ถ้าจะมองหาสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ แนวคิดลึกซึ้ง และประณีต สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือศาสนาเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ควรไปดู เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้มักมีแนวคิดที่น่าสนใจเสมอ เนื่องจากมันคือสถานที่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คน

ขนาดของศาสนสถานส่วนมากมักจะใหญ่ เพื่อให้เหมาะสำหรับการจุคนไว้ประกอบพิธีกรรมภายในและโชว์ความเข้มแข็งของพลังแห่งศรัทธา รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่ส่วนมากมักจะเลือกจากความทนทาน เหมาะสมและสวยงาม ศิลปะแทบทุกแขนงจะถูกขนเข้าไปประดับประดาภายในนั้น เรียกได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาและสามารถแยกขาดจากที่อยู่อาศัยหรือตึกรามบ้านช่องรูปแบบอื่นได้อย่างชัดเจน ชนิดที่ต่อให้ศาสนสถานแห่งนั้นมีหรือไม่มีรูปเคารพก็ตาม ความโดดเด่นของการออกแบบจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เรารู้ได้เองว่าที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ธรรมดา

รูปภาพจาก Daniela Galdames

วันนี้ BuilderNews จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “The Bahá’í Temple” วิหารที่มีรูปแบบแปลกตาของศาสนาบาไฮ ซึ่งเป็นศาสนาน้องใหม่บนโลกใบนี้ เพราะเกิดขึ้นครั้งแรกในอิหร่านปี 1863 มีอายุเพียงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง แต่หลักคำสอนค่อนข้างน่าสนใจด้วยแก่นที่กล่าวว่าศาสนาทุกศาสนามีพระเจ้าองค์เดียวกัน เชื่อว่าคำสอนจากทุกศาสนาเป็นคำสอนที่ดี แถมยังใจกว้างเปิดให้ทุกศาสนาสามารถเดินเข้าออกศาสนสถานของตนเองได้สบาย ๆ ด้วย

เอาเป็นว่านั่นเป็นข้อมูลคร่าว ๆ เพียงเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิหารที่เรากำลังจะพูดถึง เพราะนี่คือวิหารของศาสนาบาไฮซึ่งตั้งอยู่ในประเทศชิลี ทวีปอเมริกาใต้ สร้างไว้อย่างสวยงามจนในที่สุดก็ไปกลายเป็นตัวเต็งติดอยู่ในบัญชีรายชื่อของ Royal Architectural Institute of Canada (RAIC) Foundation เข้า และกำลังรอลุ้นว่าในเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้ว่าจะมีโอกาสคว้าเงินจากรางวัล The biannual CAD ซึ่งเป็นรางวัลสร้างไว้เพื่อมอบให้สถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมีจำนวนเงินรางวัลสูงถึง 74,540 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวสองล้านสามแสนบาท

บาไฮแห่งชิลีหลังนี้ได้รับการออกแบบโดย Hariri Pontarini Architects ที่เนรมิตพื้นที่จำนวน 10 เฮกเตอร์ หรือ 25 เอเคอร์ บริเวณชานเมืองซานติเอโก ซึ่งนับว่าเป็นทำเลทองคำเพราะได้วิวดี ๆ ที่มองจากฝั่งอาคารออกไปสามารถเห็นทั้งเมืองและเชิงเขาแอนดีสในคราวเดียว เรียกได้ว่าอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบ สมกับการเป็นศาสนสถานลำดับที่ 8 ซึ่งว่ากันว่าเป็นวิหารแห่งสุดท้ายในทวีปนี้ (อย่างที่บอกว่าเป็นศาสนาเพิ่งเกิดไม่นานศาสนสถานเลยไม่เยอะ) ทว่าแค่ความสวยงามภายนอกยังไม่พอเพราะแก่นของบาไฮยังไปโผล่ตามส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตย์ดังต่อไปนี้

ความยืดหยุ่นลื่นไหลของคำสอนที่สะท้อนผ่านสถาปัตย์

ทุกศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกันคือหลักการที่ศาสนาใหม่อย่างบาไฮเลือกนำมาใช้ ดังนั้นถ้าเราสังเกตให้ดีการออกแบบของอาคารหลังนี้จะมีความโปร่งโล่งให้สะดวกแก่การเชื้อเชิญอาคันตุกะต่างศาสนาเข้ามาใช้พื้นที่ ขณะเดียวกันโครงสร้างที่เป็นแผงทรงปีกซึ่งดูเหมือนแยกชิ้นบิดอยู่นี้ยังมีจุดร่วมประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน หากมองขึ้นไปด้านบนคล้ายคลื่นเครื่องดื่มในแก้ว เวลาเรานำช้อนมาคนของเหลวภายในแก้วจะหมุนมารวมกันไว้ตรงกึ่งกลาง

รูปภาพจาก architizer.com

แสงสว่างนำทางจิตใจ

สัญลักษณ์อีกอย่างที่หลายวิหารมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ คือการสร้างช่องแสงเพื่อส่องสว่างให้เห็นภายในได้ชัดเจน ไม่รู้สึกทึบ ลำแสงที่อาบทั่วบริเวณทำให้จิตใจรู้สึกปลอดโปร่ง ขณะเดียวกันยังสร้างความรู้สึกโล่ง ไม่อึดอัด ไม่ว่าขนาดของพื้นที่นั้นจะมากหรือน้อย

รูปภาพจาก Dezeen.com
รูปภาพจาก architizer.com

วัสดุที่วิหารบาไฮเลือกคือ “หินอ่อน” จากโปรตุเกส ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถกรองแสงภายนอกอันเจิดจ้าให้ลดลงในระดับเหมาะสม เมื่อนำมาติดตั้งด้านในของส่วนปีกนกด้วยจำนวนมากถึง 870 ชิ้น ภาพของแสงที่ถูกกรองมาพอเหมาะจึงสวยงามหาชมได้ยาก แถมพอผสมกับกระจกที่ตั้งไว้ในอาคาร ช่องแสงเหล่านี้ก็กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องดั้นด้นมาเช็กอินสักครั้ง ที่สำคัญใช่ว่าเมื่อดวงอาทิตย์ลาขอบฟ้า มนต์ขลังของมันจะจบลง เพราะแสงที่เปิดจากในตัวอาคารก็ลอดผ่านรอยแยกสะท้อนลงสู่ผิวน้ำเรียบนิ่งประหนึ่งมีวิหารแฝดเคียงกันตรึงตาตรึงใจ

ความมั่นคงของศาสนาที่แข็งแรงใต้ความอ่อนโยน

 เราอาจตีความได้ว่าภาพที่ดูเปราะบางนุ่มนวลตรงหน้าคือความเกื้อกูลและน้อมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน แต่ภายใต้การออกแบบที่เต็มไปด้วยโครงเส้นโค้งพลิ้วไหวนี้ซ่อนความแข็งแกร่งไว้ได้อย่างมิดชิด ซึ่งมาจากคุณสมบัติความแกร่งทนทานที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี โดยสถาปนิกคำนวณแล้วว่าปีกที่ล้อมไว้ทั้ง 9 หากเกิดแผ่นดินไหวจะเลื่อนลงมาบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรับแรงกระแทกได้

Lotus Temple รูปภาพจาก whatsuplife.in

นอกจากนี้ เมื่อมองไปยังวิหารจากมุมภายนอกเราจะเห็นภาพของดอกไม้ในลักษณะตูมเรืองแสงพร้อมคลี่บาน แย้มกลีบด้วย ซึ่งก็ดูใกล้เคียงกับวิหารบาไฮที่เคยโด่งดังไปทั่วโลกจนผู้คนพากันขนานนามว่า “วัดดอกบัว” ตั้งอยู่ในเมืองเดลี ถึงแม้ที่นี่จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวเพราะไม่ได้ดูเป็นกลีบซ้อนกันชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็พอมองออกว่ามีเค้าความคิดเดียวกันอยู่บ้าง

รูปภาพจาก sebastián wilson león

แม้จะเป็นศาสนาเล็ก ๆ ที่มีศาสนิกชนติดตามเพียง 6 ล้านคนทั่วโลก แต่ความโด่งดังและพิถีพิถันเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมก็ทำให้คนหันมาสนใจอยากทำความรู้จักกับศาสนานี้มากขึ้น ถึงเราจะไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ว่า คนหลงเข้ามาเพราะความสวยงามของอาคาร ทว่าวิหารที่จุคนได้เพียงคราวละ 600 คน คงไม่สามารถที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่แห่เข้ามากันอย่างล้นหลามในแต่ละปีได้ ชวนให้คิดว่าสถาปัตย์มีผลกับความเชื่อและเป็นสื่อเชื่อมระหว่างศาสนากับคนได้ไม่น้อย

 

อ้างอิงที่มาข้อมูลจาก

  1. https://architizer.com/blog/practice/details/bahai-temple/
  2. https://www.atlasobscura.com/places/bahai-temple-of-south-america
  3. https://www.v2com-newswire.com/en/newsroom/categories/competition/press-kits/907-07/raic-shortlist-baha-i-temple-of-south-america

 เครดิตภาพประกอบ : RAIC/Andrés Silva

 

Previous articleDelivery แบบไร้คนขับ กำลังจะมา !!
Next article“ASKA” ต้นแบบรถติดปีกสุดล้ำ !!