เราเคยได้ยินนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านพูดเสมอว่า เราไม่ต้องรอคิดค้นเทคโนโลยีมาแก้ภัยธรรมชาติให้เสียเวลาหรือเสียสตางค์มาก ๆ หรอก เพราะสิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือการปลูก “ต้นไม้” สักต้นก็พอ

เหตุผลเพราะต้นไม้สักต้นสามารถสังเคราะห์แสง ลดคาร์บอนแลกออกซิเจน ซับน้ำ และเป็นแหล่งต้นน้ำชั้นดีได้ด้วยตัวของมันเอง การลงทุนด้วยการรดน้ำพรวนดิน เลยถือเป็นต้นทุนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีประเภทอื่น

แต่เทคโนโลยีเดินหน้าไปพร้อมการปลูกต้นไม้ได้ไหม ?

มันจะสามารถช่วยส่งเสริมกันได้มากแค่ไหน?

เรื่องนี้เราอยากให้มามองอีกมุมของโปรเจกต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและสีเขียวไปพร้อมกัน

ตัวอย่างเมืองหลิวโจว หนึ่งในโปรเจกต์ Forest City ของ Stefano Boeri

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าโปรเจกต์ Smart Forest City Cancun นี้ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่อยู่ระหว่างการนำเสนอแผนแม่บทสู่ภูมิภาคและเทศบาล โดยเป็นผลงานของสถาปนิกชาวอิตาเลียนนาม Stefano Boeri ชายผู้ช่ำชองเรื่องการสร้างสถาปัตยกรรมสีเขียวคนหนึ่งของโลก เพราะเมื่อราว ๆ สองปีที่แล้ว เขาคนนี้คือคนที่พัฒนาโครงการสร้างเมืองหลิวโจวให้กลายเป็นเมืองสีเขียว ด้วยการใช้คอนเซ็ปท์ปลูกป่าแซมเมือง โดยการเอาสีเขียวไปผสมกับตึกอย่างลงตัว ชนิดที่มองจาก Bird eye view เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเอ๊ะ นี่มันป่าหรือเมืองกันแน่ มาในครั้งนี้ เขาตั้งใจให้สีเขียวมาหยั่งรากเติบโตอีกครั้งที่เมือง Cancun ประเทศเม็กซิโก

Boeri เผยว่าการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ต้องการให้เมืองอัจฉริยะใน Cancun แห่งนี้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ที่ภายในคือเมืองร่วมสมัยซึ่งยืนพื้นวัฒนธรรมแบบมายาไว้ เพราะอาณาจักรมายันเคยรุ่งเรืองอย่างยิ่งในเม็กซิโก (พัฒนาเมืองควบคู่การรักษารากฐานทางประวัติศาสตร์)

ระบบนิเวศเมืองที่ธรรมชาติกับเมืองรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่แค่การนำต้นไม้หลากสายพันธุ์มาปลูกแซมเพื่อให้ “มี” ไว้เท่านั้น แต่เขายังนำนวัตกรรมมาผนวกโครงสร้างเพื่อการจัดการดูแลอย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การติดเซนเซอร์กระจายในตัวอาคารเพื่อนำข้อมูลที่พบกลับมาวิเคราะห์ที่ส่วนกลาง จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพส่วนอื่น ๆ เพื่อเกื้อกูลชีวิตประจำวัน
  • ติดตามการใช้พลังงานและจัดการอย่างเหมาะสม เช่น ระหว่างการปล่อยพลังงานสูงสุดเพื่อนำไปใช้ ถ้าเราใช้เครื่องซักผ้าหรือเครื่องล้างจานระหว่างนี้จะสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ ราคาการใช้ก็จะถูกลง

นอกจากเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยแล้ว Stefano Boeri ยังร่วมมือกับ Transsolar บริษัทวิศวกรรมของเยอรมันเข้ามาดูรายละเอียดเรื่องการผลิตอาหารและพลังงานให้จบได้ในตัวเองด้วย เพื่อให้วงจรการอยู่อาศัยครบลูป ดังนั้น ที่นี่จึงมีทั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า พื้นที่การเกษตรสำหรับสร้างแหล่งอาหารและดูแลระบบชลประทาน

ส่วนเรื่องที่หลายคนกังวลอย่างการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลต่าง ๆ ที่นำไปใช้เพื่อวิเคราะห์ เขาก็ยืนยันว่าทุกอย่างจะถูกจัดการโดยเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของพลเมืองเสมอ จะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงเมืองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างเหตุความผิดพลาดของ Facebook คดี Cambridge Analytica ที่พัวพันกับการเมืองอย่างแน่นอน

Smart Forest City Cancun หรือเมืองป่าอัจฉริยะ Cancun นี้มีพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยราวหนึ่งแสนสามหมื่นครอบครัว ซึ่งเมื่อเข้ามาใช้ชีวิตจะทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ดูแลพืชพรรณของสวนพฤกษศาสตร์นี้ไปโดยปริยาย แต่มันก็ดูคุ้มค่า เพราะเขาการันตีว่ามีที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบให้เลือก ราคาไม่แพงมาก ยิ่งราคานักศึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะยิ่งถูกเข้าไปอีก

หากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากส่วนภูมิภาคและเทศบาลในเดือนมีนาคมให้สามารถเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จ ไม่เพียงแค่ค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการออกแบบครบวงจรเท่านั้น แต่พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่รักษ์โลก ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 116,000 ตันและช่วยลดคาร์บอนต่อปีได้มากถึง 5,800 ตันอีกด้วย

ระบบแบบนี้เราอาจจะเห็นเฉพาะบางหมู่บ้านในไทย อาจจะใช้เป็นแค่บางส่วน แต่สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่แบบนี้ น่าจะใช้เป็นตัวอย่างในการออกแบบได้ เพราะการออกแบบที่ดีไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเทคโนโลยีหรือธรรมชาติเสมอไป ถ้าเรานำมันมาใช้คู่กันได้ เราอาจได้ผลลัพธ์ที่อิมแพ็กกว่าและในระยะยาวนี่จะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน มูลค่าไม่สูงเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

นี่เป็นเพียงแนวคิดส่วนหนึ่งจาก Stefano Boeri ที่ใช้พัฒนาโปรเจกต์นี้ และโอกาสที่ทุก ๆ ท่าน จะได้รับแนวคิดสุดสร้างสรรค์จาก Stefano Boeri มาถึงแล้ว กับงานสภาสถาปนิก’19 (ACT Forum’19) ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ณ เวทีประชุมสัมมนา Forum A: The Keynote – A Forum for Inspiration นอกจากนี้ยังมีสถาปนิกที่มีชื่อเสียงชั้นนำของไทยและระดับโลก ครบทั้ง 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม เปิดโอกาสให้สถาปนิกหรือผู้ที่สนใจได้รับฟังแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาและยกระดับการทำงานสู่ระดับสากล ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนซื้อบัตรได้ที่ https://www.actforumexpo.com/2019/th/forum/

นอกเหนือจาก Forum A ที่เป็นไฮไลท์ของงานสภาสถาปนิก’19 (ACT Forum’19) ภายในงานยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างสุดล้ำจากผู้แสดงสินค้าชั้นนำทั่วโลกอย่าง SCG, Makita, TOSTEM, EDL, JORAKAY เป็นต้น ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงกับงานสภาสถาปนิก’19 (ACT Forum’19) ครั้งแรกของงานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ครอบคลุมที่สุดในประเทศ ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2562 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.dezeen.com/2019/10/25/smart-forest-city-stefano-boeri-cancun-mexico/

https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_737625

https://www.buildernews.in.th/archdesign-cate/architecture/19365

Previous articleKNX ระบบบ้านและอาคารอัจฉริยะ
Next articleพบกับกระเบื้อง สุขภัณฑ์ และก๊อกน้ำจาก COTTO ที่มาพร้อมนวัตกรรมและดีไซน์อันโดดเด่น ในงานสภาสถาปนิก’19
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ