ปารีส นครในฝัน แดนแห่งขุมทรัพย์ทางศิลปะวิทยาการและสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกทั่วโลกต้องตีตั๋วเดินทางไปยลด้วยตาสักครั้งในชีวิต ผลงานชิ้นหนึ่งนอกเหนือจากมหาวิหารที่ถูกไฟไหม้ไป คงต้องยกให้กับ “พิพิธภัณฑ์ลูฟว์” และ “พีระมิดลูฟว์ 3 หลัง” ประตูทางเข้าสู่โลกแห่งศิลปะ

สำหรับพวกเราชาวสถาปนิกอาจจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าใครเป็นคนออกแบบพีระมิดหน้าตาทันสมัยแบบนี้ แต่คนที่อยู่นอกวงการบางคนจะต้องทึ่งทันทีเมื่อเห็นหน้าสถาปนิกเจ้าของผลงานการออกแบบพีระมิดลูฟว์ !!

ไอ. เอ็ม. เปย์ (I.M.Pei) หรือ เป้ย์ ยวี่หมิง (Ieoh Ming Pei) Photo by Marc Riboud

หน้าที่แสนจะจีนของเขา กับผลงานที่โชว์ลุคตะวันตกแบบสุด ๆ แม้จะดูค้านสายตาใครหลายคน แต่ถ้าได้เห็นผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่เขาออกแบบมาเรื่อย ๆ ทุกคนคงไม่แปลกใจ เพราะสไตล์งานของเขาค่อนข้างชัดเจนทีเดียว เพื่อสดุดีให้กับการจากไปของเขาในวัย 102 ปี BuilderNews ขอย้อนรอยด้วยการนำอัตชีวประวัติของเขามาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รู้จักสถาปนิกระดับโลกคนนี้อีกครั้ง

Credit photo: jfklibrary.org

ไอ. เอ็ม. เปย์ (I.M.Pei) หรือ เป้ย์ ยวี่หมิง (Ieoh Ming Pei) เกิดเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ. 2460 เกิดที่เมืองกวางโจว และเติบโตที่ฮ่องกง แต่ชื่นชอบภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา เขาจึงเป็นชาวตะวันออกที่สนใจเรื่องราวของตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก ทว่าในยุคที่ทุกอย่างยังไม่สะดวกสบายเหมือนตอนนี้ การเข้าถึงเรื่องราวของอีกซีกโลกต้องอาศัยความสามารถทางภาษาที่เข้มข้นและความมานะที่สูงกว่า เพราะที่เรียนยังมีน้อย เป้ย์ผู้ใฝ่รู้จึงเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านคัมภีร์ไบเบิลและบทประพันธ์ของชาลส์ ดิกคินส์

ไม่เพียงเท่านั้น เป้ย์ในวัย 18 ปี ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จากนั้นย้ายไปศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ทว่าทุกบทเรียนที่ผ่านสมองไม่ได้เข้าสู่หัวใจ เป้ย์จึงหลีกหนีจากการออกแบบสถาปัตย์สไตล์วิจิตรศิลป์มาศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มากกว่า ซึ่งหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อผลงานและแนวคิดของเขาคือสถาปนิกชื่อดังอย่างสถาปนิกเลอกอร์บูซีเย

ขบถสู่การเป็นผู้นำด้านสถาปัตยกรรม ไอคอนิกของงานโมเดิร์น

ถ้าอยากรู้ว่าสถาปนิกคนนั้นมีรูปแบบงานและแนวคิดการทำงานอย่างไร จงดูจากงานของเขา แต่ถ้าให้ลึกซึ้งเข้าไปถึงแก่นก็ให้ดูที่วิทยานิพนธ์ที่เขาทำระหว่างเรียนด้วย

“ชีวิตคือสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมคือกระจกที่สะท้อนชีวิต” – I.M.Pei

ไอ.เอ็ม.เปย์ ทำวิทยานิพนธ์เรื่องพิพิธภัณฑ์ศิลปะจีนในเซี่ยงไฮ้ งานของเขาชัดเรื่องปริมาตร เรื่องรูปทรงเรขาคณิต โชว์เอกลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่แบบชัดเจน และใช้วัสดุประเภทกระจก หิน เหล็กให้เห็นเป็นประจำจนกลายเป็นหนึ่งในลายเซ็นแทบทุกงาน ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงเรื่องราวความสำคัญของสถาปัตยกรรมที่มีผลทางประวัติศาสตร์และคำนวณเรื่องสภาพอากาศของที่ตั้งก่อนเสมอ ซึ่งเรายังคงเห็นสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในทุกผลงานของเขา โดยเฉพาะพีระมิดลูฟว์ที่ปรากฏเป็นขวัญตาให้กับคนทั้งโลก

เคล็ดลับของสิ่งก่อสร้างแบบ Timeless ของเขาคือการสร้างเสน่ห์แบบคลาสสิก เขาทำความเข้าใจเรื่องราวของพื้นที่แล้วผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่เข้าด้วยกัน ดังนั้น เวลาที่เรามองไปที่งานของเขาจะรู้สึกว่าใหม่อยู่เสมอ แต่ความใหม่นั้นไม่ได้เป็นความใหม่ที่ให้ความรู้สึกแบบเอเลี่ยน หรือใหม่จนดูประดักประเดิด เพราะถ้ามองอีกทีมันก็มีความอนุรักษ์นิยมบางอย่างที่เราคุ้นเคยซ้อนทับอยู่ในนั้น

นักกวาดรางวัลทางสถาปัตยกรรม

ทำไมหลายคนยกให้เขาเป็นบุคคลชั้นเซียน ส่วนหนึ่งมาจากรางวัลระดับโลกหลายรายการที่เขาพิชิตมาได้ในวงการสถาปนิก ไม่ว่าจะเป็น Pritzker ปี 1983 รางวัลที่เทียบช้ันได้กับรางวัลโนเบลสาขาสถาปัตย์ AIA Gold Metal ปี 1979 แถมยังเป็นนักออกแบบคนแรกที่ได้รับรางวัล Praemium Imperiale อีกด้วย

เราลองมาดูไปพร้อมกันว่าผลงานชิ้นไหนคือผลงานของเป้ย์ที่เคยผ่านตาเรามาแล้วบ้าง งานนี้บอกเลยว่าเขาไม่ได้กระจุกงานอยู่แค่ที่ยุโรปเท่านั้น แต่เอเชียก็ยังมีผลงานหลายชิ้นที่น่าจดจำไม่แพ้กัน

Credit photo: shanghai.ist/

Bank of China Tower – ธนาคารแห่งประเทศจีน (1985-1990) Hong Kong ที่ทำร่วมในนามบริษัทสถาปนิก หลังนี้กระจกทำให้ดูกลมกลืนกับท้องฟ้าด้านหลัง และรัตติกาลยามค่ำคืน แต่ขณะเดียวกันก็น่าสนใจในโครงสร้าง เส้นสายของเรขาคณิตที่ดูเด่นชัด

Credit photo: dezeen.com

Museum of Islamic Art – พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม (2006-2008) โดฮา, กาตาร์ ชิ้นนี้อาจจะไม่ได้ใช้กระจกเป็นวัสดุหลักอย่างที่เคย แต่การใช้หินและสไตล์เรขาคณิตตามแบบฉบับยังคงจัดจ้านตามแบบฉบับตะวันตก ตะวันออก และตะวันออกกลาง ทั้ง 3 พื้นที่เมื่อนำผลงานที่เขาออกแบบไปวางไว้ ถือว่าค่อนข้างเป็นสถาปัตยกรรมที่โมเดิร์นแต่มีกลิ่นอายของความเป็น Native สำหรับคนในพื้นที่เสมอ

Credit photo: frontart.org

Rock and Roll Hall of Frame – สหรัฐอเมริกา ผลงานชิ้นนี้ทำให้เราคิดถึงการวาดรูปทรงเรขาคณิตในวิชาศิลปะบ่อย ๆ การให้น้ำหนักของแสงเงาลงบนวัตถุทรงกลม สี่เหลี่ยม และทรงกรวย (แม้จะไม่ได้เป็นแบบนั้นเป๊ะ ๆ ) ความสวยงามของวัสดุที่ดูคลีนสายตาเหมาะกับตำแหน่งที่จัดวาง และโดดเด่นน่าค้นหาท่ามกลางความเรียบง่าย

Credit photo: huntcapture.com

ช่วงนี้ปารีสเหมือนเจอศึกหนักด้านสถาปัตยกรรม ทั้งการจากไปของผู้ทรงคุณูปการและผลงานด้านสถาปัตยกรรมเอง แต่ไม่ว่าอย่างไร ภายใต้ความเศร้าและความอาลัยก็ยังเหลือเรื่องราวหลาย ๆ ด้านให้เราได้ระลึกถึง ใครที่ชื่นชอบ Modern Architecture เราหวังว่าเรื่องราวของเป้ย์จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของคุณ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  • https://hypebeast.com/2019/5/master-architect-i-m-pei-passes-away-obituary
  • https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%AD._%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%A1._%E0%B9%80%E0%B8%9E
  • https://www.aboutfriday.com/2017/12/i-m-pei.html
  • https://www.youtube.com/watch?v=h7s6K3KryYs

 

 

Previous articleMeereen Palace ใน Game of Throne ได้แรงบันดาลใจจาก Frank Lloyd Wright
Next articleบีเอสเอชเปิดบ้านต้อนรับผู้บริหารโฮมโปรฯ เยี่ยม “Bosch Experience Centre” โฉมใหม่