อ่านหัวข้อบทความแล้วเหมือนนิยาย ที่เจ้าของร้านหมูกระทะทั่วไป จะกลายเป็นคนที่ทำงานในวงการ Landscape ได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับผู้เขียน ที่รู้สึกประหลาดใจไม่น้อยกับเส้นทางชีวิตของ “เอ้ อนิรุทธ์ สุขสุคนธ์” หัวเรือใหญ่ของ Is Delight ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี จนจับพลัดจับผลู พลิกบทบาทของตัวเองก้าวสู่จุดสูงสุดของวงการนี้

เรามีโอกาสได้มาเจาะลึกถึงเส้นทางอันแสนตลกร้ายและโอกาสที่แลกมาพร้อมกับความเสี่ยงของการดับชื่อเสียงในวงการนี้เลยก็ว่าได้

จุดเริ่มต้นของการทำ Landscape เริ่มต้นจากการจัดสวนแล้วต้นไม้ตาย…

“ตอนปี 41 ที่ฟองสบู่แตก ตอนนั้นเศรษฐกิจคือไม่ดีเลย หาเงินยากมาก เราก็เริ่มต้นจากการขายของตกแต่งตามสวนจตุจักร ตามห้าง พอได้ค่าข้าวเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ตอนแรกเลยเราไม่ได้ตั้งใจจะมาสาย Landscape หรอกนะ แต่วันหนึ่งเพื่อนเราก็มาถาม ๆ กันว่าใครพอจะทำสวนบ้างไหม ช่วงนั้นเราก็ไม่มีเงินอยู่ด้วย เราก็บอกไปเลย เราเนี่ยทำได้ ก็เริ่มจากตรงนั้น

“ด้วยความที่เรามีพื้นฐานด้านการออกแบบอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้มีความรู้เรื่องต้นไม้มาก่อนเลย แล้วบ้านหลังแรกที่ได้จัดสวน ต้นไม้ก็ตายหมดเลย เพราะเราไม่ศึกษามาก่อน เจ้าของบ้านเขาก็ไม่ได้แฮปปี้กับเราเท่าไหร่นะ แต่เราก็ทำจนเสร็จ ตอนนั้นได้เงินมา 35,000 บาท พอจบงานนี้ก็ไปทำอย่างอื่นที่เลี้ยงชีพได้ ทำร้านหมูกระทะเราก็ทำนะ (หัวเราะ) แล้วก็ทำดีด้วย

“ทำไปสักพักเพื่อนก็มาถามว่า มีใครทำหินเทียมไหม ตอนที่เพื่อนมาถามตอนนั้นน่าจะปี 45 ก็ยังไม่มีสื่อออนไลน์ให้เราได้ศึกษาข้อมูลเรื่องหินเทียมเลย เราก็อาสาเหมือนเดิม เราก็ถามเพื่อนว่างานนี้เท่าไหร่ พอเพื่อนบอกว่า 10 ล้านบาท เราก็แบบตาลุกวาวเลย เพราะเราก็ยังวัยรุ่นอยู่ตอนนั้น พอเสร็จงานตรงนั้นเราก็ได้กำไรเพียงแค่ เครื่องซักผ้าเครื่องเดียว เพราะเราก็ไม่รู้วิธีวางแผนการจัดการคน เลยทำให้มีเท่าไหร่ก็ใช้หมด หลังจากตรงนั้นเราก็เริ่มศึกษาหินเทียมด้วยตัวเองและเริ่มต้นจากตรงนั้น”

จุดเริ่มต้นของ Is Delight

“ตอนนั้นเราก็ขับรถผ่านเส้นเลียบทางด่วน แล้วบังเอิญไปเห็นป้ายงานสถาปนิก เราก็สนใจอย่างมากเลย เพราะงานเราก็ไม่ค่อยจะมีด้วยช่วงนั้น อยากไปออกบูธ เลยโทรไปที่ TTF เขาก็บอกว่าพื้นที่ในฮอลล์เต็มหมดแล้ว เหลือแต่พื้นที่ด้านนอก ตอนนั้นค่าบูธน่าจะราว ๆ แสนกว่าบาท เราก็ได้ที่มาประมาณ 3×7 ตารางเมตรนะ ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นเราก็ยืมเงินรุ่นพี่มามัดจำเพื่อออกบูธนะ เราก็เอาน้ำตกไปลง เอาสวนไปลง พอวันสุดท้ายก่อนใกล้จะถึงวันงานเราก็หาเงินรวบรวมมาจ่ายจนได้ และบูธของเราก็เป็นบูธแรกด้วยนะ ที่ทำเกี่ยวกับ Landscape ทำให้บูธของ Is Delight ได้รับความสนใจในงานครั้งนั้นอย่างมากเลย”

ตั้งใจอยากมาทำ Landscape ไหม

“เราไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นคนทำ Landscape หรอกนะเอาจริง ๆ ในตอนนั้นมันเป็นจังหวะและโอกาสที่เราเห็นช่องทางแล้วเราก็คว้ามันเอาไว้ อย่างที่บอกไป เราไม่ได้มีความชำนาญอะไรเลยในตอนแรก แต่เราทำบ่อย ๆ ทำนาน ๆ จนเราเริ่มรักมันและอยู่กับมันได้แค่นั้นเอง”

งานแรกหลังจากการออกบูธ

“งานแรกที่ได้เป็นงานบ้านของฝรั่งที่พัทยา ทำสวนให้เขาเพราะเราทำหินเทียมด้วย ทำ Landscape ด้วย เขาเลยไว้วางใจเรา จากบ้านหลังแรกที่ทำต้นไม้ตายมาถึงหลังนี้ก็ประมาณ 5-6 ปีเลย แต่เชื่อไหม เราไม่เคยไปเรียนเรื่องการทำหินเทียมหรือการจัดแต่งสวนเลยนะ อาศัยการทำซ้ำทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนมันชำนาญ จนเรารู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่เรากำลังทำมันอยู่อ่ะ”

ผลงานไหนที่อยากนำเสนอที่สุด

“เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก (หัวเราะ) มันเป็นช่วงเวลามากกว่านะ บางช่วงก็น่าจดจำเพราะตอนนั้นเราไม่มีจะกินละ บางงานก็น่าจดจำเพราะเราประมูลมากว่าจะได้มันยาก บางงานมันดูเละเทะนะแต่คอนเซปต์ดี ก็น่าจดจำ คือบางงานมันก็น่าจดจำในคนละรูปแบบ เราก็เลยไม่อยากบอกว่างานไหนมันน่าจดจำที่สุดนะ แต่รวม ๆ แล้วทุกงานคือความทรงจำที่ดีที่สุดสำหรับเรา เราชอบทุกงานที่เราทำ หล่อป่ะ (หัวเราะ)”

Is Delight มีบริการอะไรบ้าง

“มีครบวงจรเรื่องการจัดสวนแต่งสวนเลย คุณแค่เอาเงินมาให้เรา เอาไอเดียมาคุยกับเรา เราจัดให้ ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง หาต้นไม้ ทำน้ำตกเทียม (ถ้าอยากทำนะ) งาน Landscape เราทำได้หมดเลย ลูกค้าหลายคนจะมองว่าเราเป็นศิลปินนะ ทำเองทุกอย่างมีทุกทีม เรียกว่ามาที่ Is Delight ที่เดียวจบแน่นอน”

ค่าบริการสูงไหม

“ถามว่าสูงไหม เราก็ไม่ได้ทำงานถูก ๆ นะ เรียกว่าสูงก็ได้ แต่บางทีก็มีแบบที่ทำให้ฟรีก็มีนะ ทำให้คนด้อยโอกาส ทำการกุศล อย่างตอนนี้ก็มีงานอยู่ที่เสถียรธรรมสถาน เป็นโครงการที่ใหญ่มาก เราก็ไม่เอาเงิน เราไม่จำเป็นต้องรับเงินทุกงานที่ทำนะ ต้องดูก่อนว่าเราทำเพื่ออะไร ทำแล้วเราได้อะไร อันนี้ก็เอาสติปัญญาของเราไปถวายแทนเงิน แบบนี้เราแฮปปี้ก็โอเคแล้ว”

พนักงานตอนนี้มีกี่คน

“ตอนนี้มี 20-30 กว่าคน เราก็เอาเด็ก ๆ แถวบ้านเราที่มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางที่ไม่ดีมาสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้พวกเขานะ ตอนนี้บางคนก็ออกไปเปิดบริษัทเอง เราก็ดีใจนะ ดีกว่าจะให้เขาเดินทางผิด ๆ คนที่ออกไปก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคอยมาช่วยเราอยู่ตลอด เรามีวิชาเราไม่เคยเก็บไว้คนเดียวอยู่แล้ว แบ่งปันให้คนอื่นเสมอ ไม่หวงวิชาเลย แต่ถ้างานที่สเกลใหญ่ ขนาดที่ต้องใช้คนเป็นร้อย เราก็หาคนได้นะ ธุรกิจสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีคนเป็นร้อย ๆ ในบริษัทหรอก มีคอนเนคชันก็ถาม ๆ ไป อย่างงานต้นไม้เราก็มีคอนเนคชันปลูกให้ เราก็ไม่ต้องไปปลูกเอง เราซื้อต้นไม้คุณ คุณก็มาปลูกให้เราด้วย แต่ตอนนี้ที่ต้องมีพนักงานแบบรู้มือกันเลยคือ คนที่ทำหินเทียม ต้องใช้คนเฉพาะที่เราต้องคอยดูแลคุณภาพตลอด”

อยากทำงานอะไรที่แตกต่างจากงานเดิมไหม

“ชอบทำงานที่ไอเดียแปลก ๆ นะ พวกจัดสวนจัดน้ำตกมันเป็นของคุ้นเคยไปแล้วละ ถ้าอยากทำก็พวกไอเดียแบบแปลก ๆ ไปเลย อย่างตอนนี้ก็ทำมวลสารให้ทางวัดผลิตพระสมเด็จ วันนี้ก็เสียเวลาทั้งวัน เดินหาซื้อเครื่องบดพวกใบไม้เศษหิน (หัวเราะ) ถ้าเอาที่ตรงสายงานเราจริง ๆ ก็คงไม่มีนะตอนนี้ ไม่ได้อยากมาก ตอนนี้มีอะไรให้ทำก็ทำไปก่อน”

การแข่งขันของสายงานนี้มีเยอะไหม

“เยอะ เยอะมาก แต่เราไม่ต้องไปสนใจ ไปใส่ใจกับประเด็นนั้นหรอก ทำของเราให้ดีที่สุดดีกว่า เรามีสไตล์ของเรา ไม่จำเป็นต้องไปดูงานของคนอื่นหรอก เอาจริง ๆ เราก็เป็นเหมือนไอดอลให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ นะ มีหนังสือ ออกรายการกระบี่มือหนึ่ง ธุรกิจในสายนี้ก็มาดูงานเรา แล้วก็เอางานเราไปเป็นต้นแบบ แต่เรากับเขาไม่ใช่คู่แข่งกันนะ เพราะเราอาจจะทำงานใหญ่ ๆ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ทำงานเล็ก ๆ ไป สมัยก่อนมันไม่มีคนที่ทำงานใหญ่ ๆ มีแต่เราเนี่ยหละที่เสนอตัวไปทำ (หัวเราะ)”

การทำงานด้านออกแบบแตกต่างจากตอนที่เราจบมาใหม่ ๆ ไหม

“เราไม่ค่อยทำอะไรที่เป็นแพทเทิลเลยนะ เราไม่ชอบอะไรที่มันบีบบังคับความคิดเราอ่ะ งานออกแบบมันต้องสร้างสรรค์ดิวะ ถ้าทำแบบตำราโบราณมันก็เหมือนกันหมด งานทุกคนก็เหมือนกันหมด ไม่ได้ ๆ เราต้องแตกต่างจากตำรา ทุกอย่างมันต้องมาจากความรู้สึกด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่ามันสวย มันก็คือสวย แต่ถ้าร้อยคนบอกไม่สวย ตัวเราบอกสวยคนเดียวอันนี้ไม่ใช่ละ (หัวเราะ) มันเหมือนกับการเล่นดนตรีที่เราต้องอิมโพรไวส์สด ๆ อยากลงตรงไหนว่าสวยก็ลง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะรู้นะว่าเวลาเราทำงานก็ปล่อยให้มันทำงานไปเถอะ พองานจบลูกค้าก็จะบอกปากต่อปาก ว่าเราทำงานสไตล์ไหน แล้วเขาชอบไหม ถ้าชอบก็จบปิดดีล ถ้าไม่ชอบก็ผ่าน แค่นั้น”

สุดท้าย ถ้าบ้านหลังแรกที่ทำต้นไม้เขาตายมาอ่าน อยากฝากอะไรถึงเขาไหม

“พี่ให้ผมอยากแก้ตรงไหนก็บอกนะพี่ ผมทำให้ฟรี (หัวเราะ)”

สำหรับใครที่อยากจัดสวนสไตล์แบบ Is Delight ก็เข้าไปดูผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/isdelight/

Previous articleSHARP เปิดตัว Smart Innovative Solutions เครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัล
ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด
Next articleNano Electric Product จัดกิจกรรม Nano สัญจร พร้อมโปรโมชันพิเศษ
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ