“ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ไปโลด! ดึงกลุ่มทุนใหญ่ “มิตรผล-เบญจจินดา-บ้านปู” ผนึกเทศบาลนครขอนแก่น และขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) หนุนแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานและ IoT ล่าสุดม.ขอนแก่นตั้งศูนย์ข้อมูลกลางสมาร์ทซิตี้ (SCOPC) แล้วเสร็จพร้อมแผ่รัศมีเมืองอัจฉริยะครอบคลุมภาคอิสานทั้งระบบ

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าด้านการขับเคลื่อน “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” สู่เมืองอัจฉริยะว่า ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเมืองขอนแก่นช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามหัวเมืองหลักต่างๆ ที่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จนช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ได้เข้าไปดำเนินการในหลายด้านควบคู่กันไปทำให้จังหวัดขอนแก่นมีแผนพัฒนาเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคม เอกชนกลุ่มต่างๆเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เต็มรูปแบบ

นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือช่วยให้การปฏิบัติมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น อาทิ การจดทะเบียนบริษัทเคเคทีเอส การเตรียมเรื่องสมาร์ทโมบิลิตี้ เป็นต้น นั่นคือ แผนงาน แผนปฏิบัติ เครื่องมือและตัวช่วยการปฏิบัติงานก้าวสู่ระดับที่ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งแล้ว

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุกอย่างแล้วเสร็จ เรียกว่าพอได้เห็นแสงสว่างตรงทางออกปลายอุโมงค์เท่านั้น ขณะนี้จึงสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนตามแผนต่อไปได้ โดยนั่นหมายถึงว่าต้องตามให้ทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลก เห็นได้จากช่วงโควิด-19 สามารถรับมือได้เร็วกว่าด้วยระบบดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นของจังหวัดที่ดำเนินการไว้แล้ว เหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆที่พบจึงสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการติดตามตัว หรือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงรักษาผู้ป่วยทั้ง 6 รายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นั่นหมายถึงว่าจังหวัดขอนแก่นสามารถบริหารจัดการได้ชัดเจน ควบคุมพื้นที่ได้เร็ว ติดตามเป้าหมายได้ทันแบบเรียลไทม์ แม้กระทั่งตอนช่วงกลางคืนยังสามารถตรวจสอบกลุ่มคนที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ผ่านระบบโดรนและกล้องวงจรปิดจึงเป็นการช่วยป้องปรามปัญหาได้ทันท่วงที

ผนึกความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือศูนย์โควิด-19 ของจังหวัดเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะขอนแก่นพัฒนาเมือง และหอการค้าได้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน ช่วยนำเสนอความคิดเห็นว่าหากจะเปิดคลายล็อกดาวน์จะต้องเตรียมการไว้รับมืออย่างไร ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูตัวเลขผลกระทบทั้งจังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หากปิดเมืองต่อเนื่องจะกระทบต่อจังหวัดในหลากหลายแง่มุมอย่างไร อัตราคนว่างงานจะเพิ่มมากน้อยเพียงใด จังหวัดสามารถทำแผนรองรับไว้ได้ทัน

นอกจากนั้นขอนแก่นพัฒนาเมืองยังร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ซึ่งเป็นการได้เตรียมบุคลากรบัณฑิตอาสาไว้พร้อมก่อนหน้านี้แล้ว ทำหน้าที่ให้คำแนะนำผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไม่มีงานทำซึ่งบัณฑิตอาสาจำนวน 1,360 คนทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลสามารถจ่ายงบประมาณให้กับบัณฑิตทั้งหมดนั้นได้ชัดเจน ดังนั้นหากเพิ่งเริ่มต้นในวันนี้จึงไม่น่าที่จะหางานให้ประชาชนทำได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพราะนี่จะเป็นภูมิคุ้มกันของจังหวัดขอนแก่น เป็นการรองรับช่วงเกิดวิกฤติได้อย่างทันท่วงที

ประการสำคัญขอนแก่นพัฒนาเมืองวางบทบาทเป็นผู้ประสานงานมากกว่า ส่วนผู้นำคือจังหวัดและเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับอีก 4 เทศบาลในพื้นที่ ภาครัฐยังเป็นผู้นำ ส่วนภาคเอกชนคอยสนับสนุน นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเมืองที่จังหวัดอื่นๆไม่มี อันเกิดจากการร่วมผนึกกันอย่างเหนียวแน่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขอนแก่น

ดึง 3 กลุ่มทุนใหญ่รุกพัฒนาเมือง

ณ วันนี้ “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” ยังดึงกลุ่มทุนชั้นนำ อาทิ “กลุ่มมิตรผล” ลงพื้นที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่โซนศรีจันทร์ภายใต้โครงการ “ศรีจันทร์สร้างสรรค์” หลังจากที่ช่วงก่อนนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ออกแบบเมืองไว้แล้ว จน ณ วันนี้แผนแม่บทฟื้นฟูเมืองแล้วเสร็จ โดยกลุ่มมิตรผลลงทุนปรับปรุงตึกร้างเสร็จเรียบร้อย จึงถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจลงทุนด้านการพัฒนาเมืองในพื้นที่อื่นๆตามมาอีก

เช่นเดียวกับกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ กลุ่มเสาไฟอัจฉริยะ Smart POLE สายไฟฟ้าลงดิน กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ อินเตอร์เน็ต IoT โดยล่าสุดกลุ่ม “เบญจจินดา” ร่วมลงนามเอ็มโอยูกับเทศบาลนครขอนแก่นที่เกิดจากการประสานของขอนแก่นพัฒนาเมืองนำเทคโนโลยีไฟเบอร์ออฟติค กล้องวงจรปิด อินเตอร์เน็ต เสาไฟอัจฉริยะสมาร์ทโพลีปรับรูปแบบสู่สายไฟฟ้าลงดินทั้งหมด

ล่าสุดภาคราชการอย่างกระทรวงพลังงานได้เข้ามาดำเนินโครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่งร่วมกับพลังงานจังหวัด ขอนแก่นพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน(มทร.อิสาน) นอกจากนั้นยังเตรียมดึงหน่วยงานต่างๆทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกพืชผักผลไม้เพื่อสร้างคลังอาหารขึ้นที่ขอนแก่นอีกด้วย

พร้อมกันนี้ยังเตรียมลงนามความร่วมมือกับ “กลุ่มบ้านปู” ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานของไทย เพื่อเข้ามาส่งเสริมระบบโซล่าฟาร์ม โดยจะร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอนแก่น เพื่อส่งเสริมเรื่องการประหยัดพลังงาน จึงเป็นคำถามของหลายคนว่าทำไมกลุ่มทุนเหล่านี้ให้ความสนใจพัฒนาจังหวัดขอนแก่น เพราะเล็งเห็นว่าขอนแก่นมีการวางแผนและเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นระบบนั่นเอง

“จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางสมาร์ทซิตี้ (Smart City Operation Center : SCOPC) โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับงบประมาณ 100 ล้านบาทไปดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลบิ๊กดาต้าระบบอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่นไว้ที่นี่ทั้งหมด และยังสามารถยกระดับให้ครอบคลุมโครงข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคตได้อีกด้วย” นายสุรเดช กล่าวในตอนท้าย

Previous articleEnmax ชูนวัตกรรม พลังงานที่ไม่มีวันหมด ด้วยโซลาร์เซลล์
Next articleMasque Thing ตู้หรูด้วยประตูซิลิโคน
นวัตกรรม “ผิวหินขัดซิลิโคน” ดึงได้แข็งแรง ยืดหยุ่นทุกแรงสัมผัส
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ