บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด และ บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาโครงการระบบตัวรถไฟฟ้าขนาดรอง (Feeder Line) เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยระบบรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเน้นเรื่องของการศึกษาและพัฒนาระบบต่างๆ ให้เกิดการนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง พร้อมผลักดัน Thai Team นำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมระบบรางและขนส่งมวลชนของประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย ตามนโยบาย Thai First ให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังคุณมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่าบริษัทเอเอ็มอาร์เอเซียเป็นบริษัทวิศวกรรมของคนไทยดำเนินกิจการมากว่า 20 ปี เรามีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ มาออกแบบและจัดทำนวัตกรรมใหม่ เพื่อใช้พัฒนาศักยภาพของเมืองและทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ ในด้านคมนาคมสาธารณะ (Public Transportation) ด้านความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม (Wellness and Green Environment) จึงเกิดความร่วมมือกับบริษัทโชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านผลิตตัวถังรถ ตัวถังเรือ จากอลูมิเนียมมากว่า 15 ปี เพื่อให้เกิดการร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในการสร้างระบบและรถสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการระบบตัวรถไฟฟ้าขนาดรอง (Feeder Line) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยระบบรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

“เราจะเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจังเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงการหารือในเชิงวิชาการ แนวทางดำเนินการกับกลุ่มโชคนำชัย และ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับค่อน) ที่เป็นการรวมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ หลังจากนี้ก็จะเริ่มเห็นความคืบหน้าด้านการผลิตเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะความร่วมมือ 1-2 รายนี้เท่านั้นยังมีผู้ประกอบอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาร่วมมือผลักดันอีกหลายราย โดยบางรายอาจเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนการผลิตกระจก เบาะ ราวจับ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ตามคุณลักษณะเฉพาะ มีคุณภาพใช้งานที่ตรงตามการใช้งาน เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างตรงตามความต้องการได้ล่วงหน้า” คุณมารุตกล่าว

คุณนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โครงการรถไฟฟ้าขนาดรองเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ความร่วมมือของนักอุตสาหกรรมไทย เราเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความพร้อมทางด้าน Technology ชั้นสูง ตั้งแต่วิศวกรรมการออกแบบ, ผลิต จนถึงการประกอบแบบจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเทียบเท่าการผลิตสากลหมายถึงความสามารถในการทำต้นทุนให้สู้กับตลาดได้ พร้อมกับพันธมิตร Supply chain ไทย ที่มีความเข้าใจเรื่องการผลิตตามมาตรฐานสากลเป็นอย่างดี เราเชื่อว่าการร่วมมือกันในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการผลิตรถไฟฟ้าที่ผลิตออกจากกลุ่มคนไทยทั้งคัน และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบรางสำหรับอนาคตต่อไปคุณมารุต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Thai Team เพิ่มเติมว่า ย้อนหลังไปประมาณ 10 กว่าปี เอเอ็มอาร์เอเซียเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่ได้รับงานออกแบบติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกว่า Turnkey Project คืองานส่วนต่อขยายสายสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรีจากสถานีตากสินไปวงเวียนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และได้ทำงานส่วนต่อขยายสายสีเขียวอย่างต่อเนื่องอีก 30 กว่าสถานี และศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าอีกสองแห่ง ซึ่งจะให้บริการถึงคูคตในเดือนธันวาคมปีนี้ นอกจากสายสีเขียวที่เป็นระบบรถไฟฟ้าสายหลักแล้วเรายังได้รับความไว้วางใจให้ทำโครงการระบบขนส่งมวลชนสายรอง (Feeder system) โครงการแรกของประเทศไทย คือรถไฟฟ้าสายสีทอง (ช่วงธนบุรี-คลองสาน) ที่เราเป็นผู้ออกแบบและติดตั้ง และบริหารงานทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จซึ่งจะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน

ล่าสุดที่บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เป็นผู้รับเหมาหลักทั้งระบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ทำให้บริษัทได้รับโอกาสที่จะคัดเลือกวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่ผลิตในประเทศ ที่เราเรียกกันว่า Local Contents นำมาใช้งานในโครงการได้มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ซื้อคือกรุงเทพธนาคมและ BTS นอกจากประสบการณ์ในฐานะผู้ออกแบบติดตั้งระบบรถไฟฟ้าทั้งสายหลักและสายรองในประเทศไทยแล้ว เรายังได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับการเดินรถไฟฟ้า เช่น ระบบหยุดรถฉุกเฉิน ระบบจอแสดงตำแหน่งรถไฟฟ้าและรถ BRT ระบบตรวจสอบการทำงานกล้องในรถไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ ได้พัฒนาและสร้างเพื่อจำหน่ายตามมาตรฐานสากล พร้อมกับได้นำไปจัดแสดงในงาน InnoTrans ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

คุณมารุต ยังกล่าวย้ำอีกว่า คนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาและจัดทำอุปกรณ์และระบบเสริมการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่การออกแบบ ผลิต ติดตั้งพร้อมทดสอบ บริการซ่อมบำรุง ประกอบกับรัฐบาลได้มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนให้มีการใช้สินค้าในประเทศภายในแนวนโยบาย “Thai First” เราจึงได้นำความคิดนี้ไปหารือกับกลุ่มนักอุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศ เช่น บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ยางโอตานิ จำกัด, บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งได้มีแนวคิดตรงกันที่จะรวมกลุ่มกันขึ้นภายใต้ “Thai Team” ซึ่งเชื่อว่าการผนึกกำลังกันนี้จะทำให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นภาครัฐ หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เชื่อมั่นและมาร่วมส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงบนระบบและของที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล

“จากการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ถือเป็นการเริ่มต้นของโครงการ Thai Team ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมระบบรางและขนส่งมวลชนของประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย ตามนโยบาย Thai First ให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และเชื่อว่าพวกเราพร้อมจะเดินหน้าตามแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สำเร็จลุล่วงต่อไป”

Previous articleBrighter Day: ส่องแนวคิดการออกแบบ “บ้านแสงจันท์” แสงสว่างในวันที่มืดมิด
ของผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ยากไร้
Next article“สุริยะ”ลงพื้นที่มาบตาพุด ตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้างคลังน้ำมันแห่งใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายขนส่งน้ำมันในภูมิภาค!
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท