สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างร่วมสร้างNew Normal เสนอรัฐเปิดทางชาวเหมืองแร่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยรูปแบบ “โคกหนองนาโมเดล” ใช้ศาสตร์พระราชานำอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ชี้อุปสรรคมาจากคำสั่งคสช.ปี 60ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง  แสดงทัศนะถึงการนำพาเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ว่ามี 3 ขั้นคือ ขั้นแรกต้องอยู่รอดให้ได้โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อผ่านวิกฤตไปด้วยกัน  ขั้นที่สอง ต้องฟื้นฟูความแข็งแรงทางธุรกิจ อะไรที่ติดขัดที่เป็นปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ต้องขจัดให้ลื่นไหลโดยไม่ยึดติดกับแนวคิดหรือทฤษฎีแบบเดิมๆ  ขั้นที่สาม มองหาทางออกและเติบโตในอนาคตในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ทั้งภาครัฐ เอกชน ราชการ และประชาชน ต้องคิดในแนวนี้ทั้งประเทศ จึงจะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ได้

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินแร่และวัสดุก่อสร้าง ก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ที่มุ่งเน้นการทำเหมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการจะมาทำเหมืองแร่ในช่วงเวลาไม่กี่ปี หลังจากนั้นจะคืนพื้นที่ต่อประเทศในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ต่อชุมชนและสังคม เช่นสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค   สร้างแหล่งท่องเที่ยว  สร้างป่า ตามแต่เจ้าของพื้นที่อยากให้เป็นอะไรแล้วใช้ประโยชน์ต่อไปในระยะยาว

        “ปัจจุบันมีตัวอย่างการทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรมเรียกว่าโคกหนองนาโมเดล เป็นแหล่งหนองน้ำเพื่อการเกษตรโดยรอบพื้นที่ เชื่อมโยงเป็นระบบชลประทาน เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นแหล่งสำรองน้ำหรือธนาคารน้ำไว้สู้กับภัยแล้ง และเป็นแก้มลิงยามน้ำท่วม กล่าวได้ว่าดำเนินการตามศาสตร์พระราชาที่มีคุณค่ายิ่งนัก” ดร.วิจักษ์กล่าว

 นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างกล่าวด้วยว่า ทางสมาคมได้นำเสนอและประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงอุตสาหกรรม  และสำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หาแนวทางสร้างดุลยภาพระหว่างผู้ประกอบการทำเหมืองแร่กับเกษตรกรในพื้นที่ จนมีทางออกให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยการออกแบบการทำเหมืองแบบโคกหนองนาโมเดลที่ภาครัฐและราชการยอมรับ แต่ยังติดขัดเรื่องการตีความทางกฎหมายในการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงที่รองรับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ออกมาในปี 2560

ด้าน ดร.สมหวัง วิทยาปัญญานนท์ เลขาธิการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาในปัจจุบันคือ กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกรองรับคำสั่งคสช.ที่ 31/2560 ให้กิจการอื่นมีเท่าที่ผ่านการอนุญาตและดำเนินการอยู่เท่านั้น ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการที่ยังเป็นโครงการอยู่ไม่ได้รับการพิจารณายินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ต้องสะดุดหยุดลง

เมื่อพิจารณาตามคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 นั้นออกกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ปี 2557 นั้นออกคำสั่งให้ทำ 2 เรื่องหลักๆ คือ ให้ออกกฎกระทรวงรองรับภายใน 90 วัน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และให้ปรับปรุงพ.ร.บ.ปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่สูงสุด และประโยชน์โดยรวมประเทศชาติ ปัจจุบันยังเป็นโครงการอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จ 3-5 ปี ซึ่งคิดว่าภารกิจออกกฎกระทรวงรองรับคำสั่งคสช.ที่ 31/2560 นั้นจบแล้ว ถ้าจะมีการปรับปรุงกฎกระทรวง ต้องใช้กฎหมายตามปกติในปัจจุบันได้

Previous article“Fuzhou forest walkway” ทางเดินเหล็กที่พาดผ่าน
พื้นที่สีเขียว ทางเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
Next articleไอแทป-สวทช. เครือข่าย มทส. หนุน โคราชแสงสุวรรณ
ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผา ยกระดับสินค้าด้วยนวัตกรรม
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท