เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมลงนามกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง เพื่อพัฒนาเมืองป่าตองสู่การเป็นศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องการยกระดับเมืองป่าตองให้เป็นเมืองไมซ์มาตรฐานระดับเอเชีย ด้วยการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคโรงแรม ภาคการประชุม ภาคการค้า ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคที่อยู่อาศัย และภาคชุมชนชาวเมืองป่าตอง

คุณเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ใจความสำคัญของ “กฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง” คือ การเป็นเครื่องชี้ทิศทางและกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมืองป่าตอง (New Platform for Patong Sustainability) เป็นทางเลือกรูปแบบการพัฒนาใหม่ (New Urban Development Platform) ในด้านนโยบายสาธารณะในการออกแบบยุทธศาสตร์เมืองป่าตอง ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลงนามในการนำแผนสู่การปฏิบัติ โดยปรับเกณฑ์ Smart Growth ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านกายภาพเพื่อยกระดับเมืองป่าตองให้เป็นเมืองสีเขียว ส่งเสริมความสามารถในการเชื่อมต่อทางอากาศ ถนน ราง และทะเล เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงด้วยการเดิน และระบบขนส่งมวลชน ส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้

คุณเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการนำกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองมาใช้คือ การเป็นหัวจักรขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมต่อโลก เชื่อมต่อผู้ที่เยี่ยมเยือนทั่วทุกภูมิภาค กระตุ้นและกระจายเศรษฐกิจด้วยพลังของการลงทุนท้องถิ่น สร้างความคุ้มค่าในการใช้ที่ดิน สงวนรักษาแหล่งน้ำ โครงข่ายธรรมชาติ พื้นที่ชายหาด พื้นที่ธรรมชาติป่าเขา และยกระดับฐานภาษีให้กับรัฐบาลในระยะยาว โดยค่าเป้าหมายของกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองแบ่งออกเป็น 6 ประการ ได้แก่

1. การพัฒนาเครือข่ายไมซ์ (MICE Industry): โดยจะเพิ่มศูนย์ประชุม 4 แห่ง ขนาด 75,000 ตร.ม. รับผู้มาเยือนได้ 5,000 คน/แห่ง รวม 30,000 คน/วัน เพิ่มกิจกรรมการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลร้อยละ 15 ต่อปี มีอัตราการจ้างงานของกลุ่มกิจการบริหารจัดการไมซ์ และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของกิจการขนส่ง การเดินทาง และการประกันภัย

2. การยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy): เพิ่มการลงทุนในพื้นที่บริการ ศูนย์การค้า และพื้นที่ค้าปลีกไม่น้อยกว่า 2 เท่า เพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้น 2 เท่า และเพิ่มความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีขึ้นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ต้องเพิ่มศักยภาพในการลงทุน การวิจัย การพัฒนา การฝึกอบรม นวัตกรรม และเทคโนโลยี

3. การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชน (Housing): เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ โดยเพิ่มการลงทุนไม่น้อยกว่า 20,000 ยูนิต ในช่วง 5 ปีแรก และจำนวนไม่น้อยกว่า 40,000 ยูนิต ในช่วงแผน 10 ปี อีกทั้งยังจะจัดตั้งหน่วยงานในเทศบาลป่าตอง และรับผิดชอบด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย

4. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Green Transportation): จะมีโครงข่ายทางเดินที่สามารถเชื่อมต่อทั่วทั้งเทศบาลให้ถนนริมชายหาดเป็นถนนแห่งการเดิน ในระยะ 5 ปี มีทางเดินเท้าครอบคลุมทั้งเขตเมือง ร้อยละ 100 ภายใน 5 ปี มีระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ถนนสาย 1 และสาย 2 ภายใน 5 ปี อีกทั้งยังเพิ่มความถี่ของรถขนส่งสาธารณะ 1 เท่าตัว จำนวน 4 เส้นทาง และเพิ่มคุณภาพของรถขนส่งสาธารณะในถนนสายสำคัญภายใน 5 ปี

5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure): มีการออกแบบแผนแม่บทการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ออกแบบปรับปรุงลักษณะทางกายภาพคลองปากบาง ส่งเสริมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจด้วยกิจการของชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่นันทนาการ และกิจกรรมทางน้ำ อีกทั้งยังมีแผนแม่บทพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานรองรับภัยพิบัติ

6. การปรับปรุง ฟื้นฟูเมือง PATONG MSD สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว Urban Revitalization: มีการออกแบบพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ตารางกิโลเมตรให้เป็น PATONG MICE Special Districts มีการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูที่ว่างสาธารณะที่ได้มาตรฐาน ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์จากที่ดินและอาคารให้เอื้อต่อการพัฒนาศูนย์กลางไมซ์ นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์ชุมชนกะหลินให้เป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมีการจัดการขยะให้หายไปจากชายหาดป่าตองภายใน 5 ปี

Previous article“Puzzle House” มากกว่าสถาปัตยกรรม คือพื้นที่กระชับความสัมพันธ์
Next articleโคมไฟโดรนอัจฉริยะ บินตามทุกความเคลื่อนไหว