อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และยังคงจะเป็นเช่นนั้นเสมอ แม้ในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด รวมถึง New Normal ที่จะมาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมในภายภาคหน้า รายงานจาก McKinsey เผยกลยุทธ์ที่ช่วยให้บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีก่อสร้าง โดดเด่นกว่าคู่แข่ง

จาก 14% ของ GDP โลกมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้างรวมทั้งการจ้างงาน โครงการก่อสร้างด้านต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัย, พื้นที่เชิงพาณิชย์, โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรม ล้วนเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุและเครื่องจักรในการก่อสร้าง, ระบบแสงสว่างและระบายความร้อน ไปจนถึงการบำรุงรักษาอาคารและอื่นๆ อีกมากมาย

แม้จะมีความสำคัญสูง แต่อุตสาหกรรมการก่อสร้างก็ยังชะลอตัวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 จนถึงปี 2018 ภาพรวมของดัชนีหุ้น S&P 500 ของบริษัทในธุรกิจก่อสร้าง เผยให้เห็นช่วงเวลาการขึ้น-ลงของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงานของบริษัท (ROIC) และกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ตามภาพที่ 1) ซึ่งการฟื้นตัวและการสร้างมูลค่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้หลังจากเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในปี 2008 ที่เกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง เนื่องจากการกระจายตัวสูงและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทำได้ค่อนข้างช้า ประกอบกับทั้งตัวเลขการว่างงาน ปัญหาน้ำมันแพง ยอดขายหดหาย งบประมาณถูกตัด เป็นวิกฤตทางการเงินที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ยุค The Great Depression เลยก็ว่าได้  ในขณะที่ผลผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้ง ภาคเกษตร การผลิต การทำเหมือง ต่างเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1990 อุตสาหกรรมก่อสร้างกลับลดลง

ถึงแม้จะประสบกับความท้าทายในการสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่บางบริษัทก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงดังกล่าว รายงานของ McKinsey ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทด้านเทคโนโลยีก่อสร้างกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกเป็นเวลากว่า 16 ปี เผยว่า กลุ่มบริษัทที่ขึ้นสู่ระดับสูงสุด 25% แรก (Top Quartile)  โดยดูจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงานของบริษัท (ROIC) ซึ่งทาง McKinsey ได้เรียกว่า “กลุ่มผู้นำ” นั้น มีผลการดำเนินงานเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการใช้กลยุทธ์สำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

  1. บรรลุคุณภาพของรายได้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ลักษณะเฉพาะของข้อเสนอ (Uniqueness of Offerings) และการวางตำแหน่งทางการตลาดกับลูกค้าชัดเจน
  2. มุ่งมั่นแสวงหา Margin อย่างจริงจัง โดยเน้นที่ profit-revenue spread และ operating leverage ที่มีประสิทธิภาพ
  3. ใช้ประโยชน์จาก M&A หรือการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) อย่างแข็งขัน เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่หรือขยายขนาดในตลาดหลัก
  4. เพิ่มกระแสเงินสดอิสระโดยการลดวงจรเงินสดอย่างเป็นระบบ

กลุ่มผู้นำมักจะเพิ่มความได้เปรียบเมื่อเวลาผ่านไป โดยกลุ่มบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่งในช่วงต้นปี 2000 มีความได้เปรียบที่สูงมากยิ่งขึ้นไปอีก จากช่วงปี 2013 ถึง 2018 (ภาพที่ 2) หากบริษัทในปัจจุบันสามารถทำตามกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านั้นได้ จะช่วยให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันและประสบความสำเร็จในระยะยาวได้

นอกเหนือจากการดูประสิทธิภาพแล้ว McKinsey ยังพยายามระบุถึงเทรนด์ล่าสุดที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ โดยในงานวิจัยชี้ให้เห็นถึง 5 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพในปี 2019 ที่ผ่านมา ทั้ง 1.) การขยายตัวของความเป็นเมืองที่รวดเร็ว 2.) การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น 3.) อาคารอัจฉริยะ 4.) การเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และ 5.) การนำเสนอแบบครบวงจร ทั้งช่องทางใหม่และนวัตกรรมการตั้งราคา

ย้อนกลับไปก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลผลิตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้ลดลงอยู่แล้วและสร้างความวุ่นวายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ ยิ่งตอกย้ำผลกระทบให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา การประมาณการของ McKinsey ชี้ให้เห็นว่า 5 เทรนด์เหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนที่เกี่ยวกับการก่อสร้างถึง 3.5% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณการกันว่าอัตราการเจริญเติบโตเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อครบระยะเวลา

อุตสาหกรรมจะอยู่ในตำแหน่งที่ดี ที่จะเติบโตผ่านแนวโน้มที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ? คำตอบขึ้นอยู่กับความแตกต่างของจุดตั้งต้นของแต่ละบริษัท สำหรับบริษัทผู้ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการปิดช่องว่างผลการปฏิบัติงานกับกลุ่มผู้นำ ซึ่งการที่จะบรรลุได้นั้นต้องให้ความสำคัญกับการนำกลยุทธ์ 4 ข้อของกลุ่มผู้นำมาประยุกต์และดำเนินการ

สำหรับผู้นำที่ต้องการจะเติบโตในอนาคต ทาง McKinsey ได้แนะนำการปรับปรุงกลยุทธ์ดังต่อไปนี้โดยพิจารณาจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่อาจจะสร้างโอกาสได้

  • รูปแบบใหม่ของธุรกิจและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่ให้การเติบโตที่มากขึ้นในแง่คุณภาพของรายได้
  • Generation ต่อไปของเทคโนโลยีสำหรับการปรับปรุงการดำเนินงาน
  • ใช้การควบรวมกิจการ (M&A) อย่างมีแบบแผน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและผลิตภัณฑ์
  • ใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อลดความไม่แน่นอนในระบบการผลิตและเพิ่มกระแสเงินหมุนเวียน

ทั้งนี้ความรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่บริษัทต้องก้าวไปข้างหน้า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บริษัทมากกว่า 4 ใน 10 บริษัท ประสบความสำเร็จในการขยาย Margin ถึง 60% ในเวลาไม่ถึง 2 ปี โดยมีสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบคือการพัฒนาประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนโดยระบบดิจิทัล และความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน ฉะนั้นแล้วการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีที่คาดว่าจะเห็นผลลัพธ์ได้รวดเร็วมากที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.mckinsey.com/industries/advanced-electronics/our-insights/construction-and-building-technology-poised-for-a-breakthrough

Previous articleNET CAFE REFUGEES ที่พักผู้ลี้ภัยช่วง COVID-19 โดย Shigeru Ban Architects
Next articleคุยกับ “คุณประธาน” บก. art4d และกรรมการโครงการ DEmark Award 2020
ถึงแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ