ปัญหายอดฮิตของผู้รับเหมาที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็คือ การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง แม้จะมีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็ยังมีแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐเร่งขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ยิ่งตอกย้ำให้ความต้องการแรงงานในภาคการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานจึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่ระดับความรุนแรงของภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในบางช่วงเวลาอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้นกลายเป็นวัฏจักรอย่างหนึ่งที่หลายๆ ประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาและมีความก้าวหน้าทางสังคมแล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ต่างก็ประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานมาก่อน ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางสังคมนั่นเอง ทว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้นเลือกที่จะเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศเข้าไปทดแทน ทำให้ประเทศไทยซึ่งมีอัตราแรงงานไหลออกไปทำงานต่างประเทศจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลน ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน ขณะที่ปัญหาแรงงานขาดแคลนไม่เคยขาดหายไปจากแวดวงธุรกิจก่อสร้างและยังกลายเป็นวิกฤตที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
แรงงานต่างด้าวหมุนเวียนอยู่ในระบบหลายล้านคน
ในอดีตนั้นแรงงานก่อสร้างของไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากชนบท เข้ามาทำงานเป็นแรงงานก่อสร้างนอกฤดูกาลการทำเกษตรกรรม ทว่าเมื่อประเทศเข้าสู่ยุคการทำเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว โรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงงานผลิตเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวมเร็ว ทำให้แรงงานในภาคการก่อสร้างไหลออกไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแทน เนื่องจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีความยากลำบากในการทำงาน เช่น แรงงานก่อสร้างที่ต้องทำงานหนักกว่าแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัด
ปัญหาที่เกิดขึ้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาคมวิชาชีพด้านการก่อสร้างต่างตระหนักดีและพยายามหาทางแก้ไข ผลักดันให้อัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานก่อสร้างสูงกว่าแรงงานในสาขาอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาวะการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างนั้นดีขึ้นมากนัก
ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นพม่า มอญ เขมร ลาว ฯลฯ หมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นจำนวนหลายล้านคนและแทบทุกไซต์งานในปัจจุบันมีการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 20% ของแรงงานที่ต้องการใช้ทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าบางไซต์งานโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้นมีการจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งเลยด้วยซ้ำ นั่นเพราะแรงงานระดับล่างที่จะทำงานในโครงการก่อสร้างนั้นเป็นแรงงานในสัดส่วนที่น้อยมาก สะท้อนถึงภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานภายในประเทศอย่างรุนแรง

สศช.จับสถานการณ์แรงงานไทย
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์แรงงานไทย โดยระบุถึงเงื่อนไขและผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างประชากรที่มีการคาดการณ์ว่าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ประชากรไทยจะเพิ่มจาก 65.5 ล้านคนเป็น 66.1 ล้านคนโดยสัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.1 เป็นร้อยละ 19.8 ขณะที่สัดส่วนของประชากรแรงงานจะลดลงจากร้อยละ 65.3 เหลือร้อยละ 64.1
โดยเมื่อถึงช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13-15 (2565 – 2579) สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.6 ขณะที่ประชากรวัยแรงงานจะลดลงจากร้อยละ 63.1 เหลือร้อยละ 56.3
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในหลายด้าน หากพิจารณาถึงนัยสำคัญในเชิงลึกจะพบว่าประชากรในวัยแรงงานปัจจุบันมีจำนวน 38.08 ล้านคน ลดลงจากปี 2553 ที่มี 38.64 ล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหากำลังแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการ ประกอบกับตลาดแรงงานในปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการแรงงานในภาคบริการมากขึ้น จากร้อยละ 36.4 ในปี 2545 เพิ่มเป็นร้อยละ 45.9 ในปี 2560
ผลสำรวจของธนาคารโลก ระบุว่า ธุรกิจในประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้าง จึงต้องวางแผนผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการทิศทางการพัฒนาของประเทศ และการพิจารณาค่าจ้างให้สอดคล้องกับความสามารถแรงงาน
ผู้รับเหมาไทยเสี่ยงขาดแคลนแรงงานมากถึง 50,000 – 200,000 คน
ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ยังได้ประเมินว่า ช่วงปี 2561-2583 ผู้รับเหมาไทยมีโอกาสที่จะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานราว 50,000 – 200,000 คนต่อปี อันเนื่องมาจากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ขณะเดียวกันคาดว่าแรงงานต่างด้าวจะลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ในปี 2561 ค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับตัวสูงขึ้นราว 5% มาอยู่ที่ 325 บาทต่อคนต่อวัน
นอกจากนี้ แรงงานไทยยังมีปัญหาในด้านคุณภาพ โดยปี 2560 แม้ว่าแรงงานจะมีการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ร้อยละ 62 ยังมีการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่า ขณะที่สัดส่วนแรงงานที่อายุ 50 ปีขึ้น มีสัดส่วนร้อยละ 31.7 ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการปรับทักษะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีระดับสูงในอนาคต จึงสะท้อนปัญหาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

แกะรอยปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อนพยายามพึ่งพาเครื่องจักร
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อภาวะการขาดแคลนแรงงานทางอ้อม ก็คือ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แม้จะมีผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานในภาคก่อสร้างไม่มากนัก เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานก่อสร้างก่อนหน้านี้อยู่ในระดับสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ แต่ผู้รับเหมาส่วนใหญ่กำลังพยายามลดการจ้างแรงงานที่ไม่มีทักษะน้อยลง และหันไปพึ่งพาการใช้เครื่องจักรทดแทน รวมถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (PRE-FABRICATION)
ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างของไทยอาจมีผลชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2562-2563 ที่การลงทุนโครงการภาครัฐขยายตัวสูงและงานก่อสร้างภาคเอกชนทยอยเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การแย่งชิงแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะความชำนาญ และการที่ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ถูกผ่อนปรนในปี 2560 แล้วจะมาเริ่มต้นบังคับใช้ครึ่งหลังของปี 2561 อาจส่งผลให้แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งของภาคก่อสร้างในปีระยะ 3 ปีข้างหน้าลดลง หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากโครงสร้างการจ้างแรงงานในภาคก่อสร้าง ที่ผ่านมาเป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 50% และส่วนมากเป็นแรงงานที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน

แนวทางบรรเทาวิกฤตขาดแคลนแรงงาน
แนวทางที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ การจัดสรรแรงงานตามโควต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะเป็นเสมือนการจัดระเบียบแรงงานใหม่ มีการกำหนดความต้องการแรงงานในแต่ละปี และกำหนดประเภทแรงงานว่าต้องการแรงงานระดับล่างทั่วไป หรือต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมาได้แรงงานที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสถาบันการศึกษายังต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อที่จะให้แรงงานเข้าสู่ตลาดมีความรู้ ความสามารถและมีทักษะฝีมือที่ดี ซึ่งจะทำให้การดำเนินการโครงการก่อสร้างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ผู้รับเหมายังต้องปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งระบบก่อสร้างสำเร็จรูปมาทดแทนการก่อสร้างแบบเดิมๆ ซึ่งนอกจากเป็นการควบคุมต้นทุนแล้ว ยังช่วยควบคุมระยะเวลาในการดำเนินงานก่อสร้างของโครงการได้ด้วย
อีกสิ่งที่ขาดหายไปและทำให้ตลาดแรงงานซบเซาลง ก็คือ มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการของภาครัฐมีส่วนสำคัญทั้งในทางตรงและทางอ้อมต่อสภาวะตลาดแรงงานของไทย ในทางตรงภาครัฐได้อัดฉีดเม็ดเงินขนาดใหญ่กระจายไปตามต่างจังหวัดผ่านทั้งมาตรการลงทุนขนาดเล็ก มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ทั้งระดับหมู่บ้านและตำบลรวมกันประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐยังได้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอน ที่มีผลให้ผู้รับเหมารายต่างๆเร่งสร้างโครงการเพื่อให้ทันใช้สิทธิ์มาตรการดังกล่าว ส่งผลทางอ้อมให้ความต้องการแรงงานก่อสร้างในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เมื่อภาครัฐลดมาตรการกระตุ้นในลักษณะดังกล่าวลงความต้องการแรงงานก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจึงลดลงไปด้วย
จะเห็นได้ว่า ปัญหาแรงงานขาดแคลนยังไม่สามารถแก้ไขได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะมีความเบาบางของปัญหาในบางช่วงเวลา แต่ปัญหาแรงงานขาดแคลนก็ไม่ได้หายไปจากวงการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตรงกันข้ามหากพิจารณาถึงการเกิดขึ้นของโครงการต่างๆ ในอนาคตตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของภาครัฐแล้ว ยิ่งทำให้ผู้รับเหมาต้องประเมินถึงระดับความรุนแรงของการเกิดภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้น แม้จะมีมาตรการหรือแนวทางต่างๆ จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาช่วยบรรเทาปัญหา แต่ผู้รับเหมาเองก็ต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลา สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างเหมาะสมในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ และแน่นอนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการดำเนินงานก่อสร้างได้ ผู้รับเหมาจำเป็นต้องเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขอบคุณเนื้อหา 
นิตยสารข่าวช่าง Contractors’
นิตยสารของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
HTTPS://BIT.LY/2PEUZ4B
HTTPS://BIT.LY/2WTSFNF
HTTPS://BIT.LY/2WUQKUF
ขอบคุณรูปภาพ
https://prachatai.com/journal/2016/12/69292
https://prachatai.com/journal/2017/04/71051
http://www.sapsiammaterial.com
http://www.thecoolclouds.com/construction
Previous article‘รถขุด’ ฟันเฟืองสำคัญของงานก่อสร้าง
Next articleแนวทางยกระดับมาตรฐานผู้รับเหมารายย่อย