สำหรับวิธีใช้สตีลไฟเบอร์ก่อนทำการผสมเส้นใยเหล็กลงในคอนกรีตสด ต้องมั่นใจว่าคุณสมบัติและค่าการยุบตัว เข้าเกณฑ์ตามกำหนดของประเภทวัสดุคอนกรีตโม่ผสมจะต้องมีความเร็วไม่น้อยกว่า 20 รอบต่อนาที การผสมเส้นใยเหล็ก ลงในคอนกรีตสดด้วย เครื่องผสมเส้นใยเหล็กหรืออาจใช้วิธีการโปรยเส้นใยด้วยมือ อัตราการผสมจะต้องมีปริมาณไม่เกิน 40 กิโลกรัมต่อนาที เมื่อนำเส้นใยเหล็กผสมลงในคอนกรีตสด จนครบตามจำนวนที่กำหนดจะต้องหมุนโม่ผสมด้วย ความเร็วสูงสุดเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันเป็นเวลา 4-5 นาที โดยอัตราการผสมจะต้องมีปริมาณระหว่าง 20-40 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร
สำหรับการเท จะเริ่มต้นจากการเทคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็กลงในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยตรงหรืออาจใช้ปั๊มตามดุลยพินิจของวิศวกรผู้ควบคุมงาน ปาดหน้าพื้นด้วยมือใช้เครื่องปาดเลเซอร์ หรือการสั่นเขย่าให้ได้แนวและระดับเพราะการปรับแต่งขั้นสุดท้าย จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไม่พบน้ำลอยขึ้นมาผิวหน้าคอนกรีต (Free Bleed Water) การแต่งผิวหน้าอาจเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ได้ตามความเหมาะสม

ขั้นตอนการทำงาน เมื่อเลือกใช้สตีลไฟเบอร์
ขั้นตอนการทำงานเมื่อโครงการเลือกใช้สตีลไฟเบอร์ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
  1. การจัดเตรียมพื้นที่ (Ground Preparation)
1.1 ในกรณีก่อสร้างแผ่นพื้นคอนกรีตวางบนชั้นดินเดิม (Slab on Grade) ชั้นดินดังกล่าวจะต้องได้รับการบดอัดจนมีความสามารถในการรับน้ำหนักในรูปของค่า Modulas of Subgrade (k) หรือค่า California Bearing Ratio (CBR) ตามที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนด นอกจากนี้บริเวณผิวหน้าของชั้นดินเดิมจะต้องปรับให้เรียบและได้ระดับด้วยหินคลุก (Crushed Rock) หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ได้รับการอนุมัติ
1.2 ชั้นดินเดิมจะต้องทำการบดอัดให้ได้ความหนาแน่น ตามมาตรฐานการทดสอบที่เชื่อถือได้ ในส่วนของระดับผิวหน้าของชั้นดินดังกล่าวจะต้องมีความเรียบและสม่ำเสมอโดยมีค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ได้ไม่เกิน +/- 10 มิลลิเมตร
1.3 ในกรณีก่อสร้างแผ่นพื้นคอนกรีตบนเสาเข็ม (Pile Supported Slab) ชั้นดินเดิมโดยรอบกลุ่มเสาเข็มจะต้องได้รับการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยซีเมนต์ (Cement Stabilized) หรืออาจใช้วิธีการเทคอนกรีตหยาบ (Lean Concrete) ก่อนดำเนินการก่อสร้างบนแผ่นพื้น สำหรับการก่อสร้างแผ่นพื้นลงบนชั้นดินเดิมจำเป็นต้องพรมน้ำให้ดินมีคามชุ่มชื้นเพียงพอเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำออกไปจากมวลคอนกรีต
1.4 เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำออกไปจากมวลคอนกรีตอาจใช้แผ่นพลาสติกวางรองตลอดชั้นดินเดิมก่อนทำการเทคอนกรีต
1.5 บริเวณพื้นที่ก่อสร้างควรหาวิธีการป้องกันผลกระทบเนื่องจากสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อคอนกรีต
1.6 ตรวจสอบระบบไม้แบบและค้ำยันเพื่อใช้เป็น Construction Joint ว่าได้ติดตั้งตรงตามจุดที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนดไว้หรือไม่
1.7 สำหรับบริเวณที่เป็นจุดวิกฤติ (Critical Location) เช่น ส่วนมุมของแผ่นพื้น ช่วงพื้นลดระดับ (Floor Drop) ช่องเปิดในแผ่นพื้น และแผ่นพื้นใกล้เสาอาคาร จะต้องเสริมเหล็กเพิ่มเติมเข้าไปในส่วนดังกล่าวตามปริมาณที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนด ในกรณีทั่วไป เหล็กเสริมจะต้องติดตั้งต่ำกว่าแผ่นพื้นประมาณ 30 มิลลิเมตร และห่างจากส่วนมุมของส่วนวิกฤติ 50 มิลลิเมตร
1.8 ควรวางแผนและกำหนดจุดตั้งเครื่องผสมใยเหล็ก (Dosing Machine) ในบริเวณที่มีความสะดวกในการทำงาน
1.9 ก่อนดำเนินการก่อสร้างควรตรวจสอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ถนนทางเข้าสำหรับลำเลียงคอนกรีต เครื่องผสม วัสดุอื่น ๆ ที่ใช้เพิ่มเติมในการผสม ตลอดจนต้องมีเส้นใยเหล็กจำนวนเพียงพอในการผสมลงในคอนกรีตแต่ละครั้ง

  1. การผสมเส้นใยเหล็กผสมลงในคอนกรีตสด (Batching and Mixing of Steel Fibre)
2.1 ก่อนผสมใยเหล็กลงในคอนกรีตสด ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าคุณสมบัติของคอนกรีตและค่าการยุบตัว (Slump) ก่อนผสมมีคุณสมบัติตรงตามรายการข้อกำหนดวัสดุประเภทของคอนกรีตหรือไม่
  2.2 ปริมาณเส้นใยเหล็กที่ผสมลงในคอนกรีตสดต้องตรงกับปริมาณที่วิศวกรผู้ออกแบบกำหนดซึ่งโดยทั่วไป ปริมาณเส้นใยเหล็กจะถูกกำหนดเป็นน้ำหนักเส้นใยเหล็กต่อปริมาตรคอนกรีต
2.3 การผสมเส้นใยเหล็กลงในคอนกรีตสดสามารถทำได้ในโม่ผสม สำหรับความเร็วการหมุนโม่จะต้องมีความเร็วไม่น้อยกว่า 20 รอบต่อนาที
2.4 ผสมเส้นใยเหล็กลงในคอนกรีตสดด้วยเครื่องผสมใยเหล็ก (Dosing Machine) หรืออาจใช้วิธีโปรยเส้นใยด้วยมือ (Manually Add) โดยอัตราการผสมจะต้องมีปริมาณไม่เกิน 40 กิโลกรัมต่อนาที
2.5 เมื่อนำเส้นใยเหล็กผสมลงในคอนกรีตสดจนครบตามจำนวนที่กำหนดจะต้องหมุนโม่ผสมด้วยความเร็วสูงสุดเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3-5 นาที
2.6 ตรวจสอบค่าการยุบตัว (Slump) ของคอนกรีตผสมใยเหล็กก่อนนำไปใช้งาน ค่าการยุบตัวดังกล่าวจะ ขึ้นอยู่กับวิธีการเทคอนกรีตและปริมาณเส้นใยเหล็กในส่วนผสม ซึ่งควรอยู่ในช่วงที่แสดงไว้ในตารางที่ 2.1 และตารางที่ 2.2
ปริมาณเส้นใยเหล็ก (กก./ลบ.ม.)
ค่าการยุบตัว (มม.)
20 – 25
130
30 – 35
130 – 150
40 – 45
150 – 180
ตารางที่ 2.1 ค่าการยุบตัวกรณีเทคอนกรีตโดยตรงไม่ผ่านอุปกรณ์
ปริมาณเส้นใยเหล็ก (กก./ลบ.ม.)
ค่าการยุบตัว (มม.)
15 – 25
150
30 – 35
150 – 180
40 – 45
150 – 180
ตารางที่ 2.2 ค่าการยุบตัวกรณีเทคอนกรีตผ่านปั๊ม
2.7 สำหรับคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็กที่มีค่าการยุบตัวน้อยกว่า 80 มิลลิเมตร ควรใช้น้ำยาผสมคอนกรีตประเภทลดน้ำอย่างมาก (Super-plasticizer) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยให้คอนกรีตมีความเหลวตัวสูง ช่วยให้ทำงานได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องผสมน้ำในคอนกรีตเพิ่มเติม
2.8 ห้ามมิให้ผสมน้ำเพื่อเพิ่มค่าการยุบตัวหรือเพื่อทำให้สามารถทำงานได้ง่ายเนื่องจากมีความเหลวตัวเพิ่มขึ้นโดยเด็ดขาด
  1. การเทคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็ก (Concreting)
3.1 เทคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็กลงในพื้นที่ที่ได้ตัดเตรียมไว้โดยตรงหรืออาจใช้ปั๊มตามดุลยพินิจของวิศวกรผู้ควบคุมงาน
3.2 เกลี่ยและเขย่าให้แน่นตลอดทั้งบริเวณจากนั้นจึงปรับแต่งผิวหน้าให้ได้แนวและระดับ
3.3 การปรับแต่งผิวหน้าขั้นสุดท้าย (Finishing) จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไม่พบน้ำลอยขึ้นมาบนหิวหน้าคอนกรีต (Free Bleed Water) การแต่งผิวหน้าอาจเลือกใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ได้ตามความเหมาะสม เช่น เกรียงเหล็ก Bull Float หรือ Power Rotary Trowelling เป็นต้น
3.4 ในกรณีเลือกใช้ Power Rotary Trowelling สำหรับแต่งผิวหน้าจะสามารถดำเนินการได้ เมื่อคอนกรีตเริ่มแข็งตัวไปแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง
3.5 ทำร่องป้องกันการหดและขยายตัว (Saw Cutting) บนแผ่นพื้น เมื่อคอนกรีตเริ่มแข็งตัวไปแล้วประมาณ 12-24 ชั่วโมง
3.6 ร่องป้องกันการหดและขยายตัว ควรมีความกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีความลึกประมาณ 1/3 ของความหนาแผ่นพื้น
สตีลไฟเบอร์มีดีอย่างไร?
ต้องยอมรับว่าการเสริมกำลังพื้นโดยสตีลไฟเบอร์ มีข้อดีหลายประการ เนื่องจากเส้นใยมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งคอนกรีต ซึ่งนอกจากเรื่องของคุณสมบัติความแข็งแรงทางโครงสร้างของคอนกรีตที่มีประสิทธิภาพในการรับแรงกระแทกได้ดีขึ้น สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงขึ้น เพราะมีความแข็งแรงมากกว่าพื้นทั่วไปแล้ว การใช้สตีลไฟเบอร์ยังบำรุงรักษาง่าย ลดรอยร้าว และทนต่อการสึกกร่อน อายุการใช้งานยาวนาน เนื่องจากความสามารถในการต้านทานความล้าและแรงกระแทกสูง พื้นคอนกรีตที่ผสมสตีลไฟเบอร์จึงมีอายุการใช้งานยืนยาว ช่วยลดการซ่อมบำรุง ที่สำคัญยังช่วยลดระยะเวลาก่อสร้าง เพราะการใช้สตีลไฟเบอร์ในการเสริมกำลังสามารถช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างและลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้อีกด้วย

 

 

ขอขอบคุณข้อมูล : http://bit.ly/2lrOt72 , http://bit.ly/2MVGK4h , http://www.thaimetallic.com , นิตยสารข่าวช่าง นิตยสารของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมป์
ภาพ: https://www.thaimetallic.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%86/steel-fiber%E0%B9%83%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%95/
https://www.alibaba.com/product-detail/Concrete-Uses-Steel-Fibers_50009594419.html
https://www.sika.com/content/corp/main/en/solutions_products/construction-markets/sika-concrete-technology/concrete-handbook-2013/concrete-types/high-strength-concrete.html
Previous article“สตีลไฟเบอร์” นวัตกรรมคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
Next articleVOLA ฉลองครบรอบ 50 ปี ของการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์