เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน AAhoa เป็นผู้ออกแบบด้านการออกแบบ งานสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโครงสร้าง งานระบบประกอบอาคาร (Detail Design) โครงการระยะที่ 1

โดยผู้ออกแบบอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าผู้ออกแบบจะนำเสนอ Detail Design ฉบับสมบูรณ์ให้ กทท. ได้พิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้ และ กทท. จะเร่งดำเนินการในขั้นตอนการประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) รายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา การขอจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างได้ภายในปี 2565

ซึ่งโครงการมีมูลค่าการก่อสร้างประเมินราคาเบื้องต้นของระยะที่ 1 ประมาณ 2,351 ล้านบาท สำหรับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างจัดหาผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ต้องปรับรูปแบบอาคารให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โดยมีรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัยจำนวน 12 อาคาร อาคารละ 25 ชั้น มีห้องพักอาศัย 504 ยูนิตต่ออาคาร พร้อมอาคารที่จอดรถสำหรับผู้พักอาศัยจำนวน 4 อาคาร อาคารสำนักงาน 10 ชั้น จำนวน 3 อาคาร พร้อมอาคารที่จอดรถสำนักงาน 1 อาคาร อาคารตลาด 3 ชั้น 1 อาคาร พร้อมที่จอดรถใต้อาคาร

มีพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 58 ไร่ สำหรับการปรับรูปแบบโครงการ เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของชาวชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) โดยมีจำนวนห้องพักอาศัยประมาณ 6,048 ยูนิต พร้อมอาคารส่วนกลาง อาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานบริการสาธารณสุข องค์กร มูลนิธิ อาคาร-ที่จอดรถ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ตลาด และพื้นที่สีเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวชุมชนในโครงการ

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ได้ในปี 2566 และเสร็จในปี 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จครบทั้ง 4 ระยะ ในปี 2578 โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 9,856 ล้านบาท

กทท. คาดหวังให้โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เป็นทางเลือกเพื่อการอยู่อาศัยของชาวชุมชนโดยรอบ ทกท. ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นชุมชนที่ทันสมัย มีความ-พร้อมในการดำรงชีวิตในชุมชนเมือง

Previous articleเที่ยว (ทิพย์) รอบโลกไปกับ 7 เมืองหลวง
แห่งการออกแบบ ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
Next articleทำความรู้จัก “วัสดุปิดผิว” จากฟอร์ไมก้า คุณสมบัติล้ำสำหรับโลกยุคใหม่
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ