ในสายตาของผู้คนทั่วไป สถาปนิกเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยความสวยหรูและอยู่ท่ามกลางสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยของวัตถุที่เปี่ยมไปด้วยรสนิยม แต่สำหรับผู้ที่อยู่กับงานออกแบบและการก่อสร้างอย่าง คุณกิตติธัช นรเศรษฐกร สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง KLICKKEN STUDIO แล้ว การเป็นนักออกแบบมีความหมายมากกว่าภาพที่คนอื่นมองเห็น ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างสรรค์อาคารหรืองานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่หมายถึงการออกแบบพื้นที่ชีวิตที่อยู่ภายใต้สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นด้วยเช่นกัน


จุดเริ่มของ KLICKKEN STUDIO

ความหลงใหลในรูปของบ้านและอาคารที่ได้พบเห็นในหน้านิตยสารมาตั้งแต่สมัยเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณกิตติธัชเลือกศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ออกแบบบ้านในฝัน สำหรับตัวเองและครอบครัว แต่ก่อนที่วันนั้นจะเดินทางมาถึง ในวันนี้สถาปนิกหนุ่มคนนี้ก็มีโอกาสได้สร้างสรรค์และฝากผลงานไว้หลายโครงการจนเป็นที่ยอมรับในฝีมือและแนวคิดในการออกแบบ

“KLICKKEN STUDIO เริ่มต้นมาจากพี่ชายของผมซึ่งเรียนจบจากคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนในปัจจุบัน ซึ่งพี่ชายของผมเคยทำงานด้านสายอีเว้นท์มาก่อนและได้มีโอกาสพบกับรุ่นพี่คณะสถาปัตยกรรม จากรั้วศิลปากรอีกท่าน จึงเรียกให้เข้าไปช่วยงานในโปรเจคบ้านและโครงการต่างๆ ซึ่งก็คาบเกี่ยวกับช่วงที่ผมกำลังจะเรียนจบพอดี เลยมีโอกาสได้ไปช่วยงานและถือเป็นการเพิ่มเติมความรู้ไปพร้อมกันด้วย พอเรียนจบปริญญาตรีผมก็เลยมาทำอย่างจริงจัง ในตอนนั้นจึงเริ่มมี KLICKKEN โดยเป็นการรวมตัวกันก่อตั้งสตูดิโอขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งเราเพิ่งจะมาจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

โดยหลัก ๆ แล้วเราจะดูแลเรื่องการดีไซน์ทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างทั้งภายนอกและภายในด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากงานที่เราออกแบบ แต่เราก็ไม่ได้รับเหมาทุกงานที่ออกแบบทั้งหมด โดยจะดูตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป เราเริ่มต้นจากการทำงานแบบเล็กๆ โดยทำงานให้คนรู้จักก่อนทีละเล็กละน้อย ก็อย่างที่ทราบดีว่าถ้าคุณไม่ใช่บริษัทที่มีชื่อเสียงโอกาสที่จะได้งานออกแบบก็มีน้อย ดังนั้นเราจึงเริ่มทำงานอย่างอื่น เช่น รับงานปรับปรุงและตกแต่ง (Renovate) เป็นต้น ซึ่งผมเองมองว่างานแต่ละประเภทจะค่อยๆ เข้ามาตามช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสม พอถึงจุดหนึ่งเมื่องานออกแบบของเราเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราก็จะมีประสบการณ์
และเริ่มมีงานเข้ามาให้ออกแบบมากยิ่งขึ้น

Gallery Bar & restaurant - 02

อันที่จริงการที่เรามีโอกาสรับเหมาในงานก่อสร้างด้วยทำให้เรามองเห็นภาพความจริงของการทำงานได้มากขึ้น ว่าการเป็นสถาปนิกจริง ๆ ต้องคลุกฝุ่น ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เห็นว่าสิ่งที่เราออกแบบนั้นสร้างจริงได้อย่างไร ไม่ใช่แค่วาดเส้นปากกา การที่เราไปคลุกคลีอยู่กับงานก่อสร้างมันทำให้เราได้รู้ว่าสิ่งนั้นสร้างแบบไหน หรือรู้กระทั่งจิตใจของคนทำ ซึ่งเป็นแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่เราต้องเรียนรู้ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับคนในหลายระดับ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าการเป็นสถาปนิกนั้นเท่ คือแต่งตัวดี ๆ ทำงานอยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ ภาพนั้นไม่ใช่เลย การที่จะได้ความรู้จริง
และทำงานจริงได้นั้น เราจะต้องเห็นและทำให้เยอะ ต้องลงมือทำงานและคลุกคลีอยู่กับงานนั้น ๆ

ที่ผ่านมาผมมองว่าทุกงานมีความยากและมีปัญหาในตัวเอง แต่อยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหาที่เข้ามาอย่างไร เราสนุกที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น ตัวผมเองค่อนข้างมีความสุขกับการจัดการปัญหา การมองหาวิธีที่จะทำให้ผ่านมันไปได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งด้วย และที่ผ่านมาผมคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับคนหลากหลายระดับ การติดต่อสื่อสารกับเจ้าของโครงการซึ่งเป็นคนหลากหลายประเภท รายละเอียดของการทำงาน รวมถึงการที่เราจะแปรรูปความคิดออกมาเป็นความจริงได้อย่างไร ดังนั้นวิชาชีพสถาปนิกเองจึงต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิทยาค่อนข้างมาก อย่างเช่น เมื่อเราพบคนแต่ละคน โจทย์ที่ต้องทำคือการหาข้อมูลว่าคน ๆ นั้นมีความคิดและความต้องการอย่างไร แล้วแปรรูปสิ่งเหล่านั้นออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ แต่การได้ทำงานหลาย ๆ งานก็ทำให้เราได้เรียนรู้และเดาความคิดของคนได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำงานตอบโจทย์ของลูกค้าได้มากขึ้นตาม

เพราะจุดเริ่มต้นทุกอย่างเกิดจากการพูดคุย ตัวผมมองว่าการตีความลูกค้าในรูปแบบจิตวิทยา เราต้องเข้าไปถึงจิตใจของเขาให้ได้ ถ้าสัมผัสได้ก็จะง่ายในการหยิบยื่นอะไรให้แก่ลูกค้า งานของเราคือการทำอย่างไรให้ภาพฝันของลูกค้าเป็นจริงในแบบที่เขาต้องการและพึงพอใจ เรามีหน้าที่ทำให้ความพึงพอใจของเขาสวยงามตามที่ควรจะเป็น แต่สำหรับ
ผมแล้วความงามมันไม่มีอยู่จริงเป็นเพียงทัศนะในจิตใจของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นผมเองก็จะไม่เอาทัศนะความงามของเราไปยัดเยียดให้คนอื่น สถาปนิกก็เปรียบเสมือนการเป็นนักจิตวิทยา ที่ต้องสามารถเข้าใจภายในจิตใจของลูกค้าว่าเขาคิดอะไร ต้องการสิ่งใด และเมื่อเราสามารถสัมผัสได้ เราก็จะมองเห็นความงามในแบบของเขา แล้วหยิบยื่นความงามนั้นให้แก่เขาได้”

สร้างผลงานด้วยการตีโจทย์ความต้องการ

Australia 4 days - 04สำหรับคุณกิตติธัช และ KLICKKEN STUDIO แล้ว การออกแบบโดยตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างตรงจุดนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการออกแบบคือการสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้อื่น ซึ่งหากสามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้ก็จะทำให้ผลงานสำเร็จออกมาสมบูรณ์อย่างแท้จริง

“ทุกงานที่ผ่านมาผมมีความประทับใจแทบทั้งหมด เพราะทุกงานมีเรื่องราวของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป แต่หากจะให้กล่าวถึง ผมอยากเอ่ยถึง D Hostel Bangkok ที่ประทับใจงานนี้ก็เพราะเจ้าของโครงการให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานมาก พอเรานำเสนอแนวคิดในการออกแบบไปก็ยอมรับแนวคิดนั้น ซึ่งในแง่ของการทำงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วผมว่าคนเก่ง ๆ มีค่อนข้างมาก แต่คนที่มีโอกาสในการสร้างสรรค์นั้นมีน้อย คนที่จะสามารถเอาความคิดตัวเองออกมาสร้างอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้นมีน้อย เพราะเราสร้างความคิดของเราด้วยเงินของคนอื่น ดังนั้นพอมีคนหยิบยื่นโอกาสเช่นนี้แก่เราจึงค่อนข้างประทับใจ โดยเจ้าของโครงการอยากได้อาคารที่มีความโดดเด่นจากสภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งเจ้าของชอบอาคารในสไตล์ชิโนโปรตุกีส แต่ในความเป็นจริงแล้วอาคารในย่านนั้นจะเป็นสไตล์โคโลเนี่ยล เราจึงตีความใหม่ให้เป็นสไตล์ของยุคปี ค.ศ. 2014 ซึ่งไม่ใช่โคโลเนี่ยลแบบการปั้นปูน แต่เราออกแบบด้านหน้าอาคารให้เป็นเสมืองานสเก็ตซ์เขียนแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้นเข้าไป และสุดท้ายผลตอบรับที่ได้ก็ออกมาดีและหวือหวามากทีเดียว เมื่อโปรเจคนี้แล้วเสร็จออกมาเจ้าของโครงการก็ชอบและพึงพอใจมาก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายงานที่เราทำและมีความสนุกอยู่ในตัวเอง อย่างเช่น Gallery Bar & Restaurant ซึ่งเจ้าของโครงการเคยเป็นเชฟในเรือมาก่อน เราก็ออกแบบให้ผสมผสานความเป็นเรือและทะเล แต่มีความเป็นงานไม้ที่ดูเท่ ๆ หรือโครงการตกแต่งร้านอาหารไทยที่ประเทศออสเตรเลีย ชือ่ Warrangul Thai Bar & Restaurant โดยงานนี้
เราต้องจัดการทุกอย่างให้เป็นแบบป๊อบอัพแล้วขนส่งจากเมืองไทยไปเซ็ตกันหน้างานจริงที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีเวลาในการเซ็ตอัพจริงแค่ 4 วัน แต่ผลที่ได้ออกมานั้นดีมาก งานร้านอาหารนี้เราก็ได้ช่วยออกแบบในอีกหลายส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย อย่างเช่น จานในร้านเราก็ทำขึ้นมาใหม่โดยใช้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่เคยร่วมงานกันสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้าน

d hostel - 03

อีกงานหนึ่งที่เรากำลังก่อสร้างอยู่เป็นบ้านและร้านเค้กที่จังหวัดระยองซึ่งเราค่อนข้างพึงพอใจกับงานนี้เช่นกัน เนื่องจากเราเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ด้วยการตั้งต้นความคิดด้วย ‘การออกแบบอากาศ’ เราอยากได้บรรยากาศแบบไหนในสเปซต่าง ๆ แล้วเราก็ออกแบบสเปซแบบนั้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีคิดที่เรานำมาใช้ในการออกแบบของเรา ไม่ใช่เพียงแค่สเก็ตซ์รูปอะไรสวยแล้วก็เอารูปนั้นมาใช้ทำงาน แต่เป็นการที่เราจะรู้สึกอย่างไรในสเปซแบบนั้นๆ แล้วเอาบรรยากาศแบบนั้นมาประกอบเข้าด้วยกันในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการออกแบบแนว Perception แต่ทั้งนี้จริง ๆ แล้วถ้าถามผมว่าที่ผ่านมามีงานไหนที่พึงพอใจเป็นพิเศษ สำหรับผมแล้วไม่มีนะความพึงพอใจเป็นพิเศษจะเกิดขึ้นกับงานชิ้นต่อ ๆ ไป ซึ่งในทุก ๆ งาน ที่ผ่านมาย่อมมีข้อผิดพลาดและทำให้เราได้เรียนรู้ว่างานที่ออกแบบไปแล้วเมื่อขึ้นเป็นรูปร่างขึ้นมา เราจะได้เห็นภาพความจริงว่าสิ่งไหนที่ใช้ได้จริงหรือไม่ได้จริง และแบบไหนมีข้อเสียอย่างไร เพราะฉะนั้นในแง่ของการทำงานเราจึงมักพึงพอใจกับการทำงานที่ได้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเองเพื่อนำไปพัฒนาผลงานชิ้นต่อ ๆ ไป”

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องได้สิ่งนี้ ต้องเป็นสิ่งนั้น มันคือการคาดหวัง เมื่อคาดหวังและไม่ได้มาก็จะเป็นทุกข์ อนาคตจึงเป็นเรื่องของโอกาส


PHOT1589 copyอนาคตเป็นเรื่องของโอกาส

การได้มองเห็นรายละเอียดการทำงานและทำความเข้าใจชีวิตในแต่ละช่วง เป็นสิ่งที่สถาปนิกรุ่นใหม่คนนี้ได้เรียนรู้จากการทำงาน และเมื่อเอ่ยถามถึงอนาคตในการทำงานในเส้นทางนี้ โครงการที่เขาปรารถนาจะทำให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นที่สุดก็คือการได้ออกแบบและสร้างพื้นที่ดำรงชีวิตของตัวเอง

“ถามว่าอยากทำอะไรอื่นอีกบ้าง ตอนนี้ผมอยากสร้างบ้านของตัวเองผมได้ซื้อที่ไว้แปลงหนึ่งมีลักษณะเป็นป่านิดๆ และอยากจะทำเป็นโปรเจคบ้านของผม ในเมื่อเราเป็นนักออกแบบทำไมเราจะดีไซน์ชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ เพราะผมรู้สึกว่าเราทุกคนเกิดมาก็ต่างมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการใช้ชีวิตของตัวเอง ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ได้ทำงานออกแบบและได้พบแง่มุมของชีวิตในแบบต่าง ๆ ทั้งที่เราเลือกได้และเลือกไม่ได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งเราจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เราเลือกคืออะไร ผมจึงมองหาที่ที่จะใช้ชีวิตได้ในแบบของผม พอถึงจุดหนึ่งผมรู้สึกว่าเราก็ต้องการแค่ปัจจัยสี่เท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็น่าจะเป็นบ้านของเรา โดยเบื้องต้นคิดไว้ว่าจะเป็นโปรเจคออกแบบความสุข ที่มีแนวคิดในการออกแบบที่เรียบง่าย เนื่องด้วยอาชีพสถาปนิกอย่างเรา ๆ ซึ่งอยู่ในแวดวงการออกแบบและก่อสร้างและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
ทุนนิยมและบริโภคนิยม ผมจึงมีความตั้งใจที่จะเอาขยะเหลือใช้จากงานก่อสร้างของคนเมืองไปใช้ในโครงการนี้ด้วย

ส่วนเป้าหมายของบริษัทเราก็พยายามทำให้เติบโตขึ้น มีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมเปิดโอกาสในการรับงานใหม่ ๆ แต่ก็ไม่ได้วางไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นรูปแบบไหน เพราะผมมองว่าเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งเวลาจะเป็นตัวบอกเอง ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องได้สิ่งนี้ ต้องเป็นสิ่งนั้น มันคือการคาดหวัง เมื่อคาดหวังและไม่ได้มาก็จะเป็นทุกข์ อนาคตจึงเป็นเรื่องของโอกาส โดยสิ่งที่เราต้องทำวันนี้ คือการสร้างตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ สำหรับอนาคต”

นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

Previous articleหลักคิดในการทำงาน
Next articleทำความเข้าใจแนวคิดจัดงาน สถาปนิก’60
“บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ