จากเหตุการณ์เครนถล่มขณะกำลังก่อสร้างคอนโดมีเนียม The Rise Rama9 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 รายนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า เหตุการณ์เครนถล่ม ขณะกำลังก่อสร้างนั้น เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในการก่อสร้างสะพานทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับ และอาคารสูง เช่น เครนถล่มขณะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยาเมื่อปี 2559 เครนก่อสร้างถล่มขณะก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณหน้าวัดดอนเมืองเมื่อปี 2560 และเครนก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติ บริเวณถนนพระราม 9 เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เปิดเผยว่า เครนหรือปั้นจั่นคือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ใช้ในการยกและเคลื่อนย้ายสิ่งของ เครนที่ใช้ในการก่อสร้างโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 1. ทาวเวอร์เครน (Tower crane) ซึ่งหมายถึงเครนที่สร้างเป็นลักษณะหอสูงตั้งอยู่กับที่มีรัศมีทำการรอบตัวเครน และ 2. โมบายเครน (Mobile crane) หมายถึงเครนตั้งอยู่บนล้อรถที่เคลื่อนที่ได้ สำหรับเครนก่อสร้างโครงการ The Rise Rama 9 จัดเป็นประเภท Tower Crane มีความสูงประมาณ 30 ม. มีปลายแขนหรือบูมทำการในช่วงความยาวประมาณ 40 ม. สภาวิศวกรได้ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบอาคารได้ส่งผู้ชำนาญการ เข้าเก็บข้อมูลการพังถล่มเป็นเบื้องต้นแล้ว เมื่อวันที่ 30 สค. ที่ผ่านมา โดยได้รับการประสานงานจากสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง สำหรับสาเหตุการพังถล่มของเครนตัวนี้ ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ ต้องรอผลการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากภาคสนามเสียก่อนจึงจะสามารถระบุได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ อธิบายว่า ที่ผ่านมาเครนก่อสร้างอาจถล่มด้วยสาเหตุได้หลายประการ ได้แก่

  1. การยกน้ำหนัก หรือ สิ่งของเกินพิกัดน้ำหนัก
  2. การไม่ยึดเครนเข้ากับโครงสร้างอาคารให้มั่นคง
  3. ชิ้นส่วนตลอดจนรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ไม่แข็งแรง หรือมีจุดยึดไม่พอ
  4. อายุการใช้งานเครนและการเสื่อมสภาพ เช่น การเกิดสนิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณฐานเครน
  5. ฐานรากที่รองรับเครนไม่แข็งแรงพอ
  6. ความผิดพลาดของพนักงานที่ปฏิบัติงานในขั้นตอนการทำงาน

จะเห็นว่า การถล่มของเครนก่อสร้างอาจเกิดได้หลายกรณี ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวกับความแข็งแรงในการรับน้ำหนักของตัวเครนเอง หรือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ปฏิบัติงานอยู่ การวิเคราะห์หาสาเหตุจึงต้องทำอย่างถี่ถ้วนและครอบคลุมปัจจัยทุกด้านอย่างครบถ้วน และขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด

ศ.ดร. อมร กล่าวต่อว่า เครนคือเครื่องจักรกลอย่างหนึ่ง การใช้งานต้องดูแลรักษา มีหลักการเช่นเดียวกับการดูแลรักษารถยนต์ที่เราใช้ขับขี่ทุกวัน โดยการใช้งานเครนให้ปลอดภัยนั้น จะต้องทำการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครน โดยแบ่งออกเป็น 1. การตรวจสอบประจำวันตามรายการตรวจสอบโดยพนักงานควบคุมเครน และ 2. การตรวจสอบเพื่อซ่อมบำรุงตามรอบเวลาเช่นทุก 3 เดือนหรือตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด เช่นเดียวกับการเอารถยนต์เข้าตรวจเช็คระยะนั่นเอง ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พนักงานควบคุมเครน ต้องผ่านการอบรมและต้องมีจิตสำนึกที่ไม่ประมาทและต้องปฏิบัติตามข้อหนดการใช้งานอย่างเคร่งครัด

Previous article“คลินิกช่าง” ให้คำปรึกษาฟรี ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561
Next articleเฮเฟเล่ อุปกรณ์ครบ จบทุกเรื่องงานอาคาร มาตรฐานเยอรมนี