เมื่อวันที่ 1 ตุ.ค.63 ที่ผ่านมา ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับ นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรขนส่ง กรุงเทพมหานคร และนายขวัญชัย เจริญเมธากุล หัวหน้าฝ่ายโยธา เขตจตุจักร ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ทางวิศวกรรมบริเวณโค้งที่เกิดอุบัติเหตุ (โค้งศาลอาญา) ถนนรัชดาภิเษกโดยตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน เกิดอุบัติเหตุบนถนนบริเวณนี้ เกือบ 300 ครั้ง และเมื่อวันที่ 30 กันยายน เวลา 21.30 น. ได้ลงพื้นที่ และประชุมร่วมกับสำนักการโยธา และสำนักการจราจรและขนส่ง ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน และตำรวจท้องที่

สำหรับถนนรัชดาภิเษก เป็นถนน 8 เลน (ฝั่งขาเข้าเมือง 4 เลน และฝั่งขาออก 4 เลน) โดยในช่วงโค้งถนนถัดจากอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ผ่านซอยรัชดา 36 ถึงซอยรัชดา 32 มีรัศมีโค้งกว้างรวมความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร ลักษณะของอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บสาหัสมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน หรือในช่วงเวลาที่ทัศนวิสัยไม่อำนวย เช่น ขณะฝนตก ในยามดึกซึ่งถนนโล่งทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้

สภาพปัญหาที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณทางโค้งรัชดาเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.ลักษณะทางโค้งรัชดาแบบโค้งหลังหัก (Broken Back Curve) คือโค้งที่มีสองรัศมีซึ่งเชื่อมด้วยเส้นตรงสั้น โดยธรรมชาติ ผู้ขับขี่เมื่อเข้าโค้งก็ไม่คิดว่าจะต้องปรับพวงมาลัย ทำให้ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่จะควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร หรือหากขับมาด้วยความเร็วสูงกว่า 80 กม.ต่อ ชม.(หรือต่ำกว่ากรณีที่ฝนตก) มักจะไม่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในแนวช่องจราจรได้ หรือควบคุมรถไม่ได้เลย ข้อเสนอแนะควรแก้ไขทางโค้งหลังหัก ให้เป็นทางโค้งเดียวกันโดยวิศวกรออกแบบที่เชี่ยวชาญ เพิ่มการนำทางโค้ง โดยการติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนผิวทางแบบสะท้อนแสงที่แนวด้านนอกขอบโค้ง และติดตั้งป้ายบังคับความเร็วที่ปลอดภัยในการขับขี่ ให้ประชาชนผู้ใช้รถสามารถเห็นได้ชัดเจน บนผิวถนน และป้ายบังคับความเร็วอิเล็กทรอนิกส์แบบแขวนสูง

2.ไม่มีการยกโค้ง (Super elevation) ทำให้รถที่วิ่งเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วบังคับ จนไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้ ข้อเสนอแนะ เพิ่มแรงด้านข้างบนล้อรถ Sideway Force โดยการยกโค้งด้านนอกให้สูง เพื่อให้บังคับล้อรถให้วิ่งเข้าโค้งได้อย่างปลอดภัย หรือวิธีอื่น เช่น ปูผิวด้วยหินเล็ก (Chip seal) เพื่อลดความเสี่ยงการเสียหลักหลุดโค้งออกไป3.มีทางแยกเข้า-ออกซอย บริเวณทางโค้ง (ซอยรัชดา 36 เสือใหญ่อุทิศ) ซึ่งประชาชนผู้ขับขี่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และทางซอยนี้มีปริมาณรถเข้าออกจำนวนมาก ข้อเสนอแนะ ให้มีการพิจารณาปรับปรุงช่องจราจรและเครื่องหมายจราจรบริเวณก่อนทางเข้า-ออกซอย เพื่อช่วยให้รถที่วิ่งมาสามารถสังเกตเห็นทางเชื่อมในบริเวณทางโค้งได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หรือจัดช่องจราจรช่องซ้ายสุดให้เป็นช่องเลี้ยวซ้ายเข้าซอยรัชดา 36 เสือใหญ่อุทิศ

4.ราวเหล็กที่ขอบทางเท้า ราวกันอันตรายอยู่ใกล้กับสิ่งกีดขวางเกินไป เช่น เสาไฟฟ้า ทำให้มันไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก เมื่อเกิดการชนและราวกันอันตรายจะโก่งตัวออก แต่ระยะที่ราวโก่งตัวที่ต้องการ จะมากกว่าระยะห่างระหว่าง ราวกับเสาไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้รถที่เสียหลักไม่ได้รับการป้องกันจากราวกันอันตรายแต่จะกลับเป็นชนเสาไฟฟ้าแทน

ข้อเสนอแนะ แก้ไขปัญหาระยะห่างระหว่างราวกันอันตรายและเสาไฟฟ้าให้ปลอดภัย เช่น ย้ายเสาไฟฟ้าให้พ้นจากระยะโก่งตัวของราวกันอันตราย เพื่อให้ราวกันอันตรายสามารถโก่งงอได้ตามมาตรฐานโดยมีระยะห่างอย่างน้อย 0.5 – 1.0 เมตร หรือใช้คอนกรีตแบริเออร์ที่ครอบด้วยยางพารา Rubber Fender เพื่อลดแรงกระแทก

5.ฟังก์ชั่นของถนนในเขตเมือง กฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่างจากดีไซน์การออกแบบถนนไฮเวย์ที่สามารถรองรับความได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อเสนอแนะ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้ระมัดระวังควบคุมความเร็วของรถให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ผลักดันแนวคิด “Thailand Towards Zero Deaths แนวทางลดการตายและผู้บาดเจ็บสาหัสบนถนนให้เป็นศูนย์” ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาอัตราการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยวิถีแห่งระบบที่ความปลอดภัย The Safe System Approach ที่องค์การสหประชาชาติแนะนำให้ทุกประเทศนำไปใช้ในการลดการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย “Thailand Towards Zero Deaths and Serious Injuries”

ทั้งนี้ วสท. และกรุงเทพมหานคร จะร่วมกันขับเคลื่อนแผนดำเนินงานให้ออกมาเป็นรูปธรรมและบูรณาการ โดยกรุงเทพมหานครรับในหลักการและจะทำเป็นแผนเร่งด่วนที่ทำได้เร็ว (Quick Win) และแผนระยะยาว ที่ต้องใช้เวลาและเสนองบประมาณ

 

Previous articleก.คมนาคม เยือน จ.อุทัยธานี เปิดโครงการนำน้ำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน
Next article“แสงทองผ้าใบ กันสาด” กับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยึดเอา
“ความต้องการของลูกค้า” เป็นหลัก
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท