนาไปด้วยกัน เพื่อโลกและประชากร” ซึ่งเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นก็ได้ใส่รายละเอียดของคอนเซปต์นี้ เข้าไปอยู่ในเรื่องราวที่ BuilderNews ได้หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึง “ความกรีน” ในแบบฉบับของ “ญี่ปุ่น”

“สนามกีฬา” จากวัสดุก่อสร้างรีไซเคิล

รู้หรือไม่! สนาม Oi Hockey Stadium ใช้หญ้าเทียมที่ทำมาจากเส้นใยอ้อยเหลือทิ้งการเกษตร ลดปริมาณการลดน้ำมากถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่เคยจัดก่อนหน้านี้ ส่วนสนาม Musashino Forest Sports Plaza ที่ใช้แข่งกีฬาฟันดาบและแบดมินตันทำมาจากวัสดุก่อสร้างรีไซเคิล เช่น หิน เหล็ก กระเบื้อง เซรามิก พื้นไวนิล และคอนกรีต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีก 5 สนามกีฬาที่ใช้วัสดุก่อสร้างรีไซเคิลเหมือนกัน ได้แก่ Ariake Arena, Sea Forest Waterway, Tokyo Aquatics Centre, Kasai Canoe Slalom Centre และ Yumenoshima Park Archery Field

“เหรียญรางวัล” จากขยะอิเล็กทรอนิกส์

รู้หรือไม่! ว่าเหรียญรางวัลทั้ง เหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจำนวนกว่า 5,000 เหรียญที่ใช้มอบให้แก่นักกีฬาใน โตเกียว โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ ได้สกัดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจำนวนกว่า 78,985 ตัน ซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี ในการรวบรวมจากหน่วยงานท้องถิ่น 1,621 แห่ง ใน 46 จังหวัด

“โพเดียมรับรางวัล” จากพลาสติกรีไซเคิล 24.5 ตัน

รู้หรือไม่! ว่าโพเดียมรับรางวัลในโอลิมปิกครั้งนี้ เป็นการใช้วัสดุจากขยะรีไซเคิลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยขยะรีไซเคิลนั้นรวบรวมมาจากประชาชนทั้งหมด แบ่งเป็นขวดพลาสติก 400,000 ขวด กล่องสะสมขยะพลาสติกอีกกว่า 2,000 จุดตามสถานที่ต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการกว่า 9 เดือน นอกจากนี้ยังได้ Tokolo Asao ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบไอคอนโอลิมปิก Tokyo 2020 และยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท Proter and Gamble อีกด้วย

“คบเพลิง” จากอะลูมิเนียมรีไซเคิลหลังภัยพิบัติสึนามิ

รู้หรือไม่! กว่า 30% ของคบเพลิงโอลิมปิก ทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยถูกใช้ในการก่อสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บริเวณ เมืองเซนได จ.มิยากิ เกาะฮอนชู เมื่อปี 2011 นอกจากนี้ยังใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการจุดคบเพลิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เกร็ดน่ารู้ เครื่องแบบสำหรับผู้วิ่งถือคบเพลิงใน โตเกียว โอลิมปิก 2020 ส่วนหนึ่งได้นำพลาสติกรีไซเคิลจากขวดโค้กมาใช้เป็นวัสดุในการตัดชุดด้วย

“หมู่บ้านนักกีฬา” จากไม้รีไซเคิล

รู้หรือไม่! หมู่บ้านนักกีฬาในโตเกียว โอลิมปิก 2020 มีขนาด 5,300 ตารางเมตร แบ่งเป็น ธนาคาร ร้านกาแฟ พื้นที่ทางการแพทย์ เลานจ์ ร้านเสริมสวย ร้านค้า และศูนย์กลางสื่อ ซึ่งทำจากโครงสร้างไม้ หลังคาเหล็ก ใช้หลักการออกแบบพื้นฐานจากอาคารไม้ดั้งเดิม ใช้ไม้กว่า 40,000 ชิ้น ความพิเศษคือ ไม้เหล่านี้ได้รับการบริจาคมาจากอุตสาหกรรมป่าไม้กว่า 63 แห่งทั่วประเทศ

และเมื่อโอลิมปิกปิดฉากลง อาคารจะถูกรื้อถอนและวัสดุต่าง ๆ จะถูกส่งกลับคืนไปยังเขตต้นทาง เพื่อนำไปรีไซเคิลในโครงการสาธารณะท้องถิ่นต่อไป เช่น สร้างอาคารสำหรับโรงเรียนหรือเก้าอี้สาธารณะ เป็นต้น

 

ที่มาและภาพประกอบ
https://olympics.com/tokyo-2020/en/paralympics/news/key-sustainability-projects-para

Previous articleเตรียมพบกับนวัตกรรมประตู หน้าต่างนิรภัย
จาก S.D.BRILLIANTที่มาพร้อมกับดีไซน์ที่ปลอดภัย ในงานสถาปนิก’65
Next article“T House” บ้านคอนกรีต 3 ชั้น กับการใช้งานแบ่งสเปซแบบ Mixed Use ที่แทรกตัวอยู่ในย่านชิบูย่า
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ