Shape แบบนี้ กระถางแบบนี้ ไซส์แบบนี้ ต่อให้ไม่มีสีเขียว สีน้ำตาล หรือก้อนดิน เราเชื่อว่าทุกคนยังไงก็ต้องมองออกแน่ ๆ ว่ามันคือ “บอนไซ”

บอนไซคืออะไร? เผื่อว่าใครจะยังงง ๆ กับคำนี้ อธิบายอย่างง่ายว่ามันคือศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่ใช้การเพาะต้นไม้ลงในกระถางขนาดเล็กแล้วดูแล เน้นการย่อต้นไม้ใหญ่ลงกระถาง การตัดแต่งก็อาจจะใช้ลวดเป็นอุปกรณ์สำหรับยึดโครงสร้างไว้ หรือดัดไปตามทรงที่ต้องการ

ตอนแรกที่เราเห็นงานชิ้นนี้ใน Dezeen ตั้งใจว่าจะปัดผ่านไป แต่จะว่าหลงรูปลักษณ์มินิมัลของมัน เห็นแล้วอยากตั้งไว้ในบ้าน หรืออยากเล่น สุดท้ายเราก็วนไถมาอ่านอีกที (อยากรู้แนวคิดว่าทำไมต้องทำงานชิ้นนี้) และเมื่อคลิกเข้าไปอ่านคงต้องบอกว่างานอาจจะไม่ล้ำเกินความสามารถของเทคโนโลยี 3D วันนี้ แต่มองดูแล้วมีประเด็นให้เล่าสู่กันฟังมากกว่า

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่างานชิ้นนี้เป็นของ Nendo สตูดิโอญี่ปุ่นขาประจำที่ชอบออกแบบผลงานเลียนแบบธรรมชาติจากวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยก่อนหน้านี้สตูดิโอญี่ปุ่นแห่งนี้ก็ใช้เซรามิกในการออกแบบซีรีส์ดอกไม้ประดับเช่นกัน

พอนำไปวางแล้วก็ได้เสน่ห์แปลกตาไปอีกแบบ

เป้าหมายของการออกแบบผลงานบอนไซเทียมแบบ Grid ชิ้นนี้ เริ่มต้นมาจากความนิยมของบอนไซในสังคมญี่ปุ่นและสถานที่อื่น ๆ เวลาที่เห็นต้นไม้ต้นโตนำมาย่อส่วนจัดอยู่ในกระถาง ตัดแต่งให้ได้โครงสวยงามวางประดับบนโต๊ะ หรือตำแหน่งต่าง ๆ ในบ้านแล้วสร้างความสดชื่นมีระดับ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่อง “ความยาก” ที่มาพร้อมความประณีตและต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษจึงมีศิลปินเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะสามารถเอาดีทางนี้ได้

ตัวอย่างงานเซรามิก ผลงานที่ Nendo เคยทำ

พอน้อยคนจะดูแลและตัดแต่งได้ หรือคนที่อยากจะซื้อก็ยังไม่สามารถขนย้ายได้เหมือนวัตถุชิ้นอื่น ๆ เพราะมันคือพืชที่มีชีวิต จึงทำให้ Nendo ต้องการสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาตอบสนองความต้องการนั้นให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบบอนไซ โดยนำเทคโนโลยี 3d Print สร้างลำต้นและกิ่งก้านใบที่โปร่งแบบเส้นกริดขึ้นมา

ความน่าสนใจของมัน เรามองว่าไม่ใช่เรื่องการเติบโตเพราะเขาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้มันเลียนแบบเคาะกันมา 100% แต่เป็นเรื่องรูปแบบการออกแบบที่สามารถวาง layer ของต้นไม้แบบ Grid จากสี่เหลี่ยมที่ตั้งใจออกแบบมาให้สามารถตัดแต่งเป็น shape อื่น ๆ ได้ ด้วยการใช้อุปกรณ์แบบเดียวกับการเลี้ยงบอนไซเล็มได้เหมือนศิลปินตัวจริง

รูปแบบของบอนไซเทียมจาก 3D-print มีให้เลือกทั้งหมด 7 ทรงแตกต่างกัน และสามารถเลือกขนาดที่ต้องการไปตัด customize ทรงใหม่ ให้กลมหรือเหลี่ยมได้ตามต้องการ ช่องทางขายเรายังไม่รู้ ใครอยากรู้คงต้องไปตามต่อกันอีกทีนะ

จะเป็นอย่างไร ถ้าคนอยากรื่นรมย์กับต้นไม้ แต่ทดแทนความรื่นรมย์ชั่วคราวได้โดยไม่ต้องดูแล

จะเป็นอย่างไรถ้าเราต้องการร่มเงา ต้องการฟังก์ชันเดียวกับที่ต้นไม้ให้ได้ แล้วสามารถคิดค้นวัสดุทดแทนขึ้นมาได้

บางทีทางออกของเมืองแห่งอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีอย่าง 3D Print สร้างสิ่งเทียมขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้สำเร็จ ไลฟ์สไตล์ของคนเวลาน้อยอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนได้แม้ในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ก็ตาม

แล้วคุณล่ะ? อยากได้ต้นบอนไซแบบนี้สักต้นมาวางในบ้านบ้างไหม? หรือคิดว่าถ้าวันหนึ่งข้างหน้ามีต้นไม้เทียมที่สามารถปริ้นท์ได้มาตั้งกลางบ้านเราจะ Happy หรือเปล่า ลองมาแสดงความคิดเห็นกันได้ด้านล่าง

หมายเหตุ: งานนี้เราไม่ได้เอาเทคโนโลยีมาตีกับคนรักธรรมชาติและมองว่านี่อาจจะเป็นก้าวต่อไปของการพัฒนาในอนาคต ใครที่อยากจะเก็บเอาไว้เป็นแนวทางในการออกแบบก็สามารถเก็บไว้เป็นไอเดียพัฒนาต่อไปได้ แต่อย่าลืมดูแลธรรมชาติที่ยังเหลือด้วยนะ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  1. https://www.dezeen.com/2018/10/04/nendo-uses-sevres-porcelain-to-make-flowers-and-a-lilypad-table/
  2. https://www.dezeen.com/2019/10/07/nendo-3d-printed-bonsai-tree/#/
Previous articleเมื่อพลาสติกเรียกความสงบคืนมาสู่ผู้คน CALM BOOTH บูทเพิ่มสมาธิจากขวดพลาสติก
Next article“FRACTAL SHADE” หลังคาลดความร้อนจากญี่ปุ่น