ปัจจุบันงานวิจัยหลายชิ้นเลยชี้ตรงกันว่าชาว Millennium มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะซื้อบ้านเพราะราคาที่ขยับสูงขึ้น ยิ่งที่ดินในเขตชุมชนที่ค่าครองชีพสูงยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น เทรนด์ของคนทุกวันนี้จึงกลายเป็นเรื่อง “การเช่าตลอดชีพ” หรือ “เช่า” มากกว่าซื้อ แต่ใช่ว่าจะหมดสิทธิ์เสมอไปเพราะสุดท้ายคนเราก็ยังอยากมีบ้านสักหลังไว้อยู่ช่วงบั้นปลายอยู่ดี ดังนั้นจึงเกิดธุรกิจสร้างจุดสมดุลขึ้น

Handcrafted Movement เป็นบริษัทอเมริกันที่มีประสบการณ์ด้านอสังหาฯ มากว่า 10 ปี จับจุด pain point ของคนยุคใหม่ขึ้น อยากบาลานซ์ระหว่างเรื่องราคาและบ้านจึงเริ่มออกแบบบ้านขนาดเล็กหรือ “Tiny Home” ขึ้นมาให้เป็นทางเลือกกึ่งกลางระหว่างราคาสำหรับคนที่อยากซื้อบ้าน เพราะลักษณะของบ้านขนาดเล็ก พื้นที่ไม่มากแต่เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย คือไลฟ์สไตล์สำหรับคนยุคใหม่ (สมัยก่อนพ่อแม่ยุค Baby Boomer จะชอบบ้านที่มีพื้นที่ ไม่ชอบบ้านที่มีพื้นที่น้อยหรือบ้านแบบคอนโด อพาร์ตเมนต์)

PACIFIC HARBOR เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าสนใจของพวกเขาซึ่งออกแบบมาให้เป็น Tiny House หลังจากที่ออกแบบบ้านสไตล์คอนเทนเนอร์รถพ่วงมาหลายหลัง ทว่าแม้จะประยุกต์การออกแบบบ้านมาจากรถพ่วง ดูเหมือนไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไร แต่ถ้าดูรายละเอียดจะเห็นว่าน่าอยู่มาก คราฟต์ดูมีเอกลักษณ์ต่างจากบ้านจัดสรรทั้งไป ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์วัยรุ่นยุคใหม่ที่ไม่ต้องการติดที่และยังได้ที่อยู่อาศัยสวย ๆ คูล ๆ ไว้ จนออกมาเป็นบ้านตัวอย่างหลังนี้

บ้านขนาดหนึ่งชั้นครึ่งสร้างขึ้นบนฐานของรถพ่วงเทรลเลอร์ มีขนาดพอดี ๆ กะทัดรัด มอบความสะดวกสบายพร้อมรูปลักษณ์ที่ดูมีระดับ ตกแต่งภายในให้ดูโปร่ง สว่าง เพื่อให้รู้สึกว่าบ้านมีขนาดใหญ่ ด้านล่างแบ่งสัดส่วนครบถ้วน ทั้งห้องน้ำ ห้องทำงาน และครัวเล็ก ๆ มีโต๊ะกินข้าวหนึ่งตัวริมหน้าต่างเพื่อรับแสง

ส่วนอีกครึ่งชั้นด้านบนกั้นไว้สำหรับวางเบาะเป็นที่นอนเพิ่มได้ ให้ฟีลเตียงสองชั้น ถ้าเราอยากจะปีนขึ้นไปนอนด้านบนในวันที่ต้องการความสงบเพื่อเห็นแสงจันทร์ หรือมองดาวได้สะดวกก็จัดว่าพอเหมาะ หรืออยากจะเตรียมไว้ให้แขกมานอนที่บ้านก็ยังได้

ความดีงามของบ้านสไตล์นี้คือพอมันค่อนข้าง compact มันก็ประหยัดไฟด้วย เพราะติดตั้งเครื่องปรับอากาศตัวเดียวก็เย็นสบายได้ทั้งหลัง ติดตั้งได้สะดวก ราคาไม่แพงเท่าบ้านหลังตามโครงการแล้ว อีกอย่างคือตัวบ้านที่มีขนาดเล็ก ชั้นเดียว เมื่อใช้พื้นที่ไม่มากและวางทอดยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ช่วยให้แสงธรรมชาติลอดผ่านได้เป็นอย่างดี แถมถ้าคิดจะลากไปไหนมาไหนก็คิดว่าค่อนข้างง่าย เพราะยกพื้นใส่ล้อเข้าไปแล้วพ่วงกันรถบรรทุกก็สามารถขนย้ายได้ทันที

สำหรับด้านนอกที่หลายคนอาจจะกังวลว่ายกพื้นแล้วเดินเข้าเดินออกอย่างไร ตรงนี้นักออกแบบเขายังออกแบบยกพื้นให้สามารถเดินลงได้สะดวก ป้องกันปัญหาเรื่องประตูเข้าบ้านต่างระดับ ใครที่อยากเพิ่มกิมมิกใส่พื้นที่สีเขียวหน้าบ้านก็ทำได้เลยง่าย ๆ

นอกจากโปรเจกต์ Pacific Harbor บ้านแนว Tiny House ดีไซน์อื่นยังมีให้เลือกอีกมากมายในเว็บไซต์ เชื่อว่าน่าจะมีสักหลังที่ถูกใจชาว BuilderNews อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นบริษัทอเมริกัน ถ้าใครอยากจะสั่งซื้อเราคิดว่าคงยากหน่อยหรือเก็บเงินไว้ซื้อบ้านแทนภาษีขนย้ายคงดีกว่า  ส่วนราคาถ้าเข้าไปดูตามหน้าเว็บจะเห็นเลยว่าเฉลี่ยอยู่ที่ราวแปดหมื่นถึงเก้าหมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,684,060 บาท ลองนับตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าแพงเกินไป เพราะความจริงบ้านราคาเท่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพมาตรฐานจำถือว่าเป็นตัวเลขที่จับต้องได้

พวกเราล่ะ เห็นดีไซน์บ้านคอนเทนเนอร์สวย ๆ แบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร อยากไปอยู่เหมือนกันบ้างไหม?

 

อ้างอิงข้อมูลและภาพประกอบ

https://handcraftedmovement.com/

Previous articleวิศวะมหิดล สร้างสรรค์ 3 นวัตกรรม…รับมือไวรัสโคโรน่าและภัยพิบัติ
Next article“The Saints Wear White” ดีไซเนอร์จีนวาดฝาผนังโบสถ์มนฑล Hubei อุทิศแด่แพทย์ในวิกฤตโคโรนาไวรัส