จากการที่มีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ บางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่รับของที่สั่งไป กระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความ และเจ้าของเพจดังกล่าวถูกจับและถูกปิดเพจไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้เพจที่เคยถูกปิดไปแล้ว รวมถึงเพจที่เข้าข่ายหลอกลวงก็ยังคงมีความเคลื่อนไหว อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มขึ้นมาอีกนั้น

วันนี้ (19 มิถุนายน 2563) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ ตัวแทนผู้เสียหายฯ ได้เข้ายื่นหนังสือกับ ร.ต.อ. ไพรัตน์ เทศพานิช โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และ ดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าของร้านดังกล่าว รวมทั้งในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับ พ.ต.ท. ปริญญา ปาละ รอง ผกก. (สอบสวน) กก.1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ด้วยเช่นกัน เพื่อขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชี รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายฯ จำนวนกว่า 389 ราย ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้า หรือ บางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน หรือ ส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ที่นอนยางพารา จากเฟซบุ๊กเพจ ได้แก่ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber และปราณปรีญาลาเท็กซ์ – Pranpreeya Latex’ และมีเพจที่ปิดไปแล้ว คือ NT cargo นำเข้าของใช้ในบ้าน ซึ่งจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือ ในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ      “มูลนิธิฯ ได้เข้ายื่นหนังสือกับ ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ

นอกจากนี้ยังเข้ายื่นหนังสือกับ บก.ปคบ. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนให้ทำการสอบสวน และดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดว่าได้ทุจริต หลอกหลวงประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อมูลจริง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และทำให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคที่ซื้อที่นอนยางพาราเป็นจำนวนมาก หากสอบสวนพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดก็ขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน” คุณนฤมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองและชดเชยเยียวยาตามสิทธิ และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมต่อไป

 

Previous articleเราไม่ทิ้งกัน! ของเสียที่ไม่ถูกทิ้ง การผลิต “Silica Plastic Block”
อิฐบล็อกจากของเสียในโรงหล่อและขยะพลาสติก
Next articleพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ทำเนียบรัฐบาล
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท