การเข้าใจในแก่นแท้ของธรรมชาติและการดำรงอยู่ของปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเข้าถึงความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคม ผสานกับแนวคิดของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งให้อยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูลหรือได้ประโยชน์ร่วมกันแล้วนั้น ก่อให้เกิดเป็นแนวทางในการบริหารงานเชิงบูรณาการที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ด้วยวิสัยทัศน์ของอาจารย์นักวิชาการคนหนึ่งไปสู่ผู้บริหารงานสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นกับการผลักดันสถานศึกษาให้ก้าวสู่ถานที่แห่งความสงบสุขอย่างยั่งยืนร่วมกัน

แนวคิดหนึ่งที่เสมือนเป็นแกนหลักในฐานะนักบริหารของ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ทั้งการเป็นคณบดีคณะวนศาสตร์ และรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือแนวคิดเชิงบูรณาการที่ทำให้เข้าใจแก่นแท้ของธรรมชาติและระบบนิเวศ ‘นิเวศ’ โดยนัยยะของทุกสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมและเอื้อประโยชน์ต่อกัน นั่นเป็นเหตุผลทำให้นักบริหารท่านนี้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมแห่งนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนองค์กรที่ชื่อ ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’สู่ความยั่งยืนร่วมกัน

1PHOT9674“ผมเป็นคณบดีคณะวนศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ดูแลการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาการป่าไม้ โดยเป็นสถาบันแห่งเดียวในประเทศที่มีการจัดการเรยนการสอนที่เน้นฝึกนิสิตให้มีความรักในธรรมชาติ รู้จักที่จะอยู่กับป่า รวมถึงมีความรู้เรื่องป่าไม้ เพราะป่าไม้ไม่ได้หมายถึงแค่ป่า แต่หมายถึงป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในป่า สัตว์ป่า จนถึงจุลินทรีย์ในป่าด้วยเช่นกัน เราเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติและเข้าใจว่าธรรมชาติเกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องรู้จักคนด้วย เนื่องจากคนเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ป่ายหายไปหรือเกิดขึ้น การปลุกฝังเรื่องการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่วนศาสตร์มอบแก่นิสิต ซึ่งแทบจะเรียกว่าเป็นการสอนวิชาการในเรื่อง ‘Sustainable Management’ หรือศาสตร์แห่งความยั่งยืน มาตั้งแต่เริ่มศาสตร์การป่าไม้ จากเดิมที่เราพูดถึงเรื่องความยั่งยืนทางผลผลิต ก็มาสู่การพูดถึงเรื่องความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นคนที่เรียนด้านนี้จึงคิดเชิงระบบได้ดี แม้จะลงในรายละเอียดไม่เก่ง แต่มองภาพกว้างได้ชัดเจน

เนื่องจากผมเองก็เป็นนิสิตของสถาบันแห่งนี้ และได้มาสอนนิสิตจนกระทั่งตัวเองเกิดความคิดเชิงบูรณาการและเข้าใจถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ความรู้แบบนักนิเวศวิทยาจึงซึมซับอยู่ในตัวผมตลอดเวลาและพยายามต่อยอดองค์ความรู้ให้เข้าไปอยู่ในตัวนิสิตคณะวนศาสตร์ และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในวันที่ผมบริหารคน ผมก็นำแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการนิเวศแบบยั่งยืนเข้าไปใช้ด้วย เนื่องจากหากว่ากันตามความจริงแล้ว นิเวศนั้นสอนเรื่องความสัมพันธ์ อาทิ ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อมคนกับสัตว์ สัตว์กับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมกับสิ่งแวดล้อมด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมองถึงคน เราก็จะเห็นรูปแบบความสัมพันธ์ของคนเช่นเดียวกัน ธรรมชาติสอนเรื่องการอยู่แบบเกื้อกูลกัน อิงอาศัยกันหรือได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ด้วยและเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน

ส่วนตัวผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ ผมเป็นเพื่อนกับคนได้ทุกระดับ ตั้งแต่นิสิตจนถึงเจ้าหน้าที่ อาจารย์ด้วยกัน หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเราจะสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ในหลายส่วน จนถึงแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเป็นคือการชอบเป็นผู้ให้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้เราจะพบความสุข ซึ่งการให้ไม่ได้หมายความถึงแค่การให้ด้วยเงิน ให้ด้วยแรงกายเราก็เรียกว่าให้ ช่วยเหลือหรือให้กำลังใจก็เรียกว่าให้ จริง ๆ ผมไม่ค่อยชอบเป็นผู้รับ เพราะเมื่อเป็นผู้รับแล้วจะรู้สึกเขิน ๆ ดังนั้นถ้าเรารู้จักเป็นผู้ให้แล้วเราก็จะสามารถทำงานและบริหารองค์กรได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้บริหารควรจะต้องเป็นผู้ที่เสียสละมากที่สุด เมื่อเราปรารถนาอยากให้ทุกคนมาช่วยกันทำงานเพื่อองค์กร

เราเองก็ต้องทำให้ทุกคนได้เห็นว่าเราทำเพื่อส่วนรวมจริง ๆ หลักการส่วนตัวของผมจึงได้แก่การเริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้ อีกทั้งผมเป็นคนที่เข้าถึงง่ายตามสไตล์ของนักนิเวศวิทยาตามสไตล์ของนักนิเวศวิทยา นั่นคือเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงนิสิต”

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับนิสิตนักศึกษามาหลากหลายยุค ดร.จงรัก ได้พบเห็นความแตกต่างของคนวัยหนุ่มสาวในหลายช่วง จนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปัจจุบัน และฝากไว้ให้สังคมได้ร่วมกันขบคิดถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผมมองว่านิสิตทุกวันนี้ต่างจากสมัยก่อนค่อนข้างมาก สมัยก่อนนิสิตนักศึกษาจะมีความอดทนกว่า อีกอย่างสมัยก่อนนิสิตค่อนข้างดื้อ แต่ก็แสดงออกในความดื้ออย่างชัดเจน เช่น ถ้าเกเรก็เกเรกันแบบชัดเจนไปเลยแต่ก็มีความรับผิดชอบในส่วนหนึ่ง เช่นว่าสั่งงานอะไรไปก็จะมีความรับผิดชอบในสิ่งนั้นมากกว่า ส่วนเด็กสมัยนี้มีสมาธิสั้นและขาดการจดจ่อกับงานที่ทำ อาจจะเนื่องจากปัจจุบันสามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่ายกว่า เมื่อเริ่มต้นง่าย ๆ จึงทำอะไรง่าย ๆ ไปหมด และผิดพลาดได้ง่าย แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการเขียนหรือพูดผิด ๆ ถ้าเราจะสอนเด็กสมัยนี้จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ต้องเป็นคนกระฉับกระเฉงว่องไว และสามารถทำให้เขาตื่นเต้นตลอดเวลากับสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากเด็กทุกวันนี้ไม่ค่อยใส่ใจและไม่อดทนที่จะเรียนจนจบคอร์สเสียด้วยซ้ำ ครูผู้สอนจึงต้องปรับตัวเองด้วยเช่นกัน

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าความล้มเหลวของการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากระบบการศึกษาของคนไทย เพียงเมื่อพูดถึงระบบการศึกษาก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ระดับชั้นการศึกษาที่มองเห็น คำว่า ‘ระบบ’ คือสิ่งที่ฝังแน่นมาจากการศึกษาตั้งแต่อยู่ในบ้าน เนื่องจากพ่อแม่เองก็ไม่ได้สอนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างถูกวิธี ส่วนใหญ่มักจะป้อนหาให้เด็กทุกอย่างมาพร้อมให้หมด ซึ่งต่างจากเด็กตะวันตกที่ได้เรียนรู้การขวนขวายด้วยตัวเองตั้งแต่อยู่ในบ้าน สำหรับเด็กไทยเราแล้วเมื่อมาเรียนหนังสือก็ไม่รู้จักการขวนขวาย ครูอาจารย์ก็จะถูกสอนมาเรื่องการป้อนสุดท้ายก็กลายเป็นระบบของทั้งประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่ค่อนข้างจะพบในประเทศที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม และประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงระบบการศึกษาแล้วจึงเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนได้ยากและอาจต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายจัดการศึกษา”

มหาวิทยาลัยแห่งความสุข
แม้เมื่อเอ่ยถึงมหาวิทยาลัย คนภายนอกจะมองเห็นภาพของสถาบันการศึกษา แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสรายละเอียดที่แท้จริงแล้วจะพบว่าเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลากหลายกลุ่มและระดับสัมพันธ์กันอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งใช้ประโยชน์ของสถานที่แห่งนั้นร่วมกันเพื่อผลที่แตกต่างกันออกไปตามเป้าหมาย ดังนั้นการจะทำให้บ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งเป็นสถานที่ที่พร้อมจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง แต่ผมอยากทำให้บ้านหลังใหญ่หลังนี้มีความสุข เราถึงได้มีนโยบายเรื่อง Happiness University ทำอย่างไรให้บ้านหลังนี้มีความสุข เมื่อมีความสุขทุกคนก็อยากทำงาน ทำอย่างไรความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานถึงจะดี ทำอย่างไรจะสร้างความอบอุ่นได้ ทำอย่างไรจะทำให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ ความต้องการคือการทำมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นบ้านที่มีความสุข เป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ หรือ ECO University หรือ Green University อย่างที่เรียนแต่แรกว่านิเวศนั้น หมายถึงความสัมพันธ์ของคนด้วย ผมเชื่อว่าเมื่อเราทำอย่างนี้ได้บุคลากรและนิสิตก็จะรักมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสามารถก้าวไปในระดับโลกได้ และสร้างผลงานผ่านองค์ความรู้ที่เรามี และนั่นคือปรัชญาในการทำงาน

แรกเริ่มคงต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจให้คนทุกคนรู้สึกว่าเราได้ดูแลเขา แต่เหนือกว่าแรงจูงใจคือการสร้างแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผลักดันออกมาจากข้างใน เราต้องสามารถทำให้ทุกคนรู้สึกให้ได้ว่าการมาอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือการเข้ามาอยู่ในบ้านของเขา เมื่อบ้านของคุณแข็งแรง คุณเองก็จะแข็งแรงตามไปด้วย จุดเด่นของเกษตรศาสตร์อยู่ตรงไหนและเราต้องทำให้เขาเห็นสิ่งนั้นเพื่อทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ เมื่อมีความภาคภูมิใจก็จะมีใจที่อยากจะสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับที่นี่ ในมุมมองของผมนั้นสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะสามารถสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจร่วมกันได้ ก็อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือมหาวิทยาลัยที่เป็นศาสตร์แห่งแผ่นดิน เป็นศาสตร์แห่งพระราชา เรากำลังทำงานสนองพระบรมราชโองการในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ รวมถึงเป็นศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทย เนื่องจากเกี่ยวกับวิถีที่ฝังรากอยู่กับคนไทย และเมื่อเทียบกับระดับโลกแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่มีความโดดเด่นด้านการเกษตรและการป่าไม้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เป็นต้น ถ้าสร้างความรู้สึกนี้ได้ทุกคนจะจะมีใจทำให้มหาวิทยาลัยเติบโตไปในทางเดียวกันได้อย่างแน่นอน

1112 โดยสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีนโยบายที่มอบให้ผู้บริหารนำมาปรับใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัย หนึ่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ ECO University โดยจะคงเอกลักษณ์ของเกษตรศาสตร์ที่ยังมีภาพการคงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวไปจนถึงระบบการจัดการของเสียที่ดี ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยแห่งความสุข หรือ Happiness University นั่นคือทำอย่างไรจะทำให้รู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน ทุกคนมาแล้วรู้สึกถึงพื้นที่แห่งความสุข ส่วนที่สามคือ มหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Engagement University เราปรารถนาจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ช่วยในการชี้นำสังคม โดยเฉพาะในสิ่งทีเป็นอัตลักษณ์ของเราอย่างการให้ความรู้ หรือเรื่องการเกษตร ป่าไม้ ทรัพยากร ทั้งในระดับชุมชนและรัฐบาล ต่อมาคือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นนานาชาติ แน่นอนว่าในยุคแห่งการเชื่อมโยงเข้าถึงแบบนี้เราก็จำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นนานาชาติให้เกิดขึ้นเพื่อความเป็นสากลเช่น เราให้ความสำคัญกับนักศึกษานานาชาติที่เข้ามาศึกษาอย่างไรบ้างรวมถึงคนไทยที่เรียนอยู่ที่นี่มีความเป็นนานาชาติพร้อมการก้าวไปสู่ระดับโลกแล้วหรือยัง เป็นต้น นอกจากนี้การจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย หรือ Research University เราต้องสร้างบรรยากาศสู่การเรียนรู้มากขึ้น รวมถึงนโยบายสุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี หรือ Digital University ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นในเรื่องสารสนเทศ หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรจะสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเรียนการสอนเองก็ต้องผ่านเทคโนโลยีและก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน”

ในโอกาสได้ก้าวเข้ามารับหน้าที่ดูแลบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะรักษาการแทนอธิการบดี ดร.จงรัก กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้ได้ร่วมกันคิดว่า อย่างไรเสียสิ่งที่จะทำให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนนั้น การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมย่อมเป็นเรื่องสำคัญ “นโยบายเป็นสิ่งที่มอบไว้ในภาพกว้างแต่ทั้งหมดทั้งมวลความสำเร็จของการดำเนินนโยบายที่วางไว้ก็ต้องผ่านการบริหารโดยหลักธรรมาภิบาล คือเห็นแกประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และนั่นจะทำให้ทุกคนอยากจะร่วมมือกันและจับมือกันเดินไปข้างหน้าตามนโยบาย ทั้งนี้สุดท้ายแล้วก็กลับไปที่จุดเริ่มต้นคือความปรารถนาที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแห่งความสุขร่วมกัน ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งนี้”

นิตยสาร Builder Vol.30

Previous articleมั่นคงฯ อวดโฉมบ้านสไตล์โมเดิร์น ทรอปิคอล “ชวนชื่น โมดัส วิภาวดี เฟส 2”
Next articleพื้นที่สื่อวัสดุ ดีไซน์เพื่อทุกคน
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ