White of the Life design…

ตามลักษณะภูมิศาสตร์ของราชธานีเก่าแห่งสยาม “อยุธยา” หรือ “อโยธยา” ได้ตั้งรกรากอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยแม่น้ำหลายสายโอบล้อมใจกลางเมืองคล้ายเกาะแก่ง ในอดีตพื้นที่ละแวกนี้ ต่างเป็นทำเลทองทางเศรษฐกิจที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนจากนานาอารยะชน สถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญจำนวนมากจึงถูกก่อร่างสร้างตัวตามบริเวณริมน้ำ เพื่อตอบสนองต่อปฏิสัมพันธ์เชิงท่องเที่ยวและการค้าที่มีมานับจากอดีต

ปัจจุบันการส่งต่อเสน่ห์ลักษณะการอยู่อาศัยจากรุ่นสู่รุ่น ก็ยังคงไม่จางหายไป บ้านเรือน, ร้านค้า รวมถึงโบราณสถาน ต่างยังคงรักษาสภาพเดิมไม่แปรเปลี่ยนไปมากนัก อีกทั้งด้วยจุดยืนการเป็นเมืองมรดกการท่องเที่ยวชั้นนำ การรองรับด้านที่พักอาศัย จึงได้ถูกยกให้ความสำคัญมากกว่าอดีต ผู้ประกอบการหลากหลายสถานที่ เริ่มมีการขยับปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มักจะมีพฤติกรรมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

“โฮสเทล” ได้เข้ามามีบทบาทต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ห้องพักเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนยามค่ำคืนเท่านั้น พอรุ่งเช้าก็จะออกตระเวนไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และด้วยการทำรีเสิร์ชพร้อมตีโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด จึงทำให้ Busaba Ayutthaya ได้กลายเป็นโฮสเทลแห่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมสูงที่อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมาที่อยุธยาแล้ว จะต้องลองแวะเวียนมาเยี่ยมชมหรือลองมาพักดูสักครั้งอย่างพลาดไม่ได้

Busaba Ayutthaya เปิดตัวขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2561 บริหารและจัดการโดยคุณพรเทพ แซ่ลี้ (คุณมิ้งค์) สร้างสรรค์และออกแบบโดยทีมสถาปนิก TIDTANG STUDIO เป็นการชุบชีวิตบ้านเรือนไทยเก่าหลังเดิมอายุ 50 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “Thai Conceptual Design” โดยคุณมิ้งค์ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสร้าง Busaba Ayutthaya ไว้ว่า “ย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของ Busaba เริ่มจากการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์โปรดักส์ โดยสินค้าหลักของเราเป็นสินค้าเชิงดีไซน์จากผ้าขาวม้าประยุกต์ Busaba เคยมีหน้าร้านและสาขาตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดน้ำอโยธยาหรือตรงหน้าวัดมหาธาตุ จากนั้นพอทำไปสักพักประมาณ 5 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ ดู ผมเลยเพิ่มช่องทางธุรกิจ Café ขึ้น ซึ่งไม่นานก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีมาก (จากเมนูเครื่องดื่มที่มีการนำสายไหมขนมประจำท้องถิ่นมาเล่น) และประจวบเหมาะกับขณะนั้นได้ย้ายออฟฟิศกลับมาที่อยุธยาพอดี จึงได้ลองมองหาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เพิ่ม เพื่อเป็นการสร้างบาลานซ์ชีวิตระหว่างกรุงเทพและอยุธยา จนออกมาเป็น Busaba Ayutthaya ดังที่รู้จักกัน”

“ด้วยความที่บ้านผมอยู่ติดริมน้ำและมีความชื่นชอบบ้านเรือนไทยเป็นทุนเดิม จึงได้มองหาพื้นที่สักแห่ง เพื่อทำธุรกิจต่อยอดในอยุธยา ซึ่งก็โชคดีที่ได้พื้นที่บริเวณนี้ที่มีบ้านทรงไทยเก่าตั้งอยู่ ผมจึงได้ติดต่อไปยังทีมสถาปนิก TIDTANG STUDIO โดยให้โจทย์ว่าอยากให้เรือนไทยแห่งนี้ ออกมาในรูปแบบของโฮสเทลในสไตล์ร่วมสมัย ที่ดูสวย แปลก และไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน”

 

SPACE DESIGN & FUNCTIONAL

การแบ่งสัดส่วนพื้นที่กว่า 1,200 ตารางเมตร ลักษณะยาวคล้าย 4 เหลี่ยมผืนผ้า ของ Busaba Ayutthaya ได้ถูกแยกย่อยออกเป็น 2 ฟังก์ชันการใช้งานหลัก ดังนี้ Busaba Craft Design Café และ Busaba Ayutthaya (Hostel)

Busaba Craft Design Café

Café ยอดนิยมของชาวอยุธยาและนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ถอดแบบมาจาก Busaba Café & Craft Design ดั้งเดิมบริเวณวัดมหาธาตุ บรรยากาศภายในตกแต่งไปด้วยลูกเล่นของเส้นสายสไตล์ Modern Craft ด้วยวิธีการประยุกต์ลดทอนลายตารางผ้าขาวม้าให้เหลือแค่เส้นกริด จากนั้นนำมาผสมผสานเข้ากับงานตกแต่งตามพื้น, ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากเรื่องการตกแต่งแล้วอาหารและเครื่องดื่มก็เป็นหนึ่งสิ่งที่มีชื่อเสียงเคียงคู่กัน อาทิ สปาเกตตี้ผัดไทย ที่จะใช้สายไหมแทนน้ำตาลทรายในการปรุง และบุษบาลาเต้เย็น กาแฟนมอันขึ้นชื่อของร้าน โดยมีสายไหมเป็นวิปปิ้ง และใช้น้ำตาลมะพร้าวแทนไซรัปในการชงเพื่อความหอมหวานแบบธรรมชาติ

 

Busaba Ayutthaya

คาแร็กเตอร์หลักของโฮสเทลแห่งนี้ คือสร้างบรรยากาศการนอนที่ให้อารมณ์แบบบ้านเรือนไทยในอดีต ซึ่งนั่นคือการแยกระหว่างเรือนนอนและห้องน้ำออกจากกัน เราพยายามตีความให้ออกมาในรูปแบบ “การนำภาษาสมัยเก่า มาเล่าในภาษาสมัยใหม่” ดังนั้นการดีไซน์พื้นที่และรูปแบบการตกแต่งภายใน ต้องสามารถสื่อสารออกมาอย่างเข้าใจง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน

คุณมิ้งค์ได้กล่าวเสริมอีกว่า “ผมคิดว่ารูปแบบของ Busaba Ayutthaya ไม่ใช่การสร้างใหม่ หากแต่เป็นการต่อเติมเสียมากกว่า ผมพยายามที่จะรักษาสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด เนื่องจากโครงสร้างเดิมของตัวบ้านมีความแข็งแรงมาก ไม้ที่ใช้ขึ้นโครงหลักเป็นไม้คุณภาพดี มีปลวกน้อย แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน นอกจากนี้ทาง Interior ยังได้เสนอให้เลือกใช้สีขาวในการตกแต่งผนัง เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่มีค่าของความเป็นกลาง ทำให้ผู้ที่พบเห็นสามารถจินตนาการได้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบ้านเรือนไทยสมัยเก่าๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง ดูช้ำเลือดช้ำหนอง สร้างความรู้สึกน่ากลัว ให้กลายเป็นบ้านที่น่าอยู่อาศัยได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้ใช้สีขาวแต่งเติมทั้งหมด หากแต่ตัวเรือนไทยชั้นบนจริงๆ จะเป็นการใช้สีเทาสว่าง ทั้งนี้ก็เมื่ออยู่คู่กับ Facade ลายปะกนด้านนอก จะทำให้เกิดมิติมุมมองยามแสงอาทิตย์ตกกระทบถึง ซึ่งช่วยให้ภาพลักษณ์ตัวเรือนดูโดดเด่นสวยงามมากขึ้นอีกระดับ”

โครงสร้างของระแนงที่นี่ (Facade) ยังเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดไม่แพ้กัน เราทำโครงสร้างระแนงจากเหล็กอะลูมิเนียมครอบกับบ้านเรือนไทยด้วยลวดลายปะกน พร้อมลงเสาเข็มรอบด้านของบ้าน (การลงเสาเข็มรอบบ้านแบบนี้ทำให้ใช้งบประมาณสูงมาก) เพื่อสร้างความแข็งแรงและต้องสามารถป้องกันการสั่นสะเทือนและการสวิงของน้ำหนัก Facade ด้านบน

สัดส่วนภายในเรือนไทย แบ่งห้องพักสำหรับอยู่อาศัยออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างสุด ทำหน้าที่เป็นโถงล็อบบี้เพื่อติดต่อสำหรับเข้าพัก และยังมีมุมบริการส่วนกลางสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ บอร์ดเกม, เครื่อง Nintendo Switch, และ Desktop PC ที่ชั้น 2 เชื่อมต่อด้วยบันไดไม้ขึ้นสู่ชานบ้านส่วนกลาง เมื่อขึ้นไปถึงจะมีพื้นที่โถงกว้างพร้อมที่นั่ง โดยแบ่งตำแหน่งหลักๆ ออกเป็น 3 มุม มีทั้ง Private Room, ห้องน้ำแยก และห้องนอนรวม (สำหรับห้องนอนรวมจะมีบริการแยกหญิงชายไว้เช่นกัน) ส่วนพื้นที่บริเวณหลังเรือนไทย จะมีเรือเล็กผ่านสัญจรไปมาตลอดวัน บรรยากาศโดยรอบตกแต่งคล้ายสวน ปูหญ้าสีเขียวตามทางเดิน ประดับประดาไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมสร้างลูกเล่นศาลาริมน้ำ (Pavilion) ไว้สำหรับนั่งชมวิวทิวทัศน์ยามเย็น

ในด้านอัตราการรองรับที่ Busaba Ayutthaya สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าได้สูงสุดเฉลี่ย 50 คน โดยมีการกั้นห้องและจัดแบ่งโซนขึ้นมาใหม่ เรามีการประเมินกลุ่มลูกค้าหลักของเราในเบื้องต้นเป็น 70:30 โดยแบ่งเป็น (คนไทย 30 และชาวต่างชาติ 70) แต่พอเปิดบริการจริงกลับกลายเป็นคนไทยจำนวนมากกว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าใช้บริการแทน ทั้งนี้ก็อาจจะด้วยกระแสของละครบุพเพสันนิวาสที่ช่วยผลักดันความต้องการมาท่องเที่ยวอยุธยาในส่วนนี้

สุดท้าย… ด้วยความที่เราเป็นโฮสเทลที่พึ่งเปิดตัวและกำลังเป็นกระแสการกล่าวถึงในสังคม เราก็เลยอยากที่จะลองนำเสนอมุมมองอันแปลกใหม่ เพื่อลองปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์บ้านเรือนไทยเดิมๆ ให้ดูมีความทันสมัย โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้เช่นเดียวกัน และหากท่านใดที่สนใจ อยากลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม หรือการนอน โดยมีรูปแบบความเป็นไทยในลักษณะที่ทันสมัยมากขึ้น ผมเชื่อว่า Busaba Ayutthaya แห่งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของท่านได้อย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูล

Busaba Ayutthaya 11/6 ซ.ชีกุน ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

โทรศัพท์ 06-1396-8899

 

 

 

Previous articlePATOM ORGANIC LIVING ร่มรื่น รื่นรมย์ ณ ใจกลางกรุง – ทองหล่อ 23
Next articleออลล์ อินสไปร์ เปิดตัวโครงการไรส์ พหล – อินทามระ คอนโด High-Rise สถาปัตยกรรมทันสมัย ในราคาที่ใครก็จับจองได้