“เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยของพวกเขามากขึ้น โดยที่พวกเขาไม่ต้องออกนอกบ้าน”

– Alison Brooks –

หลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 นักออกแบบส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โครงการที่อยู่อาศัยควรจะมีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น ต้องระบายอากาศได้ดีขึ้น และระเบียงบ้านต้องปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาด บ้านที่อับหรืออากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้เกิดเชื้อโรคสะสมได้มากกว่าบ้านที่มีอากาศไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา อีกสิ่งหนึ่งที่นักออกแบบให้ความสำคัญคือการทำให้ผู้อยู่อาศัยเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ได้โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน

Alison Brooks สถาปนิกชาวอังกฤษ

“มันทำให้ผู้คนคิดเยอะขึ้นเกี่ยวกับการหาพื้นที่อำนวยความสะดวกในการรับอากาศบริสุทธิ์ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ นั่นคือระเบียง พวกเขาต้องการระเบียงเพื่อยืนรับอากาศบริสุทธิ์มากกว่าการออกไปสวนสาธารณะในช่วงที่ต้องกักตัว” Alison Brook หนึ่งในสถาปนิกที่สนับสนุนแนวคิดนี้กล่าว

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เราจึงรวบรวม 10 ไอเดียโครงการที่อยู่อาศัยที่มีระเบียงที่โดดเด่นและสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในปัจจุบันมาให้ทุกคนได้รู้จักกัน

 

Ragnitzstrasse 36, Austria, by Love Architecture and Urbanism

เริ่มต้นที่ระเบียงไม้สนที่วางดีไซน์เป็นลักษณะซิกแซกไปตามด้านนอกของบล็อกอาคารในเมืองกราซที่ประเทศออสเตรีย ถึงแม้ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาประหลาดอยู่ไม่น้อย แต่ระเบียงก็เพิ่มพื้นที่ให้ผู้อยู่อาศัยได้ถึง 17 ตารางเมตร ถือว่ากว้างขวางพอสมควร และแต่ละห้องก็มีดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความกว้างขนาดนี้ทีมออกแบบอย่าง Love Architecture and Urbanism ได้แนะนำผู้อยู่อาศัยให้นำโต๊ะทานอาหารย้ายมาไว้ด้านนอกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทานอาหาร หรือหาต้นไม้มาปลูกเพิ่มก็สามารถทำได้เต็มที่

 

White Clouds, France, by Poggi + More

ระเบียงทรงกล่องขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาจากตัวห้องในที่พักขนาด 30 ยูนิตนี้ ได้รับการออกแบบมาให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสบรรยากาศการเดินสวนหย่อม ด้วยระเบียงที่เป็นตะแกรง ทำให้ทุกอย่างแตกต่างจากระเบียงปกติอย่างมาก สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ระเบียงจะดูโปร่งโล่งสบาย ประกอบกับพื้นที่สวนรอบอาคารแห่งนี้ ทำให้ไม่ต้องออกจากตัวห้องพักเลยด้วยซ้ำ และยังจะสามารถแขวนต้นไม้หรือสิ่งของต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ จริง ๆ Poggi + More ต้องการจะทำให้พื้นเป็นตะแกรงด้วย แต่กลัวว่ามันจะโล่งเกินไปจึงหาอะไรมาปิดพื้นแทน เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยไปในคราวเดียวกัน

 

Västra Kajen, Sweden, by Tham & Videgård Arkitekter

ระเบียงนี้เป็นระเบียงที่มีคอนเซปต์ที่ว่า “เป็นทั้งที่พักพิงที่มิดชิดและโปร่งใส อากาศถ่ายเทสะดวก” Tham & Videgård Arkitekter เลือกวัสดุหลักที่ใช้ทำระเบียงเป็นอลูมิเนียม มีลักษณะเหมือนกับซุ้มประตูโบราณที่ตั้งในลักษณะที่คว่ำไว้ บ้างก็ว่าเหมือนผ้าม่านกลับหัวในโรงละคร บางคนก็บอกว่าเหมือนอวนหาปลาในทะเล ไม่ว่าจะคิดไปในทางไหน แต่ฟังก์ชันหลักของระเบียงคือการให้อากาศไหลเวียน ในขณะเดียวกันก็สามารถปิดบังสายตาจากคนที่ผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยไม่น้อยเลยทีเดียว

 

L’Arbre Blanc, France, by Sou Fujimoto

Sou Fujimoto สถาปนิกจากแดนปลาดิบ ผู้ออกแบบอาคารหลังนี้กล่าวถึงไอเดียการยืดระเบียงให้ยาวเหยียดเช่นนี้ว่า “เขาต้องการให้ผู้พักอาศัยมีห้องนั่งเล่นอีกรูปแบบหนึ่ง” แน่นอนว่าเมื่อเขาพูดมาแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ห้องนั่งเล่นห้องที่ 2 อยู่ที่ไหน มันต้องอยู่ที่ระเบียงของคอนโดนี่เอง ด้วยขนาดของระเบียงที่ยาวตั้งแต่เมตรนิด ๆ ไปจนถึงสามเมตรครึ่ง ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถพูดคุยทักทายกับเพื่อนบ้านได้แบบที่ไม่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกัน แถมยังสามารถนำโต๊ะ เก้าอี้ มานั่งจิบกาแฟยามเช้า หรือดินเนอร์มื้อค่ำก็เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบ และเมื่อดูจากระยะไกล ระเบียงเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือนใบไม้ จนมันถูกตั้งชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “The White Tree”

 

95 Peckham Road, UK, by Peter Barber Architects

อาจจะดูแปลกตาและมึนงงสักเล็กน้อยเมื่อเห็นครั้งแรก เพราะว่าระเบียงของอาคารหลังนี้มีความผสมกันอย่างไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว ระเบียงแบบแรกเป็นระเบียงแบบปกติทั่ว ๆ ไปที่สามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบได้ แต่ราวกันตกของระเบียงจะแบ่งเป็น 1 ส่วนทำจากหินอ่อนปิดทึบ ส่วนที่เหลือจะเป็นราวจับมีลักษณะโปร่ง แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าที่ลอนดอนอาคารบางแห่งก็เป็นอาคารแบบเตี้ย ด้วยเหตุนี้ทีมออกแบบจึงเลือกทำระเบียงแบบทึบ แต่เพิ่มพื้นที่ให้กับผู้อยู่อาศัยได้เยอะขึ้นมาก นอกจากจะให้ความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังทำให้อาคารดูโดดเด่นกว่าเดิม และน่าค้นหาอีกด้วย

 

Rodin 33, Mexico, by Carlos Marin

ด้วยหน้ากว้างของตัวตึกเพียง 7.8 เมตร ทำให้ผู้ออกแบบกลัวว่าผู้อยู่อาศัยจะไม่มีพื้นที่ให้ขยับตัวมากนัก จึงได้ทำการเพิ่มระเบียงทรงแปลก ๆ นั่นคือทรงสี่เหลี่ยมคางหมูเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่าเดิม และที่ส่วนกว้างสุดของระเบียงสามารถเป็นอะไรก็ได้ สุดแล้วแต่ความต้องการ ส่วนที่นักออกแบบไม่ลืมและใส่ให้ผู้พักอาศัยได้ออกไอเดียการตกแต่งคือ กระจกระเบียงที่เลื่อนเปิดได้หลากหลายมาก ทีมออกแบบกล่าวว่า “พื้นที่ส่วนท้ายและระเบียงต้องการทำให้เป็นพื้นที่เดียว แต่ในขณะเดียวกันเมื่อไม่ต้องการพื้นที่ระเบียง ก็สามารถปิดประตูได้อย่างไม่ยากเย็น”

 

Grand Parc Bordeaux, France, by Frédéric Druot Architecture, Lacaton & Vassal Architectes and Christophe Hutin Architecture

ถ้าดูจากภายนอก ตึกนี้ก็คงจะเหมือนตึกทั่ว ๆ ไป แต่หากสังเกตดีเทลอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า อาคารแห่งนี้ถูกออกแบบให้แสงธรรมชาติเข้าถึงภายใน เพราะก่อนหน้านี้ ที่พักบริเวณนี้ได้ประสบปัญหาแสงแดดเข้าถึงที่พักอาศัยไม่เพียงพอ ทำให้คนที่อยู่ในอาคารต้องใช้แสงจากไฟประดิษฐ์มากขึ้น และมันส่งผลต่อสุขภาพอีกด้วย ทีมออกแบบจึงทำระเบียงที่มีขนาดกว้างและใหญ่มาก ๆ เรียกได้ว่า สามารถทำเป็นสนามฟุตบอลที่เราเรียกว่า “โกลหนู” ได้เลย พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้อยู่อาศัยมีกิจกรรมใหม่ทำระหว่างวัน สิ่งสำคัญที่ทีมออกแบบอยากจะให้ผู้อยู่อาศัยได้ทำ คือการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพวกเขา และให้พวกเขาได้สัมผัสกับบรรยากาศของการเดินสวนแบบไม่ต้องออกจากบ้าน

 

Terrassenhaus Berlin, Germany, by Brandlhuber+ Emde, Burlon and Muck Petzet Architekten

ดีไซน์ตึกนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นส่วนตัวเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถเปลี่ยนระเบียงด้านหน้าเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ได้อย่างลงตัวมาก ๆ สำหรับการใช้เป็นพื้นที่สำหรับพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้คน ด้วยความที่เป็นอาคาร Mixed-use ชั้นล่างเป็นพื้นที่ของแกลลอรี่ ชั้นอื่น ๆ จะเป็นส่วนของที่พักอาศัย ส่วนดาดฟ้าชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนกลางอีกชั้นหนึ่ง จุดเชื่อมโยงของอาคารทั้งหมดจะอยู่ที่บันไดสองข้าง ที่สามารถเดินไปมาตั้งแต่ชั้นล่างยันชั้นบนได้เลย ทีมนักออกแบบให้นิยามกับตัวอาคารทรงแปลกตานี้ว่า “มันคือการพบกันของทุกสิ่งที่อยู่ในอาคารแห่งนี้”

 

Garden Tower, Switzerland, by Buchner Bründler Architekten

ขอยกให้อาคารนี้เป็นอาคารที่ดูหวาดเสียวที่สุดและมันก็สวยที่สุดเหมือนกัน เพราะมันมีระเบียงที่ (เหมือน) ไม่มีที่กั้น! ดูภายนอกแล้วอาคารนี้ดูจะไม่ได้มีความสมดุลอะไรเลย แต่เมื่อสังเกตดี ๆ จะพบว่าส่วนที่มันดูบิดเบี้ยวนั่นแหละคือพื้นที่ระเบียง ทีมออกแบบได้นำเอาตะแกรงมาทำการขึงส่วนที่ดูอันตรายทั้งหมด ถ้าส่วนไหนที่มีลักษณะต่ำพอจะทำเป็นราวได้ ก็ไม่ขึงตรงนั้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยไม่รู้สึกอึดอัด “เพื่อลดความรู้สึกอึดอัด เราเลยทำให้มันโล่งที่สุด การไม่มีราวกั้นระเบียงจะดีที่สุด แต่มันทำไม่ได้ (หัวเราะ)” แน่นอนว่าไม่มีใครไม่ทำราวกั้นระเบียงอยู่แล้วล่ะ การเปิดระเบียงให้มีพื้นที่และมุมมองต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบย่อมส่งผลดีต่อสภาวะจิตใจของผู้อยู่อาศัยแน่นอน

 

Independence Library and Apartments, USA, by John Ronan Architects

ตึกสุดท้ายที่เห็นอยู่เป็นอาคาร Mixed-use ที่มีประวัติยาวนานมาก ก่อนหน้าที่จะมาเป็นอาคารสีสันสวยงามนั้น ภายนอกและภายในของตึกดูเก่าไปหมด ทีมออกแบบเลยทำการรีโนเวทใหม่ทั้งหมด โดยนำสีสันเข้ามาเติมแต่ง เหมือนกระดาษขาวที่ถูกแต้มสี ที่กล่าวว่ามันเป็น Mixed-use ก็เพราะว่า ส่วนชั้นล่างนั้น เป็นพื้นที่ของห้องสมุดสาธารณะในชุมชน และยังเป็นพื้นที่สำหรับ Co-Working Space สำหรับสายฟรีแลนซ์ผู้ไม่อยากทำงานอยู่บ้าน ด้านบนที่เหลือเป็นส่วนของที่พักอาศัย แต่เป็นที่น่าเศร้าไม่น้อย เพราะระเบียงที่ทำออกมานั้น ดูเล็กและอึดอัดไปสักนิด ที่โดดเด่นคงเป็นสีสันที่สวยงาม สะกดสายตาให้หันมามองและสงสัยอย่างแน่นอนว่า เจ้าตึกนี้ มันคืออะไรกันแน่นะ ทีมออกแบบเล่าถึงคอนเซปต์ที่น่าฉงนใจว่า “มันออกแบบมาเพื่ออยู่เหนือคำว่าปฏิบัตินิยม”

 

อ้างอิงข้อมูล

10 housing projects with bold balconies where residents can enjoy fresh air

Previous articleสจล. โชว์ผลงาน “ดีไซน์ดิสรัปชัน” ลดเสี่ยงโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชน ห้องเรียน โรงพยาบาล รับคลายล็อกดาวน์เฟส 5
Next article“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” คว้างานสร้างศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะแห่งแรก ให้กับ เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ