กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดเวทีนำเสนอผลงาน AI Innovation Jumpstart Batch2 BKK : Demo Day ภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARI Skill Development Project)” จำนวน 20 ผลงาน ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลงานที่พร้อมจะพัฒนาสินค้าและบริการ และนำเสนอต่อนักลงทุนแล้ว รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ ARIPOLIS หรือเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในเขตพื้นที่ EECi ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไป พร้อมกันนี้ ทุกทีมยังได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ทีมละ 100,000 บาท โดยมี 3 ผลงานเข้าตาคว้า Popular Vote รางวัลละ 5,000 บาทดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. กล่าวว่า งานส่งเสริมเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ หรือ Automation Robotics and Intelligent System: ARI Skill Development Project เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรขั้นสูงอันเป็นความต้องการของประเทศ คือ โครงการ ARI Academy มุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดนวัตกร แก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้ และโครงการ AI Innovation JumpStart เพื่อฝึกทักษะให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ARI ต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ และต่อยอดใช้ได้จริงในอนาคต อันเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันตามนโยบายของประเทศ โดยการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้มีการจัด Boot Camp เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ Design Thinking และ Lean Canvas Business Model ให้แก่นักพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมกับนำต้นแบบดังกล่าวไปให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน และได้คัดเลือกทีมที่มีความพร้อม ความสามารถในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คงเหลือ 20 ทีม เพื่อรับทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นผลงานที่พร้อมแล้วจะนำเสนอสู่สาธารณชน พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ และพร้อมที่จะนำเสนอต่อนักลงทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไปคุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งาน Demo Day ครั้งนี้ เป็นวันสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มเติมในเรื่อง soft skills ได้แก่ ทักษะการทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การเจรจาต่อรอง การบริหารเวลา และการบริหารงบประมาณ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้กับทุกเรื่องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันผลงาน ARI ที่ได้พัฒนาต้นแบบขึ้นให้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป ซึ่ง สวทช. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านกลไกบริการภาคเอกชนต่าง ๆ ที่มีรวมถึงกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย โครงการนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในสาขาด้าน ARI ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นการรองรับเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ ARIPOLIS ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วยส่วนหนึ่ง

ด้านหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับทุนต้นแบบและคว้ารางวัล Popular Vote จากผลงานเรื่อง AI Blood Pressure Monitor: ส่งค่าความดัน เบาหวานจากบ้าน ผ่านมือถือ ถึงมือแพทย์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข นายแพทย์นุสิทธิ์ ชัยประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัฒนานิคม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า BP & Glucose Monitor เป็นแอปพลิเคชัน ที่สามารถอ่านค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดจากเครื่องวัดความดันโลหิตและเครื่องวัดน้ำตาลทั่วไป แล้วแปรผลค่าให้คำแนะนำ แจ้งเตือนความผิดปกติไปยังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่สังกัดโดยอัตโนมัติในทันที โดยแอปนี้จะสามารถอ่านค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดจากเครื่องวัดฯ พร้อมส่งค่าตัวเลขไปยังฐานข้อมูลโรงพยาบาล แปลผลความผิดปกติ และให้คำแนะนำเบื้องต้น พร้อมสามารถตรวจสอบรายงานย้อนหลังค่าความดันโลหิตและค่าน้ำตาล แสดงผลเป็นกราฟ ซึ่งใช้งานง่าย เพียงใช้โทรศัพท์ส่องที่หน้าจอเครื่องวัดฯ กับเครื่องวัดยี่ห้อใดก็ได้ที่ได้รับมาตรฐานในท้องตลาด ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สภาวะสุขภาพของคนไข้ สามารถให้การช่วยเหลือได้เหมาะสมทันท่วงทีแม้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล และเมื่อคนไข้มารับบริการที่โรงพยาบาลจะได้รับบริการอย่างรวดเร็ว พร้อมลดความผิดพลาดจากการคีย์ค่าความดัน ค่าน้ำตาลในเลือดเข้าไปในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล รวมถึงลดปัญหาความดันโลหิตสูงขณะวัดที่โรงพยาบาล และที่สำคัญเหมาะกับยุค New Normal ที่ลดความแอดอัดของโรงพยาบาล ทำให้แพทย์มีเวลาดูแลคนไข้หนักมากขึ้น

ทั้งนี้ 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1: การแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ 1) AI Blood Pressure Monitor: ส่งค่าความดัน เบาหวานจากบ้าน ผ่านมือถือ ถึงมือแพทย์ 2) Adasoft: ระบบนับ-มัดแพ็คยาอัตโมัติ Smart Pre-Pack Medical 3) Arcadia: ผู้ช่วยตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ก่อนและหลังการผ่าตัด กลุ่มที่ 2: ARI สำหรับการอนุรักษ์พลังงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 4) AI Trash: Auto Trash ยิ่งทิ้ง ยิ่งฉลาด 5) AltoTech: ช่วยธุรกิจโรงแรมลดการใช้พลังงานลง 30% ด้วย AI และ IoT 6) FireFire: หัวดับเพลิงอัจฉริยะ กลุ่มที่ 3: ARI สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ 7) IMERsInnovation: ระบบจัดการฟาร์มและหุ่นยนต์บริการในไร่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 8) vdev (วิเดฟ): คาดการณ์การผลิตพืชปลอดภัย

กลุ่มที่ 4: ARI สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ได้แก่ 9) SME IOT: Intelligence Industrial Business Platform 10) QC Robot: ระบบส่งมอบสินค้าอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ 11) ThaiHand AI: เซนเซอร์เเละปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจสอบความเสียหายเครื่องจักร 12) iCube: Plant information management system as a service กลุ่มที่ 5: ARI สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ 13) Mulberrysoft: Fast and reliable solution for container survey job 14) OZT Robotics: PosText One pic, All info 15) AI Route: Best route best logistics for the environment และ กลุ่มที่ 6: ARI สำหรับสินค้าและบริการเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ 16) Senses: IoT Service Robotic 17) Robot of Things: The right laundry service you need 18) DRX: Buy online pet insurance with the best fair price 19) MetaSmart56: ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีของตลาดทุนต่างประเทศ และ 20) WONGREE GROUP: AUTOMATION ADMIN DOCUMENT PROCESS FOR CORPORATE

โดยมี 3 ผลงานที่คว้ารางวัล Popular Vote พร้อมรับเงินรางวัลละ 5,000 บาท ได้แก่ ผลงาน OZT Robotics ผลงาน AI Blood Pressure Monitor และผลงาน SME IOT

 

Previous articleก่อสร้างโรงงานได้รวดเร็วทันใจ ด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูปจาก ไอยราวาณิชย์
ในงาน ACT FORUM ’20 DESIGN + BUILT
Next articleUTA แถลงความคืบหน้าสร้างสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 1
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท