ในช่วงที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด-19 อยู่นั้น หลายคนคงเห็นข่าวเรื่อง “ไฟป่าเชียงใหม่” กันผ่านหน้าฝีดกันบ้าง ซึ่งในปีนี้ เรียกได้ว่า จ.เชียงใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องไฟป่าที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาหลายเท่า

เรื่องสุขภาพอนามัยของชาวเชียงใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมนุษย์ล้วนใช้ชีวิตกับการสูดอากาศในการหายใจ แต่ตอนนี้อากาศในเชียงใหม่กลับเต็มไปด้วยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงปรี๊ด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

หนึ่งไอเทมที่ดูจะขายดี และควรพกติดตัวไว้เลยคือ หน้ากากอนามัย แต่หน้ากากอนามัยธรรมดาไม่ได้มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 หลายคนจึงเสาะหาหน้ากากอนามัยแบบ N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 95% ซึ่งถ้าใครเคยได้ลองสวมมันดูแล้วนั้น จะรู้สึกได้เลยว่ามันค่อนข้างหนา รัดกุม เพราะมันมีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นที่สูง สิ่งที่ตามมาคือ ความรู้สึกที่อึดอัด หายใจไม่ค่อยสะดวก จนทำให้บางคนเลือกที่จะไม่ใส่หน้ากาก N95 ไปเลย

สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องหน้ากากนี้เอง จึงเกิดโครงการผลิตและคิดค้นนวัตกรรมหน้ากาก MasquraX@CMU ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร. ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

สำหรับตัว MasquraX@CMU เป็นหน้ากากแบบ “Positive Pressure” หรือหน้ากากที่ให้ความดันบวก โดยหลักการทำงานของหน้ากากตัวนี้คือ เริ่มที่ตัวกล่องสี่เหลี่ยม จะมีพัดลมที่ช่วยดูดพาลมเข้ามาที่ตัวฟิลเตอร์คาร์บอน ซึ่งตัวฟิลเตอร์มีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันฝุ่นขนาด 0.1 ไมครอนได้ถึง 99% หลังจากดูดอากาศและผ่านตัวกรองแล้ว อากาศบริสุทธิ์จะถูกส่งต่อไปตามท่อเพื่อเข้าสู่หน้ากากอีกที

ส่วนตัวหน้ากากนั้น ถูกออกแบบมาเป็นเหมือนบล็อค ค่อนข้างใหญ่และมีพื้นที่ในการหายใจเยอะ ช่วยให้หายใจได้สบาย เวลาสวมใส่ไม่รู้สึกอึดอัด และสามารถป้องกันอากาศพิษจากภายนอกได้อย่างดี

คุณสมบัติพิเศษของ MasquraX@CMU

  • ตัวหน้ากากไม่รัดแน่นจนเกินไป ใส่แล้วไม่อึดอัด
  • หายใจได้คล่องและสบายกว่าหน้ากาก N95
  • ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้สูงถึง 99%
  • สามารถใส่หน้ากากขณะออกกำลังกายได้
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศหนัก ๆ เช่น นักดับเพลิง ตำรวจจราจร ผู้ป่วยทางเดินหายใจ เด็ก หรือผู้สูงอายุ ที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง

แม้จะคิดค้นออกมาได้ไม่นาน สำหรับ MasquraX@CMU ล่าสุดทางทีมงานผู้คิดค้นได้เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการคิดค้น MasquraX Gen2 ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดจากของเดิม ทำให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น มีน้ำหนักเบา กะทัดรัด และมีแบตเตอรี่ที่อึดขึ้น

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น ทางทีมงาน BuilderNews ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ชาวเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่ทุก ๆ ท่านผ่านพ้นวิกฤติครั้งไปได้ด้วยดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: มช. ทูเดย์, WEVO สื่อสู้ฝุ่น

 

Previous articleอยู่บ้านทั้งที มา TAKE A BREAK กัน
ชวนดูหนัง “สถาปัตยกรรมงานดี” 5 เรื่องเพื่อผ่อนคลาย
Next articleแปลงโฉมอาคารสุดเก่าแก่ในอัมสเตอร์ดัม ให้กลายร่างใหม่เป็นอาคารสีสุดสร้างสรรค์
ภายใต้คอนเซปต์ “Colorful Characters”