นาทีนี้คงไม่มีงานไหนที่ชาวสถาปนิกจะเห็นถี่เต็มฟีดโซเชียลได้เท่ากับงานของเจ้าใหญ่วงการอสังหาฯ อย่าง AP ที่ไปจับมือกับสถาปนิกระดับโลก Tetsuo Kondo ถ่ายทอดผลงานออกมาเป็น Exhibition Pavilion หน้าลาน Parc Paragon ซึ่งมองเห็นได้จากบน BTS สถานีสยามที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคมที่ผ่านมา

AP Thailand

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสงบเท่าไหร่จากเหตุระเบิดตอนนี้ อาจจะทำให้หลายคนเลือกอยู่บ้านมากกว่าเดินทางไปชมงานจริง แต่เอาเป็นว่าหนุ่ม Testuo Kondo ที่เคยสร้างปรากฏการณ์เชิงสถาปัตย์ให้โลกตะลึงอย่าง Cloudscape หรือการสร้างเมฆจริง ๆ จากน้ำไว้ในสถานที่ปิด แล้วให้ผู้คนที่เยี่ยมชมสัมผัสกับประสบการณ์ที่อยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่อยู่ใต้เมฆ เหยียบเมฆจากบันไดที่ทอดยาว ไปจนถึงระดับเหนือเมฆ จนกลายเป็นงานสุดสร้างสรรค์ที่ได้การกล่าวขวัญถึงงานหนึ่งในวงการสถาปนิก

Cloudscape: Photograph by Ken’ichi Suzuki
A Path in the Forest: Dezeen

A Path in the Forest อีกผลงานที่น่าประทับใจนอกจาก Cloudscape และเห็นความแหวกแนวผ่านความคิดของเขา ผลงานชิ้นนี้เขาสร้างทางเดินระยะทางเกือบ 100 เมตรให้ผู้คนได้เดินไปท่ามกลางการเติบโตของต้นไม้ใหญ่ ทางเดินเหล่านี้หน้าตาเหมือนสะพานแต่ไม่มีโครงเสาค้ำสักต้น! ด้วยการใช้วิธียึดโครงสร้างไว้กับต้นไม้ใหญ่คล้องไว้ในรูปแบบสายรัดเท่านั้น แต่ไม่เจาะรูหรือทำร้ายผิวไม้เหล่านั้นเลย เพื่อให้คนได้เขาใกล้กับธรรมชาติระยะประชิดอย่างไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน

คุณ Testuo Kondo (ขวา)

มาวันนี้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ AP จัด Exhibition Pavilion ในงาน “AP World” เขาจึงยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นตัวตนส่วนตัวที่คิดว่าสถาปนิกคือส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ อาคาร และวัฒนธรรมเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตจำกัด โดยปลายทางของการออกแบบต้องเป็นความสุขของผู้เข้ามาใช้งานพื้นที่

ความเชื่อมโยงผ่าน Pavilion ใส

สถาปนิกไม่ต้องการแยกระหว่างอาคารกับธรรมชาติและวัฒนธรรมแต่อยากให้ทุกสิ่งหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน งาน AP World จึงสร้าง Pavilion ใสที่สามารถมองเห็นด้านในได้จากภายนอกด้วยการสร้างเต็นท์พลาสติกใส ขณะเดียวกันคนด้านในสามารถมองเห็นภายนอกได้ชัดเจน ดังนั้นแม้จะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตั้งอยู่หน้า Parc Paragon แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการไม่สร้างความรู้สึกแปลกปลอมของพื้นที่ ผู้คนที่เข้าชมยังคงมองเห็นห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ เห็น BTS เห็นผู้คนที่เดินอยู่บริเวณสยามเหมือนเดิมทุกอย่าง

ลูกบอลอะลูมิเนียมทรงกลม สะท้อนกรุงและความร้อน

อีกหนึ่งพระเอกที่เราเห็นเต็ม feed อย่างลูกบอลสีเงินเมทัลลิกทรงกลม ที่หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นชิ้นงานธรรมดาแค่สร้างมาให้ใหญ่แล้วนำมาจัดเรียงด้านใน Pavilion เท่านั้น แต่ความจริงงานชิ้นนี้ของ Tetsuo Kondo เป็นการออกแบบที่คิดมาแล้วเป็นอย่างดีทั้งเรื่องฟังก์ชันและความสวยงาม

หลักการของการออกแบบ คุณ Kondo ตีโจทย์จากสภาพภูมิอากาศและสถานที่ตั้งอย่างกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีแดดร้อนตลอดทั้งปี ยิ่งการตั้งหน้าลาน Paragon กลางแจ้งแบบนี้ การออกแบบจึงเน้นฟังก์ชันควบคุมด้านอุณหภูมิเป็นสำคัญ

บอลลูนอะลูมิเนียมยักษ์ ทำไมต้องสีเงินอะลูมิเนียม? หลายคนตั้งข้อสังเกต แต่ทั้งหมดได้รับการเฉลยผ่าน Conversation Standard X AP ว่าเหตุผลที่เลือกเพราะเป็นอะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่สามารถสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ซึ่งเจ้าอะลูมิเนียมที่แขวนอยู่ด้านบนทั้งหมดนี้แหละที่กันความร้อนออกจากผู้คนที่เข้าชมงาน โดยเขากล่าวอธิบายว่า “จริง ๆ แล้วส่วนที่อยู่เหนือบอลลูนขึ้นไปจะร้อน แต่พวกเราที่อยู่ใต้บอลลูนจะไม่รู้สึกอย่างนั้น”

นอกจากนี้การใช้พื้นผิวเงินเมทัลลิกแบบนี้ยังสะท้อนแสงได้เป็นอย่างดี ทำให้เราที่อยู่ด้านล่างบอลลูนสัมผัสถึงความสว่าง เดินได้ทั่วงานแบบเข้าคอนเซ็ปต์ที่ AP ตั้งใจไว้คือ Grow Flow Joy หรือยั่งยืน อบอุ่น และมีความสุข จากบรรยากาศที่สร้างขึ้นใน Pavilion นี้

ส่วนอากาศที่หลายคนเดินเข้าไปแล้วเย็นฉ่ำเหมือนเดินในห้าง ส่วนนี้เราต้องบอกว่าด้านในเขาควบคุมอุณหภูมิไว้ด้วยเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งควบคู่กันด้วย ไม่ได้ใช้แค่บอลลูนอะลูมิเนียมอย่างเดียวจึงไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศในการเข้าร่วมงาน

ความสุขครบส่วนที่มาจากการใช้พื้นที่

ภายในประกอบด้วยส่วนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วย Project Mapping ซึ่งเป็นการสร้าง Installation จากผู้เชี่ยวชาญการจัดงานสร้างประสบการณ์ใหม่ งานนี้แม้ว่าจะไม่ได้มาจากคุณ Kondo แต่มาจากฝีมือชาวไทย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจที่ออกแบบงานร่วมกันใน Pavilion แห่งนี้ที่ทำให้ทุกคนสามารถ Enjoy ได้ในพื้นที่จำกัด

งาน Installation สไตล์ Project Mapping เป็นผลงานของ Eyedropper Fill และ APOSTROPHY’S จึงมีทั้ง Interactive ฯลฯ ให้ได้ชมกัน

พ้นจากส่วน Interactive Installation จะเป็นโซนปิกนิกสำหรับนั่งพักและกินเมนูของว่างต่าง ๆ ที่เซ็ตไว้ โดย  AP เข้าร่วมกับ Hay บริษัทเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากสวีเดน เมืองหนาวที่เฟอร์นิเจอร์ทำหน้าที่หนักและมีบทบาทสำคัญกับการใช้ชีวิตเพราะต้องเป็นส่วนสร้างสีสันให้กับจิตใจคนที่ต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านยาวต่อเนื่องหลายเดือนจากอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ ดังนั้น โซนจึงอัดแน่นด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมัลแต่สดใสด้วยสีพาสเทล

แนวคิดตะวันตกกับแนวคิดตะวันออกระหว่างสวีเดนและญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกันจึงสอดประสานกันอย่างลงตัว ทำให้ AP World แห่งนี้อบอุ่นมากขึ้น หัวใจสำคัญด้านความสุขนี้คือส่วนหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์จากงานของคุณ Kondo เช่นเดียวกัน

ผลงานการออกแบบชิ้นนี้ สะท้อนคอนเซ็ปต์ของ AP และตัวตนของ Tetsuo Kondo ได้เป็นอย่างดี ชนิดที่ต่อให้งานของ AP จะหายไปตามสไตล์ Exhibition Pavilion ชั่วคราว แต่เราคงได้เห็นผลงานและตัวตนของเขาไปอยู่ในที่อื่น ๆ ต่ออยู่ดี

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเขา BuilderNews หวังว่าคุณจะได้รู้จักสถาปนิกแดนอาทิตย์อุทัยที่มีแนวคิดล้ำหน้าแบบนี้เพิ่มอีกคนเพื่อจดไว้ในลิสต์ติดตามผลงาน หรือนักออกแบบคนไหนเห็นแล้วจุดประกายไอเดียว่าอยากทำงานด้วยแนวคิดนี้เราก็ไม่หวงที่อยากจะแชร์และแบ่งปัน

 “เพราะมนุษย์ ธรรมชาติ สถาปัตย์และวัฒนธรรมควรอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตวันหน้า”

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: 

  1. https://www.dezeen.com/2013/08/08/cloudscapes-at-mot-by-tetsuo-kondo-architects-and-transsolar/
  2. https://www.dezeen.com/2011/10/10/a-path-in-the-forest-by-tetsuo-kondo-architects/

 

 

Previous articleรางปลั๊กพ่วง EXTENSION SOCKET จาก NANO ELECTRIC PRODUCT
Next articleจบทุกปัญหาการรั่วซึม ด้วยนวัตกรรมระบบกันซึม คุณภาพระดับโลกจาก d.one ในงาน ACT Forum’19