FOYER ARCHITECTS & DESIGN เป็นผลลัพธ์ของการทดลองที่อยากจะตั้งออฟฟิศที่ไม่ใช่ออฟฟิศเสียทีเดียวของ “คุณตั้ม ธนินท์รัฐ ธนาปิยะรักษ์” Managing Director แห่งบริษัท FOYER ARCHITECTS & DESIGN

แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ?

ผมกับน้องในทีมสงสัย จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสัมภาษณ์คุณตั้ม เพื่อทำความรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของการเป็นนักออกแบบ รวมถึงแรงจูงใจในการก่อตั้งออฟฟิศเป็นของตัวเอง

เรานัดกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในสามย่าน มิตรทาวน์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการพบปะพูดคุยเป็นอย่างมาก เมื่อเราพบกัน อารมณ์เหมือนรุ่นพี่คุยกับรุ่นน้อง เพราะอายุของพวกเราและคุณตั้ม ห่างกันไม่มากนัก

จบอะไรมา…เริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องการเรียนมหาวิทยาลัย

ช่วงนั้นเราสอบตรงติด ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่ได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่แล้วเราก็กลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ เนื่องจากต้องกลับมาช่วยทำธุรกิจที่บ้าน ซึ่งที่บ้านเราทำเกี่ยวกับพวกออกแบบอยู่แล้ว เป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ กับรับออกแบบภายใน และที่บ้านก็ขาดคนช่วยงานด้วย เราจึงตัดสินใจกลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้ช่วยงานทางบ้านได้ด้วย โดยเลือกเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แล้วก็จบ ป.ตรี ที่นั่นเลย ส่วนตอนนี้ก็กำลังเรียน ป.โท ต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครับ

เลือกเรียนสถาปัตยกรรมหลัก ทั้ง ๆ ที่บ้านทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์และรับออกแบบภายใน

จริง ๆ เราอยากเรียนออกแบบภายในนะ แต่พอเราได้มาติวตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย พี่เขาสอนไม่ให้เราทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เราก็เลยมองตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในวงการใดวงการหนึ่ง เราคือนักออกแบบมากกว่า เราทำได้ทุกอย่าง แล้วพอมีโอกาสได้เรียนจริง ๆ เราก็ทำอาคารได้ ทำภายนอกได้ ออกแบบภายในได้ มันเลยเชื่อมโยงกันหมด

จากเพื่อนร่วมคณะ สู่การเป็น Partner ในการก่อตั้ง FOYER

สมัยเรียนป.ตรี เราก็ทำงานตลอด เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เราเลยมีทีมที่เป็น Partner กัน ช่วยกันทำมาตลอด จนมาถึงจุด ๆ หนึ่งที่คิดว่าเราน่าจะมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้ ก็เลยเริ่มจากตรงนั้นมา แต่ว่าปีแรกที่เรียนจบกันมา เราก็แยกย้ายกันไปทำงาน ต่างคนต่างดำเนินไปตามสไตล์ของตัวเอง แต่ก็ยังมีงานที่ทำร่วมกันอยู่ พอไปทำงานข้างนอก กลายเป็นไม่ตอบโจทย์ ออฟฟิศอื่นมันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เรารู้สึกว่า เราอยู่กับมันไม่ได้ ด้วยระบบ สังคม ค่านิยมต่าง ๆ และเราไม่เหมาะกับที่ตรงนั้น เลยออกมาตั้งบริษัทเอง

เมื่อเราดำเนินธุรกิจไปได้สัก 4-5 ปี เราก็เลยรวมบริษัทครอบครัวกับบริษัทของเราเข้าด้วยกัน เพื่อความหลากหลายและครบวงจรมากขึ้น ตัวเราเองไม่ได้ปิดกั้นการออกแบบ เราสามารถออกแบบตึกหรืออาคารได้ ออกแบบภายในก็ได้ ให้ทำ Landscape ก็ได้ หรือ Product Design Packaging ทำได้หมด เราจะบอกลูกค้าตลอดว่า เราไม่ได้ถนัดทุกอย่างนะ แต่ถามว่าเราทำได้ไหม เราทำได้ บางทีลูกค้าอยากได้ภาพรวม คือพอเราทำภายนอกด้วยภายในด้วย ภาพรวมมันคือเรื่องเดียวกัน ลูกค้าก็แฮปปี้ตรงนี้มาก ๆ

FOYER เป็นคำนามแปลว่า “ห้องโถง”

มันเป็นคำเฉพาะของนักออกแบบครับ อ่านออกเสียงว่า “ฟัวเย่” หรือ “ฟัวเย่อ” ก็ได้ครับ เป็นภาษาฝรั่งเศส คือส่วนของโถง หรือห้องโถง ก่อนที่เราจะเดินเข้าบ้าน หรือเดินไปโซนอื่น ๆ ภายในบ้าน และก่อนที่จะมาเป็นชื่อนี้ เราก็มีการช่วยกันตั้งชื่อร่วมกันกับ Partner อีก 2 คน รวมผมด้วย ซึ่งเราก็คิดว่า ต้องหาความหมายกลางของมัน ไม่เอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และไม่ใช้ชื่อที่เฉพาะเจาะจงเกินไป เลยมาจบที่ FOYER ครับ

อิสระของการทำงาน ที่ไม่ได้อยู่แค่ในออฟฟิศ

ด้วยความที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ เราเลยอยากทำออฟฟิศที่ไม่ใช่ออฟฟิศ อย่างแรกเลยคือ ระบบออฟฟิศมันต้องมีอยู่แล้ว แต่มันต้องไม่จำกัดจนเกินไป ค่อนข้างที่จะยืดหยุ่นได้ เรื่องการทำงานมีความหลากหลาย เราอยากให้ออฟฟิศมันเป็นส่วนกลางอยากจะไปจุดไหนก็ได้ เราก็ไปอุปมาอุปไมยเองว่า เราอยากจะรับงานอะไรก็ได้

และเราอยากสร้างออฟฟิศที่มันแตกต่าง ซึ่งเรามีเวลาเข้างานปกตินะ แต่มันสามารถยืดหยุ่นได้ มี Work at Home คือเราให้อิสระอย่างเต็มที่กับคนที่จบใหม่รุ่นราวใกล้เคียงกับเรา จริง ๆ แล้วไลฟ์สไตล์แบบนี้มันตอบโจทย์กับเด็กยุคใหม่มากกว่า เราเปิดออฟฟิศมา 6-7 ปีแล้ว เด็กที่เริ่มทำกับเราตั้งแต่แรก ก็ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้

มันก็สะท้อนกลับไปว่า ใครจะทำอะไรก็ทำได้บนเนื้อหาเดียวกัน มันเลยเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ใหม่สำหรับโลกใบนี้ แต่มันใหม่สำหรับเราหรือคนรุ่นเรา น้อง ๆ ที่ทำงานกับเราคือมีอิสระเต็มที่ ทำงานที่บ้านได้ สามารถเล่นฟิตเนสได้ทุกวัน คือมันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่โดยแท้จริง นอกจากนี้เรายังเสริมเรื่องทริปการท่องเที่ยวให้กับคนในบริษัทด้วย โดยใน 1 ปีเราจะเที่ยวกัน 5-6 ครั้งเลย เวลาเราไปเที่ยวเราก็ไปเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในตัวด้วย ไปในที่ที่ไม่เคยไป เพื่อนำกลับมาพัฒนาตัวงานของเราด้วย

มองคำว่า TEAMWORK เป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน

ด้วยโปรเจ็กต์ที่เราทำมันค่อนข้างจะมีเนื้องานที่เยอะ ซึ่งไม่สามารถทำคนเดียวได้ มีรายละเอียดเยอะ แล้วเราจะต้องติดต่อประสานงานกับคนหลายกลุ่ม เราไม่ได้ทำงานกับแค่คนเดียว อาคารหนึ่งต้องติดต่อ supplier เกี่ยวกับวัสดุเป็นสิบ ๆ เจ้า แล้วก่อนที่เราจะติดต่อเขา เราก็ต้องเรียกเขามาคุยว่าใช้วัสดุอย่างไร และเมื่อไหร่ที่ทุกคนหยุดทำงานเท่ากับทีมมันหยุดไปด้วย มันหยุดคนเดียว ไม่ใช่ว่าคนอื่นทำต่อได้ มันก็เป็นการรันระบบ เรารู้สึกว่า ไม่อยากทำออฟฟิศให้ดูเป็นออฟฟิศเกินไป เท่ากับว่าพอมันเป็นออฟฟิศมันก็ต้องมีผู้นำ มีผู้ตาม มีเจ้าของออฟฟิศ มีลูกทีม แต่กลายเป็นว่าเราให้ค่าของบุคคลเท่า ๆ กัน คนอื่นก็มีสิทธิที่จะเท่าเทียมกันหมด เราเลยรู้สึกว่าทุก ๆ คนในทีมมันสำคัญ นั่นคือ TEAMWORK มากกว่า

เจองานหินตั้งแต่งานแรก กับการรีโนเวท พลับพลา โฮสเทล5 ชั้นครึ่ง

งานแรกของเราคือ โฮสเทลย่านสีลมชื่อว่า พลับพลา โฮสเทล เราคิดว่ามันเป็นงานที่ Complete ที่สุด สร้างเสร็จเร็วที่สุด ด้วยตัวโปรเจกต์คือเป็นตึกแถวเก่า ๆ ประมาณ 5 ชั้นครึ่ง เป็นงานรีโนเวททั้งภายนอกและภายใน ตอนนั้นก็โชคดีเพราะมีรายการ เดอะรีโนเวท จากบ้านและสวน เข้ามาถ่ายทำตึกแล้วก็มีมาสัมภาษณ์เราด้วย กลายเป็นว่า Feedback จากทางรายการมันก็รันต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามีงานเข้ามามากขึ้น

คอนเซปต์ของโฮสเทลนี้คือ Thai Culture จะเน้นเป็นห้องแบบห้องนอนรวม ห้องน้ำรวม ห้องยิ่งจุคนเยอะเท่าไหร่ได้ยิ่งดี แล้วก็ทำชั้นลอยของดาดฟ้าให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าพักได้มาสนุกกับจุดนี้ เช่น ฉายหนังกลางแปลง มีจัดกิจกรรมในช่วงของประเพณีต่าง ๆ ทำกระทงในวันลอยกระทง ซึ่งมันก็จะมีเรื่องราวของมันในตัว

ส่วนที่มาของชื่อพลับพลาก็คือ ลูกค้าอยากเล่นอะไรไทย ๆ เราก็เสนอไปว่าเอาแบบนี้ไหม ที่พักนี้มันลึกลับมันซับซ้อนดี เราเลยนึกถึงฉาก ๆ หนึ่งใน รามเกียรติ์ ที่หนุมานอมพลับพลาของพระรามไว้ ลูกค้าก็เลยชอบ เขาก็อยากได้รูปวาดที่เป็นหนุมานอยู่ข้างในที่พักด้วย มันก็เป็นสัญลักษณ์ของที่นี้ไปเลย

ซึ่งงานรีโนเวทยากมาก เราต้องจดไซส์ในทุก ๆ ส่วนของอาคาร มันไม่เหมือนการสร้างใหม่ที่มีพื้นที่เปล่า ๆ แล้วเราจะทำอะไรกับมันก็ได้ อีกอย่างมีเรื่องของอาคารข้างเคียง อาคารติดกัน รวมถึงกฏหมายที่เราต้องขออนุญาต ถือเป็นงานรีโนเวทงานแรกที่ได้คุมทั้ง Branding และ Artwork แทบจะมีทุกอย่างที่เป็นตัวเราอยู่ในนั้น และเป็นสิ่งที่ลูกค้ายอมรับได้บนงบประมาณที่จำกัด ซึ่งลูกค้าก็รักเรามากเลย

“แพเคียงน้ำ” อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ใหญ่ที่อยากพูดถึง

เป็นร้านอาหารที่บางปะกง ที่วิวสวยมาก อยู่ติดแม่น้ำบางปะกง  พื้นที่รวม ๆ ประมาณ 3 ไร่ แต่พื้นที่อาคารเกือบ ๆ 2,000 ตารางเมตร เป็นร้านอาหาร 2 ชั้น แล้วงานนี้เป็นงานที่เราทำลงไปแล้ว ผลตอบรับกลับมาค่อนข้างดีครับ ทำให้เราได้งานอื่น ๆ เกี่ยวกับร้านอาหารค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเป็นสเกลที่ค่อนข้างใหญ่ แล้วเราคิดว่าลูกค้าค่อนข้างที่จะแฮปปี้ด้วย แล้วก็ค่อนข้างปล่อยเรา โปรเจ็กต์ไหนที่เขาปล่อยเรา เราจะรู้สึกรักโปรเจ็กต์นั้น และโปรเจ็กต์นี้จะเป็นที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุด

เพราะ สถาปัตยกรรมคือการสร้างเรื่องราว “Architecture follow Memory”

การออกแบบรูปแบบอาคาร ที่ไม่ว่ามันจะเป็นภายในหรือภายนอก มันไม่ได้มีถูกมีผิด แต่สิ่งที่เราจะไปออกแบบ คือเราต้องออกแบบเรื่องราวให้มันสอดคล้องกับบริบท หรือพื้นที่นั้น ๆ ให้มันสอดคล้องกันนะ ให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่ลูกค้า หรือเจ้าของโครงการเขาต้องการจะสื่อสาร อันนั้นคือเราออกแบบเรื่องราว เพราะตัวสถาปัตยกรรมมันเป็นแค่สื่อเฉย ๆ

สำหรับลูกค้า เขาอาจจะอยากได้ห้องนอนอยู่ตรงนี้ ตรงนี้คือจุดหนึ่งแล้วที่เขาบอกเล่าเรื่องราว แล้วเขาอยากเดินผ่านห้องนั่งเล่นบ่อย ๆ และเราสามารถสร้างเรื่องราวให้เขาได้ พอเรามีเรื่องราวเข้ามาปุ๊บ ฟังก์ชันจะเปลี่ยนไป โปรแกรมมิ่งใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น และจริง ๆ มันจะมีเรื่องของการรับรู้ และความเข้าใจก็จะเปลี่ยนไป

เราบอกว่าคนในทีมเสมอว่า สถาปัตยกรรมเนี่ยต้อง Follow Memory เรื่องราวมันต้องสร้างความทรงจำอะไรสักอย่าง ตัวคนใช้อาคารอาจจะไม่รู้หรอก อย่างเราไปร้านอาหาร อยู่ดี ๆ เราก็รู้ว่าเขาขายอาหารอะไร เขามาจากไหน คอนเซ็ปต์ต่าง ๆ มาจากอะไร โดยที่เราไม่ต้องเล่าเป็นเรื่องราว อย่างร้านอาหารริมน้ำ มันจะบอกผ่านตัวสถาปัตยกรรมเอง แล้วคนออกแบบก็เอาไปตีความเอาเองว่าคืออะไร ซึ่งเท่ากับว่าจริง ๆ แล้วแต่ละอาคารก็จะมี Memory ที่ต่างกันไปเรื่อย ๆ

เราทำทุกอย่างได้ ถ้าเราตั้งใจทำข้อคิดที่อยากฝากถึงนักออกแบบรุ่นใหม่

ข้อคิดในการทำงานที่ใช้ในทุกวันนี้ คือเรามีความคิดว่า เราทำได้ทุกอย่าง แต่เราต้องตั้งใจทำ ถ้าเราทำไม่ได้แสดงว่าเรายังไม่ได้ตั้งใจทำมัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำมัน แล้วเราตั้งใจ นั่นแหละแสดงว่าเราทำมันได้ มันเลยทำให้เราทำงานได้หลายรูปแบบ เพราะเราจะรู้สึกว่า เราตั้งใจทำมันนะ บางคนเข้ามาถามเราบอกว่า แล้วมีงานอะไรที่เราเคยผิดหวังกับมันบ้างไหม เราก็มีนะที่มันผิดหวัง แต่เรารู้สึกว่า ไอ่งานที่เราผิดหวัง เป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้ตั้งใจทำมัน ถ้าเราตั้งใจทำมัน มันไม่มีทางเฟล แล้วมันก็จะเป็นคำที่เราบอกลูกค้าตลอดว่า ผมทำได้ เราทำได้ และเราตั้งใจทำมัน

ทิ้งท้ายบทสนทนา กับงานออกแบบที่อยากทำที่สุด

เอาแบบไม่ต้องติดเท่เลยนะ ถ้าถามว่าอยากออกแบบงานสถาปัตยกรรมอะไรมากที่สุด ผมอยากทำสนามเด็กเล่น จากการที่เราไปเห็นของต่างประเทศมา แล้วเรารู้สึกว่าประเทศเรายังให้ค่ากับเรื่องสนามเด็กเล่นน้อยเกินไป จริง ๆ แล้วพอรีเสิร์ชหรือทำวิจัยออกมา กลายเป็นว่าการเล่นของเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้ ส่งผลกับอนาคตของเด็กคนนั้น ยกตัวอย่าง พ่อกับแม่ที่เล่นซ่อนแอบกับลูก แค่เล่นจ๊ะเอ๋กัน แล้วเด็กหัวเราะ มันก็เป็นการสอนเด็กไปในตัวแล้วว่าให้เขารู้จักการจากลาชั่วขณะ รู้จักอยู่กับตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

แต่กลับกลายเป็นว่าสนามเด็กเล่นบ้านเรามันไม่มีเรื่องราว และมันไม่มีความหมายอะไรซ่อนอยู่เลย ซึ่งสนามเด็กเล่นของต่างประเทศจะมีเรื่องพวกนี้ หรือว่ามันอาจจะไม่ได้ตีความเป็นสนามเด็กเล่น แต่มันเหมือนแบบทดสอบที่ให้เด็กได้ลงไปเล่นกับมันหรือทำอะไรกับมันจริง ๆ ซึ่งในนั้นมันมีความหมายในตัวของมันอยู่ แต่คนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควร

สำหรับใครที่กำลังมองหานักออกแบบอยู่ สามารถเข้าไปชมผลงานของ FOYER ARCHITECTS & DESIGN ได้ที่ http://www.designerhub.in.th/foyer หรือทาง Facebook http://www.facebook.com/foyerarchitects

Previous articleต่อยอดเศษขยะ เพิ่มคุณค่าให้กับวัสดุ ชวนมาดูงานนิทรรศการการทดลองครั้งแรก
ของ “ทำ – มา – หา – กิน”
Next articleยิปซัมตราช้าง ส่งโปรเด็ดรับหน้าร้อน แจกเสื้อ 5 สีสุดเท่ห์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ